มธบ.ติวเข้ม น.ศ.ปูทางแนวคิดอาชีพ ‘ผู้กำหนดนโยบายแห่งอนาคต’

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการ DPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวในการเปิดประสบการณ์ใหม่ให้นักศึกษากับคอนเซ็ป Playfessional ชอบทางไหนต้องไปให้สุด ตอน “ผู้กำหนดนโยบายแห่งอนาคต Future Policy Makers” จัดโดย DPU X ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ และคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ว่า ในอดีตการกำหนดนโยบายสาธารณะเป็นหน้าที่ของนักนโยบาย และนิติกร แต่การกำหนดนโยบายในอนาคตต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น นักกำหนดนโยบายต้องศึกษาบทบาทของเทคโนโลยีที่มีผลกับพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อออกแบบนโยบายที่เหมาะสม หากนักนโยบายไม่มีความรู้เรื่องดังกล่าว และออกแบบกฎหมายมาคุมทุกอย่าง จะส่งผลให้เทคโนโลยีที่อยู่ในมือมนุษย์ ไม่เหมาะกับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น และหากไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มประสิทธิภาพ จะกลายเป็นปัญหาของประเทศแทน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเทคโนโลยีจะชะลอตัว หรือเร็วขึ้น นโยบายที่ถูกต้องควรออกในระยะที่เหมาะสมกับสังคม หรือบริบทนั้นๆ นักนโยบายในอนาคตจึงต้องมีศาสตร์การเข้าถึงประชาชนร่วมด้วย นี่เป็นสิ่งที่ต้องการสื่อสารให้กับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์เข้าใจถึงทักษะดังกล่าว

“การศึกษาเทคโนโลยีที่มีบทบาทกับมนุษย์ จะทำให้เข้าใจการออกแบบ และกำหนดนโยบายในอนาคตได้ โดยต้องใช้วิสัยทัศน์ของความเป็นผู้ประกอบการในการตัดสินใจ และจัดการสิ่งนั้น ที่สำคัญยังก่อให้เกิดการออกแบบอย่างเหมาะสม ในยุคที่ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางหลัก และเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ การออกแบบอย่างลงตัว ช่วยสร้างสังคมให้อยู่อย่างมีความสุข ดังนั้น นักศึกษาควรนำหลักคิดนี้สร้างความเข้าใจ เป็นสิ่งสำคัญฝึกฝน เพื่อเป็นผู้กำหนดนโยบายในอนาคต” ดร.พณชิต กล่าว

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้กำหนดนโยบายในอนาคตจะต้องคำนึงถึง 2 เรื่องหลัก คือ 1.ต้องใช้ข้อมูลจากพฤติกรรมของคนมาใช้ประโยชน์ แทนที่การคิดตามคำสั่ง หรือคิดตามกฎหมายที่ออกแบบจากบนลงล่าง และ 2.ต้องคำนึงถึงความรู้สึก และอารมณ์ร่วมกันในการดำเนินนโยบายร่วมกับประชาชน ดังนั้น การกำหนดนโยบายในอนาคต จะต้องสร้างมาจากความรู้สึก และความต้องการของประชาชนเป็นหลัก ส่วนความเสี่ยงของผู้กำหนดนโยบาย หากมองตามเทคโนโลยีจะมีความเสี่ยงสูง เมื่อดำเนินนโยบายจะรับความเสี่ยงเพียงผู้เดียว แต่ในอนาคตถ้าสังคมไว้ใจ และมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายมากขึ้น ความเสี่ยงจะลดลง ในอนาคตดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อการตัดสินใจของมนุษย์ ซึ่งเป็นโจทย์ที่นักกำหนดนโยบายต้องหาคำตอบ เมื่อมนุษย์เป็น Analog ส่วนโลกกลายเป็น Digital การเรียนตามทฤษฎี หรือแนวคิด อาจไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะช่วยกำหนดนโยบายในอนาคตได้ เพราะข้อมูลที่มากมายจะทำให้คนเข้าถึง และเข้าใจได้ง่ายกว่าการท่องจำ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image