ขุมทรัพย์ ‘ดร.ไซเลอร์’ สมบัติล้ำค่า รัฐจะเมินเฉยหรือ

กลายเป็นกระแสฮือฮาชั่วข้ามคืน เมื่อ ศาสตราจารย์ ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ราชบัณฑิต เปิดเผยถึงการมีอยู่ของภาพสไลด์จิตรกรรมฝาผนังทั่วประเทศไทยเกือบ 1 หมื่นภาพซึ่งบันทึกไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนโดยนักวิชาการชาวอเมริกัน นามว่า ดร.วอร์เดมาร์ ซี. ไซเลอร์

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีสำเนาภาพคัดลอกรอยพระพุทธบาททั่วเอเชีย ทั้งเนปาล จีน เกาหลี ญี่ปุ่น พม่า อินเดีย ยูนนาน ทิเบตและศรีลังกา รวมกว่า 400 แผ่น นับเป็นกรุสมบัติล้ำค่าในด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีที่มีมหาวิทยาลัยชื่อดังของโลกทาบทามขอนำไปเก็บรักษาไว้ในต่างประเทศ

ทว่า ศาสตราจารย์ ดร.นิยะดา ยังไม่ได้ “เซย์เยส” แต่อย่างใด ส่งผลให้เหล่านักวิชาการพากันออกมาหนุนให้ภาครัฐเร่ง “แอ๊กชั่น” โดยเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติชาติ ขณะที่โลกโซเชียลแห่แชร์ล้นหลามด้วยความตื่นตาตื่นใจ และห่วงใยว่าสุดท้ายอาจต้องถูกโยกย้ายไปอยู่เมืองนอกหากไม่มีใครเห็นค่า

ราชบัณฑิตท่านนี้ เปิดบ้านให้ “มติชน” ชมสมบัติชุดนี้โดยเฉพาะสำเนารอยพระพุทธบาททั้งที่ทำจากสำเนากระดาษสา และสำเนาที่ทำขึ้นจากการใช้แผ่นพลาสติกใสลอกลายแล้วถ่ายเอกสารลงกระดาษ โดยถูกม้วนแล้วคลุมด้วยพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง แต่ละแผ่นมีความยาวเฉลี่ยมากกว่า 2 เมตร ปรากฏข้อความเขียนด้วยลายมือบันทึกชื่อสถานที่และรายละเอียดอื่นๆ

Advertisement

เมื่อเปิดห่อพลาสติกพบว่าเริ่มมีกลิ่นอับชื้น แต่สภาพโดยรวมยังสมบูรณ์มาก ไม่มีรอยฉีกขาด หรือเชื้อรา ลวดลายงดงามของสัญลักษณ์มงคลยังคงแจ่มชัด แม้กาลเวลาผ่านไปเนิ่นนาน

ศ.ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร เปิดเผยสำเนารอยพระพุทธบาท

เช่นเดียวกับภาพถ่ายขาวดำที่ล้างอัดอย่างดีนับพันภาพซึ่งบันทึกห้วงเวลาประวัติศาสตร์ของจิตรกรรมฝาผนัง, พระพุทธรูป, ไม้แกะสลัก, ประติมากรรม และโบราณวัตถุในวัดวาอารามก่อนบูรณะ ระบุชื่อสถานที่ด้วยปากกาลูกลื่นเป็นภาษาอังกฤษ สำหรับภาพสไลด์ เก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย ไม่ได้อยู่ที่บ้านพัก

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีต้นฉบับของ “ดร.ไซเลอร์” ที่ยังไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน เรื่อง “A Buddha Tradition-Buddha Pada-Lanchana and Pada : Buddha Footprtint and Feet” เขียนภาพลายเส้นโดยนายเมืองสิงห์ จันทร์ฉาย ระบุปี ค.ศ.1990 เมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา มีเนื้อหาเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทในลังกา

Advertisement

“ต้นฉบับนี้ ดร.ไซเลอร์มอบให้ดิฉัน เป็นผลงานที่ทำอย่างประณีต แต่ยังไม่มีการพิมพ์เผยแพร่ ถ้าดิฉันไม่อยู่แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับผลงานต่างๆ ของดร.ไซเลอร์ก็ไม่อาจทราบได้ หากใครอยากต่อยอด สามารถมาพูดคุยกันได้ นี่เป็นสมบัติของประเทศจึงคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง แต่อาจจำเป็นต้องให้คำตอบกับหน่วยงานอื่นในต่างประเทศก่อนสิ้นปีนี้” ศาสตราจารย์ ดร.นิยะดาระบุ

แน่นอนว่า ไม่ต้องสงสัยถึงคุณค่าของผลงานทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เพียงเพราะความเก่าแก่หลายสิบปี หากแต่ยังเป็น “หลักฐาน” ชั้นดีที่สามารถนำมาอ้างอิงเชิงวิชาการ และใช้ในงานอนุรักษ์ บูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานของชาติ

ทว่า ประเด็นเรื่องการเก็บรักษานั้น ใครจะรับเป็น “เจ้าภาพ” เมื่อลิสต์ชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แน่นอนว่า “กรมศิลปากร” ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐย่อมผุดขึ้นเป็นอันดับต้นๆ โดยปัจจุบันมี “หอจดหมายเหตุแห่งชาติ” ที่ดูแลวัสดุ เอกสาร และภาพถ่ายในลักษณะเช่นนี้อยู่แล้ว

ภาพถ่ายนับพันใบในวัดวาอารามทั่วไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ

นอกจากนั้น ก็มี “ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)” เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ได้รับกล่าวถึง เพราะมากมายด้วยฐานข้อมูลดิจิทัลที่เกี่ยวเนื่องกับเอกสารโบราณ

หนึ่งในความเห็นน่ารับฟังจาก ดร.ตรงใจ หุตางกูร นักวิชาการกลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ มองว่า ทั้งสไลด์ภาพจิตรกรรมและสำเนาคัดลอกรอยพระพุทธบาทในเอเชียล้วนมีคุณค่าทางวิชาการ ถ้าเป็นไปได้ หน่วยงานในประเทศไทยควรเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติชาติ แต่ไม่ใช่เก็บอย่างเดียว ต้องทำสำเนา

ดิจิทัลเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในการศึกษาเรียนรู้ทั้งต้นฉบับและสำเนา

“ถ้าไปอยู่ต่างประเทศทั้งหมด แล้วไม่ถูกเผยแพร่ในระบบออนไลน์ หากคนไทยอยากศึกษางาน ดร.ไซเลอร์ที่เคยทำไว้ อาจต้องบินไปที่นั่น ถ้าหน่วยงานใดในไทยมีศักยภาพ ควรเก็บรักษาไว้” ดร.ตรงใจแนะนำ

ขณะที่ ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ชื่อดังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยในไทยก็น่าจะเก็บรักษาไว้ แต่ส่วนตัวยังนึกไม่ออกว่าที่ไหนมีศักยภาพเพียงพอ ถ้ารักษาไม่ได้ก็ให้ต่างประเทศไป แต่จะเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง

“ผลงานของเหล่านี้ สมควรที่จะได้รับการเก็บรักษาไว้ในประเทศไทย เพราะเป็นผลงานที่ละเอียดประณีต ดร.ไซเลอร์ ทำด้วยความทุ่มเทตลอดชีวิต หลายครั้งถูกนำไปใช้โดยไม่มีการให้เครดิตหรืออ้างอิง ทั้งยังมีช่วงชีวิตที่ค่อนข้างลำบาก ทั้งยังมีปัญหาสุขภาพโดยช่วงหนึ่งต้องไปอาศัยอยู่ที่วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ ผมเคยมีโอกาสได้คุยกับ ดร.ไซเลอร์แล้วสงสารมาก” ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักรเล่า

มาถึงตรงนี้ ต้องย้อนกลับไปถึงชีวิตของ ดร.ไซเลอร์ ซึ่งมีสีสันและน่าสนใจไม่แพ้ผลงาน จากนักวิชาการหนุ่มไฟแรงที่มีรายได้สูงจากการเป็นอาจารย์โรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่ง ในใจกลางกรุงเทพฯ มาทุ่มเททั้งเวลาและทุนทรัพย์ส่วนตัวในการบันทึกจิตรกรรมฝาผนังทั่วไทยด้วยแรงบันดาลใจจากการชมศิลปะเลอค่าในศาสนสถานต่างๆ กระทั่งขึ้นแท่นนักวิชาการคนเดียวในโลกที่ศึกษาเรื่องรอยพระพุทธบาทอย่างจริงจังทั้งในไทยและประเทศต่างๆ ในเอเชีย

ต้นฉบับที่ยังไม่ถูกตีพิมพ์

นอกจากนี้ ยังเคยเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และทำวิจัยร่วมกับนักวิชาการที่สถาบันวิจัยสังคม มช.

หลังข่าวขุมทรัพย์ทางประวัติศาสตร์นี้เผยแพร่ออกไป อดีตลูกศิษย์ “ดร.ไซเลอร์” ต่างร่วมกันบอกเล่าถึงประสบการณ์ครั้งนั้น ว่าท่านขับรถโฟล์กเต่ามาจากกรุงเทพฯ เพื่อสอนนักศึกษา และพาออกไป “ตั้งคำถาม” อันเป็นประโยชน์ตลอดเวลา

เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย คืออดีตนักศึกษา “เพาะช่าง” ผู้ติดตาม “ดร.ไซเลอร์” ไปทำสำเนารอยพระพุทธบาท วาดภาพลายเส้น และเป็นลูกมือใกล้ชิดนานถึง 13 ปี ปรากฏชื่อในต้นฉบับเรื่องพระพุทธบาทในศรีลังกาที่ยังไม่มีการตีพิมพ์ ในวันนี้กลายเป็นศิลปินคนดังแห่งเมืองสุพรรณบุรี บ้านเกิด

“เมืองสิงห์” เล่าให้ฟังว่า “ดร.ไซเลอร์” พูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว นอกจากให้ความรู้และเทคนิคต่างๆ แล้วยัง “สะกิด” ให้เด็กหนุ่มอย่างเขาได้หันกลับมาขบคิดและเห็นคุณค่าของศิลปะไทยมากยิ่งขึ้น

“ทำงานกับท่านตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ทุกเสาร์-อาทิตย์ต้องออกไปตระเวน ดร.ไซเลอร์ ค้นคว้าและเขียนผลงานลึกมาก ส่วนผมเป็นคนทำสำเนาและเขียนภาพลายเส้น ทั้งพระพุทธบาทและจิตรกรรมทางภาคเหนือเยอะมาก ท่านดูอนาคตผมไว้แล้ว สอนให้ผมสร้างตัวตนจากสิ่งที่มีคือความเป็นคนสุพรรณฯ” ศิลปินดังย้อนความทรงจำ ก่อนบอกว่าขาดการติดต่อกับ ดร.ไซเลอร์ตั้งแต่ราว พ.ศ.2540 แต่ยังรำลึกถึงท่านอยู่เสมอ

ชีวิตในช่วงบั้นปลายของนักวิชาการท่านนี้ คล้ายยังเป็นปริศนา เพราะหายไปจากแวดวงวิชาการ ทราบเพียงว่าช่วงหนึ่งเดินทางไปพำนักในประเทศศรีลังกา, สปป.ลาวและพม่า กระทั่งเสียชีวิตอย่างสงบที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงย่างกุ้งเมื่อเย็นวันที่ 22 สิงหาคม 2561 หลังเข้ารับการรักษานานกว่า 1 เดือนเต็ม มีการจัดพิธีศพตามแบบพุทธศาสนาอย่างเรียบง่าย รายล้อมด้วยลูกศิษย์ชาวพม่าและบุคคลที่นับถือในผลงานของท่าน

แม้ตำนานชีวิต “ดร.ไซเลอร์” จะปิดฉากลง แต่ผลงานที่ทุ่มเทตลอดชีวิตยังคงอยู่ ทว่า ต้นฉบับจะถูกเก็บรักษาเป็นสมบัติชาติไทย หรือสุดท้ายต้องระเห็จไปต่างแดน เป็นอีกหนึ่งประเด็นใหญ่ที่ภาครัฐต้องหันมาร่วมพิจารณาอย่างเร่งด่วน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image