สสวท. ชี้สพฐ. ให้สิทธิจุฬาฯ พิมพ์ 60 วิชา เชิญ ‘ครูตั้น-คู่กรณี’ หย่าศึกโควต้าตำรา

สสวท. ชี้สพฐ. ให้สิทธิจุฬาฯ พิมพ์ 60 วิชา เชิญ ‘ครูตั้น-คู่กรณี’ หย่าศึกโควต้าตำรา

เมื่อวันที่ 8 มกราคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัด ศธ. ให้สัมภาษณ์ว่าสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คืนโควต้าการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ระดับชั้นมัธยมศึกษา ปีการศึกษา 2563 กว่า 16 ล้านเล่ม เป็นเงินกว่า 1 พันล้านบาท ให้องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) จัดพิมพ์เองทั้งหมด ขณะที่ทางสำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ ออกมาปฏิเสธว่ายังไม่ได้คืนโควต้าให้องค์การค้าฯ นั้น เรื่องนี้ยังต้องมีการหารือ ยอมรับว่าขณะนี้ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่ถ้าดูตามข้อกฎหมาย องค์การค้าฯ เคยมีมติไปแล้วว่าจะพิมพ์หนังสือเรียนของสสวท.เองทั้งหมด และในการบริหารศธ. ตนต้องปกป้องหน่วยงานที่อยู่ในกำกับศธ. เป็นหลักก่อน อยากให้เข้าใจในส่วนนี้ โดยผลประโยชน์ที่ตนคำนึงถึงมากที่สุดคือ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับศธ.

“การจัดพิมพ์หนังสือของสสวท.ครั้งนี้ ผมเน้นเรื่องการผลิตหนังสือเรียนให้ทันเปิดภาคเรียนที่ 1/2563 ในเดือนพฤษภาคม เดิมที่ผมเคยระบุว่า จะให้สำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ จัดพิมพ์ตามโควต้าเดิมนั้น เพราะยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งกระบวนการผลิต กระบวนการจัดส่ง เพื่อให้ตัดสินใจ ซึ่งเมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามา ก็ต้องพิจารณาใหม่ และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ ก็เคยมีมติไปแล้วให้ทางองค์การค้าฯ เป็นผู้จัดพิมพ์ ด้วยเหตุผลรายได้ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่อง เชื่อว่าคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ ได้พิจารณาเหตุผลทุกภาคส่วนแล้ว ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ต้องมาพูดคุยกัน ผมยังมั่นใจว่า วินวินกันทุกคน เราต้องเคารพในมติของบอร์ดองค์การค้าฯ มั่นใจว่าองค์การค้าฯ จะสามารถจัดส่งหนังสือเรียนได้ทันเปิดภาคเรียนในเดือนพฤษภาคมนี้แน่นอน” นายณัฏฐพล กล่าว

นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า ส่วนที่ สสวท. ระบุว่า การจัดพิมพ์หนังสือครั้งนี้ สำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ ได้ทำสัญญากับสสวท.ไปแล้ว จะเกิดการฟ้องร้องภายหลังหรือไม่นั้น เรื่องนี้ต้องไปดูรายละเอียด ดูความพร้อม ส่วนตัวมองว่า ขณะนี้ยังมีข้อขัดแย้งกันอยู่เล็กน้อย เชื่อว่าจะสามารถตกลงกันได้ภายในสัปดาห์นี้

นายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวว่า จะเชิญรัฐมนตรีว่าการศธ.มามอบนโยบายให้คณะกรรมการ สสวท.ในการประชุมวาระพิเศษ เรื่องการให้สิทธิในการพิมพ์หนังสือแบบเรียนสาระวิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษา ในวันที่ 9 มกราคม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ ศธ. พร้อมเชิญผู้แทนจากองค์การค้าฯ และสำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ มารายงานความก้าวหน้า เพื่อที่จะพิจารณาหาข้อสรุปเพื่อให้ทุกฝ่ายเดินหน้าต่อไป และให้นักเรียนได้รับหนังสือเรียนทันเวลาก่อนเปิดเทอม ตลอดจนเพื่อหาข้อสรุปตามที่ปลัดศธ.และเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) แจ้งความประสงค์ให้ สสวท. พิจารณาเรื่องการมอบภารกิจให้องค์การค้าฯ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายหนังสือแบบเรียน สสวท. ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ชั้นปี ตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6

Advertisement

ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สสวท. องค์การค้าฯ และสำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ ได้ดำเนินการตามแผนการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนสาระวิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับภาคการศึกษาที่ 1/2563 โดยองค์การค้าฯ ได้ขอรับสิทธิในส่วนของระดับชั้นประถมศึกษา และสำนักพิมพ์จุฬาฯ ได้ขอรับสิทธิในส่วนของระดับชั้นมัธยมศึกษา นอกจากนี้ สพฐ. ได้อนุญาตให้สำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ พิมพ์จำหน่ายไปแล้ว 42 รายวิชา จาก 60 รายวิชา ในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2562 ดังนั้นเมื่อมีการแจ้งความประสงค์และนโยบายจากผู้ใหญ่ในศธ.ให้เปลี่ยนแปลงการให้สิทธิการผลิตและจำหน่ายจากสำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ เป็นองค์การค้าฯ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องขอมติใหม่จากคณะกรรมการ สสวท.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image