ราชบัณฑิตเผยขุมทรัพย์ ปวศ. ผลงาน ‘ดร.ไซเลอร์’ ที่ถูกลืม สไลด์จิตรกรรมเฉียดหมื่นใบ อลังการสำเนา 400 พระพุทธบาททั่วเอเชีย

ศ.ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ราชบัณฑิต เปิดเผยสำเนาคัดลอกรอยพระพุทธบาททั่วเอเชียผลงาน ดร.ไซเลอร์ กว่า 400 ชิ้น

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวถึงข้อมูลเกี่ยวกับภาพถ่ายสไลด์จิตรกรรมฝาผนังวัดต่างๆ ในประเทศไทยเกือบ 10,000 ภาพซึ่ง ดร.วอร์เดมาร์ ซี ไซเลอร์ นักวิชาการชาวอเมริกันถ่ายไว้เมื่อกว่า 50 ปีก่อน โดยมอบให้เป็นสมบัติของนักวิชาการไทยรายหนึ่งอย่างถูกต้อง

ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง ศาสตราจารย์ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ราชบัณฑิต ตามที่แหล่งข่าวระบุว่าเป็นผู้ครอบครองสมบัติล้ำค่าชุดนี้ ศ.ดร.นิยะดากล่าวว่า ภาพสไลด์ดังกล่าวอยู่กับตนจริง โดยได้รับมอบจาก ดร.วอร์เดมาร์ ซี ไซเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะคนสำคัญของโลกซึ่งอุทิศแรงกาย แรงใจ และทุนทรัพย์ส่วนตัวในการบันทึกภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดทุกแห่งในประเทศไทยด้วยกล้องถ่ายภาพที่ดีที่สุดในยุคนั้น แล้วทำทะเบียน จัดเก็บอย่างมีระเบียบ คาดว่าเริ่มมีการจัดเก็บภาพเหล่านี้ย้อนหลังไปนานกว่า 50 ปีก่อน ปัจจุบันภาพสไลด์ชุดนี้ยังดูสดใส งดงาม ไม่มีตำหนิ ถูกเก็บไว้ในกล่องไม้สัก 8 ใบซึ่งแบ่งเป็นช่องๆ อย่างมีระเบียบ คุณค่าของสไลด์ชุดนี้ คือการเป็นภาพต้นฉบับที่บันทึกภาพดั้งเดิมของจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่ก่อนได้รับการบูรณะจนเปลี่ยนแปลงสภาพไป จึงนับเป็นหลักฐานสำคัญอย่างยิ่งในด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี

“แรงบันดาลใจของ ดร.วอร์เดมาร์ ซี ไซเลอร์ คือการได้ชมศิลปะเลอค่าตามผนังศาสนสถานในไทยที่ทำให้เขาถึงกับชะงักงันต่อภาพที่เห็น และถึงกับอุทานออกมาว่า ในประเทศนี้เป็นอย่างไร มีของดีๆ อยู่ทั่วทุกแห่ง แต่คนไทยไม่เคยเห็นหรือรู้คุณค่าเลย เมื่อเวลาผ่านไป กระบวนการรับรู้คุณค่าของศิลปะ วัฒนธรรม เกิดขึ้นและแพร่หลายไปในสังคมที่เริ่มให้ความสำคัญต่อรากเหง้าของไทย ซึ่งภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นต้นแบบได้ถูกบันทึกในสไลด์ ขณะที่ของจริงถูกเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติรวมถึงการบูรณะในภายหลัง” ศ.ดร.นิยะดากล่าว

ภาพถ่ายฝีมือ ดร.ไซเลอร์นับพันใบ แสดงภาพจิตรกรรมฝาผนัง, พระพุทธรูป และโบราณวัตถุจากวัดต่างๆ ในไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน

ศาสตราจารย์ ดร.นิยะดากล่าวด้วยว่า ตนได้รับการติดต่อจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่สนใจจะนำสไลด์ชุดนี้ไปเก็บรักษาไว้ แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยนอกจากภาพสไลด์แล้ว ยังมี ‘ภาพคัดลอกรอยพระพุทธบาท’ รวมกว่า 400 ภาพจากจำนวนรอยพระพุทธบาท 4,000 องค์ทั่วเอเชีย

Advertisement

“ดร.ไซเลอร์เป็นนักวิชาการคนเดียวในโลกที่ศึกษาเรื่องรอยพระพุทธบาทอย่างจริงจังทั้งในประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในเอเชีย เช่น เนปาล จีน เกาหลี ญี่ปุ่น พม่า อินเดีย ยูนนาน ทิเบตและศรีลังกา เป็นบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการ สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวง ท่านเดินทางไปยังหอสมุดแห่งชาติศรีลังกาบ่อยครั้ง และได้รับอนุญาตจากทางการศรีลังกาให้คัดลอกรอยพระพุทธบาทที่พระเจ้าบรมโกศถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการแด่พระเจ้ากิตติสีหะแห่งลังกาอีกด้วย วิธีการคัดลอกมีทั้งการใช้แผ่นพลาสติกใสลอกลายแล้วถ่ายเอกสารลงกระดาษ รวมถึงอีกวิธีหนึ่งคือใช้กระดาษสาชุบน้ำทาบลงไป ทุบด้วยมือ แล้วใช้สีกัด ทำให้เกิดเป็นลวดลายเหมือนของจริงโดยมีอดีตนักศึกษาจากวิทยาลัยเพาะช่าง ชื่อเมืองสิงห์ จันทร์ฉายเป็นผู้ช่วย เรื่องของ ดร.ไซเลอร์ เป็นตำนานที่เล่าขานอย่างไม่รู้จบ คุณถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ ยังเคยกล่าวไว้ว่า ในบรรดาชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยในด้านศิลปะนอกเหนือจากศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีแล้ว คนที่รองลงมาก็คือ ดร.ไซเลอร์” ศาสตราจารย์ ดร.นิยะดากล่าว

ศ.ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ถ่ายภาพร่วมกับ ดร.ไซเลอร์หลังการบรรยายที่สยามสมาคม

จากนั้น ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังบ้านพักของ ศ.ดร.นิยะดา พบว่ามีการเก็บรักษาสำเนาคัดลอกรอยพระพุทธบาทในประเทศต่างๆ จำนวนมากทั้งสำเนากระดาษสา และสำเนาที่ทำขึ้นจากการใช้แผ่นพลาสติกใสลอกลายแล้วถ่ายเอกสารลงกระดาษ โดยถูกม้วนแล้วคลุมด้วยพลาสติกอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันฝุ่นละอองและสิ่งสกปรก ในแต่ละแผ่นมีความยาวเฉลี่ยมากกว่า 2 เมตร ปรากฏข้อความเขียนด้วยลายมือบันทึกชื่อสถานที่และรายละเอียดอื่นๆ เมื่อเปิดห่อพลาสติกพบว่าเริ่มมีกลิ่นอับชื้น แต่สภาพโดยรวมยังสมบูรณ์อย่างมาก ไม่มีรอยฉีกขาด หรือเชื้อราแต่อย่างใด สามารถเห็นลวดลายที่ชัดเจน อาทิ ปลา ดอกไม้ ช้าง ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์มงคล นอกจากนี้ ยังมีภาพถ่ายขาวดำขนาดราว 8 คูณ 10 นิ้วอีกนับพันภาพที่ถูกรวบรวมไว้โดยผูกเชือกรวมกันเป็นมัดๆ ประกอบด้วย ภาพจิตรกรรมฝาผนัง, พระพุทธรูป, ไม้แกะสลัก, ประติมากรรม และโบราณวัตถุภายในวัดต่างๆ ซึ่งมีการบันทึกชื่อสถานที่ไว้ด้านหลังของภาพด้วยปากกาลูกลื่นโดยใช้ภาษาอังกฤษ สำหรับภาพสไลด์ เก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย ไม่ได้อยู่ที่บ้านพักแต่อย่างใด

Advertisement

ศาสตราจารย์ ดร.นิยะดากล่าวว่า การที่ตนตัดสินใจเปิดเผยเรื่องราวต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้คือสมบัติของชาติ แม้ยังอยู่ในสภาพดี แต่เกรงว่าเมื่อเวลาผ่านไปอาจค่อยๆ เปลี่ยนสภาพ โดยเฉพาะสำเนาคัดลอกรอบพระพุทธบาทซึ่งเริ่มมีกลิ่นอับ ส่วนตัวแม้มีความรู้เรื่องรอยพระพุทธบาทพอสมควร แต่ก็ไม่มากพอที่จะสร้างผลงานขึ้นมา ไม่มีทางทำงานชิ้นนี้ได้ดีเทียบเท่า 1 ใน 100 ของ ดร.ไซเลอร์ ส่วนประเด็นที่มหาวิทยาลัยชื่อดังในต่างประเทศติดต่อมานั้น ตนยังไม่ได้ตัดสินใจ แต่อาจมีความำจเป็นต้องให้คำตอบภายในช่วงก่อนสิ้นปีนี้ ซึ่งจะเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก หากสิ่งเหล่านี้ต้องไปอยู่ในต่างประเทศแทนที่จะอยู่ในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีต้นฉบับของ ดร.ไซเลอร์ที่ยังไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน เรื่อง ‘A Buddha Tradition-Buddha Pada-Lanchana and Pada : Buddha Footprtint and Feet เขียนภาพลายเส้นโดยนายเมืองสิงห์ จันทร์ฉาย ระบุปี ค.ศ.1990 เมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา มีเนื้อหาเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทในลังกา

“ต้นฉบับนี้ ดร.ไซเลอร์มอบให้ดิฉัน เป็นผลงานที่ทำอย่างประณีต แต่ยังไม่มีการพิมพ์เผยแพร่ ในการค้นคว้าเรื่องต่างๆ ท่านต้องเข้าถึงหลักฐานชั้นต้นที่สุด ตอนนี้ดิฉันกำลังรวบรวมบทความประมาณ 30 ชิ้นของ ดร.ไซเลอร์ที่ตีพิมพ์ในวารสารคิวเซประทีปเป็นรายเดือน เช่น พุทธศิลป์ล้านนา, พระแผง และอื่นๆ ซึ่งน่าจะมีการนำมารวมเล่ม โดยได้ปรับแก้ต้นฉบับและลิสต์รายการไว้แล้ว นอกจากนี้ควรจะมีการจัดบรรยายด้วย สำหรับภาพสไลด์จิตรกรรมฝาผนัง และสำเนาคัดลอกรอยพระพุทธบาทที่เก็บไว้ ถ้าดิฉันไม่อยู่แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่อาจทราบได้ ลูกทำงานเป็นวิศวกร คงไม่สามารถสืบต่อประเด็นนี้ หากใครอยากต่อยอดสามารถมาพูดคุยกันได้ เพื่อให้ก้าวต่อไปในจังหวะที่ 4 5 6 โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ นี่เป็นสมบัติของประเทศจึงคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง แต่อาจจำเป็นต้องให้คำตอบกับหน่วยงานอื่นในต่างประเทศก่อนสิ้นปีนี้” ศาสตราจารย์ ดร.นิยะดากล่าว

ต้นฉบับของ ดร.ไซเเลอร์ที่ไม่เคยตีพิมพ์มาก่อน รื่อง A Buddha Tradition-Buddha Pada-Lanchana and Pada Buddha Footprtint and Feet เขียนภาพลายเส้นโดยนายเมืองสิงห์ จันทร์ฉาย ระบุปี ค.ศ.1990 เมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาสตราจารย์ ดร.นิยะดา ยังเปิดเผยถึงหนังสือส่วนตัวของ ดร.ไซเลอร์ซึ่งใช้ในการค้นคว้า โดยปัจจุบันนับว่าเป็นคอลเล็กชั่นที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง อาทิ Paintings of Sri Lanka, Bejing-The Treasures of An Ancient Capital และประชุมจดหมายเหตุ สมัยอยุธยา ซึ่งมีลายเซ็นของ ดร.ไซเลอร์เขียนเป็นภาษาไทยด้วยปากกาลูกลื่น ระบุ พ.ศ.2519 พร้อมทั้งตราประจำตัวซึ่งมีลักษณะคล้ายอุณาโลม

ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง กล่าวว่า ผลงานของ ดร.ไซเลอร์เหล่านี้ สมควรที่จะได้รับการเก็บรักษาไว้ในประเทศไทย เพราะเป็นผลงานที่ละเอียดประณีต ทำด้วยความทุ่มเท หลายครั้งถูกนำไปใช้โดยไม่มีการให้เครดิตหรืออ้างอิง ทั้งยังมีช่วงชีวิตที่ค่อนข้างลำบาก ทั้งยังมีปัญหาสุขภาพโดยช่วงหนึ่งต้องไปอาศัยอยู่ที่วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ไม่แน่ใจว่าศักยภาพของหน่วยงานในไทยจะพร้อมในการดูแลหรือไม่

“งาน ดร.ไซเลอร์ละเอียดลออ เป็นนักวิชาการที่ดีคนหนึ่ง เขาทำงานตลอดชีวิต รู้สึกสงสารมากที่วงวิชาการไทยไม่ได้ให้ความสำคัญมากเท่าที่ควร เป็นผู้สนใจศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอย่างจริงจังโดยเฉพาะรอยพระพุทธบาทโดยค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง ผมเคยมีโอกาสได้คุยกับ ดร.ไซเลอร์แล้วเห็นใจมาก หลายครั้งงานของเขาถูกนำไปใช้โดยไม่มีการให้เครดิตหรืออ้างอิงเลย ในช่วงหลังทราบว่ามีอาการป่วย และมีชีวิตที่ค่อนข้างลำบาก ผลงานที่สำคัญที่สุดคือการพูดถึงเรื่อง ‘ตรีรัตนะ’ เป็นคนทำงานละเอียดมาก ผลงานของเขาควรควรเก็บไว้ในไทย อาจเป็นกรมศิลปากร หอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือสถาบันการศึกษา แต่ไม่แน่ใจว่ามีศักยภาพเพียงพอในการดูแลหรือไม่ อาจเป็นมหาวิทยาลัยไหนที่ต้องการศึกษา ซึ่งส่วนตัวยังนึกไม่ออกว่าที่ไหนมีศักยภาพเพียงพอ ดังนั้นถ้ารักษาไม่ได้ก็ให้ต่างประเทศไป” ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักรกล่าว

สำเนารอยพระพุทธบาท คัดลอกลงบนกระดาษสา

ดร.ตรงใจ หุตางกูร นักวิชาการกลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ผลงานของ ดร.ไซเลอร์ทั้งสไลด์ภาพจิตรกรรมและสำเนาคัดลอกรอยพระพุทธบาทในเอเชียล้วนมีคุณค่าทางวิชาการ ถ้าเป็นไปได้ หน่วยงานในประเทศไทยควรเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติชาติ แต่ไม่ใช่เก็บอย่างเดียว ต้องทำสำเนาดิจิทัลเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในการศึกษาเรียนรู้ทั้งต้นฉบับและสำเนา เช่น ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร หรือกรมศิลปากร หากมองเห็นประโยชน์ก็สามารถทำได้ หากไปอยู่ในต่างประเทศนับเป็นเรื่องน่าเสียดาย

“ถ้าไปอยู่ต่างประเทศทั้งหมดแล้วไม่ถูกเผยแพร่ในระบบออนไลน์ หากคนไทยอยากศึกษางาน ดร.ไซเลอร์ที่เคยทำไว้ อาจต้องบินไปที่นั่น ถ้าหน่วยงานใดในไทยมีศักยภาพ ควรเก็บรักษาไว้” ดร.ตรงใจกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image