ผอ.มัธยมฯชงฟื้น ‘กรม’ ชูปลัดศธ.ซี11 ตำแหน่งเดียว จี้โละ ‘องค์กรหลัก’

นายวิสิทธิ์ ใจเถิง ผู้อำนวยการโรงเรียนโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในฐานะผู้ประสานงาน สมาพันธ์ครูและผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางกลุ่มสมาพันธ์ครูและผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาฯ ได้ยื่นหนังสือถึง นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การศึกษา วุฒิสภาและนายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เพื่อสนับสนุนนโยบายลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการศธ. โดยที่ผ่านมาได้มีสอบถามความคิดเห็น กรณีการปรับโครงสร้างศธ. ซึ่งเห็นว่า ทั้งศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) มีการทำงานที่ซ้ำซ้อน หลายขั้นตอน ทำให้งานต่าง ๆ เกิดความล่าช้า ขณะที่ส่วนกลางอย่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ไม่มีสำนักที่เป็นหลักในเรื่องการจัดการศึกษา มีแต่สำนักที่คอยสนับสนุน

นายวิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นทางสมาพันธ์ครูและผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาฯ จึงเสนอให้มีการตั้งหน่วยงานระดับกรมขึ้นมารับผิดการจัดการศึกษาตามสมรรถนะของเด็กแต่ละช่วงวัย และบริบทของผู้เรียนอย่างชัดเจน เช่น กรมประถมศึกษา จัดการศึกษาตั้งแต่ ปฐมวัย อายุ 3-12 ปี กรมมัธยมศึกษา จัดการศึกษาตั้งแต่ 13-18 ปี กรมอาชีวศึกษา จัดการศึกษาด้านอาชีพ กรมการศึกษาพิเศษ จัดการศึกษาสำหรับนักเรียนพิเศษ กรมการศึกษาเอกชน จัดการศึกษาของเอกชน กรมการศึกษาตามอัธยาศัย จัดการศึกษาทางเลือกอื่น ๆ และกรมอื่น ๆ ที่สนับสนุนการจัดการศึกษา โดยให้มีปลัดศธ. เป็นผู้บริหารระดับ 11 เพียงตำแหน่งเดียว

นายวิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การจัดการศึกษาในส่วนภูมิภาค ต้องไม่มีหลายขั้นตอน ไม่มีการทับซ้อนการบังคับบัญชาและการปฏิบัติ สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว ไม่ล่าช้า ความมีหน่วยงานรับผิดชอบระดับจังหวัด สำนักประถมศึกษาจังหวัด สำนักมัธยมศึกษาจังหวัด สำนักอาชีวศึกษาจังหวัด สำนักการศึกษาพิเศษจังหวัด เป็นต้น โดยมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ระดับจังหวัดเป็นผู้ประสานงาน ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยจังหวัดขนาดใหญ่ ที่มีจำนวนนักเรียนมาก อาจให้มีสำนักประถมศึกษาจังหวัดได้มากกว่า 1 แห่ง

“ผมเข้าใจว่า ข้อเสนอนี้อาจทำให้ถูกมองว่า ย้อนกลับไปที่เดิมหรือไม่ ยอมรับว่าใช่ เพราะคิดว่าดีกว่า การมี 5 องค์กรหลัก ที่เห็นชัดเจนแล้วว่า 20 ปีที่ผ่านมาคุณภาพการศึกษาของเราต่ำลงมาก ขณะเดียวกันอยากให้กระจายอำนาจลงสถานศึกษา มีอำนาจบรรจุ แต่งตั้ง พัฒนาและลงโทษให้ออกครูและบุคลากรทางการศึกษาตามความจำเป็นของโรงเรียน เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพไม่ล่าช้า เพราะหัวใจสำคัญของการศึกษาอยู่ที่โรงเรียน กรณีโรงเรียนที่มีความพร้อม เช่นโรงเรียนขนาดใหญ่ ควรทยอยให้เป็นนิติบุคคล ตามความสมัครใจ ”นายวิสิทธิ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image