สพฐ. ผุดมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือ น.ร. หลังเกิดเหตุรุนแรงใน ร.ร.เพิ่มมากขึ้น

สพฐ. ผุดมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือ น.ร. หลังเกิดเหตุรุนแรงใน ร.ร.เพิ่มมากขึ้น

เมื่อวันที่ 8 มกราคม นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนส่งหนังสือเรื่อง มาตรการการคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน ถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)และ ผู้อำนายการเขตพื้นที่การศึกษามัยมศึกษา (สพม.) ทุกเขต และผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) เพราะตามที่มีสถานการณ์ความรุนแรงทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เด็กนักเรียนได้รับผลกระทบทั้งด้านร่างกายและจิตใจ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีความห่วงใยได้ให้แนวทางการให้คำปรึกษา การป้องกันและแก้ไขปัญหา การป้องปราม และการเยียวยาเด็กนักเรียนผู้ได้รับผลกระทบ โดยศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน (ฉก.ชน.) กำหนดมาตรการคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน ประกอบด้วย มาตรการเร่งรัด กรณีมีสถานการณ์รุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อเด็กนักเรียนโดยตรง 5 เรื่อง ได้แก่ 1.อาหารกลางวัน เด็กนักเรียนได้รับผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย และมีข้อร้องเรียนและมีการเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะอย่างกว้างขวาง 2. เด็กนักเรียนถูกกระทำด้วยอาวุธปืน มีด ของมีคมอื่นใด ถูกแขวนคอ ถูกกรอกยาพิษ ถูกกักขังบริเวณ จากเด็กนักเรียนด้วยกันเอง จากตัวเด็กนักเรียนเอง หรือจากบุคคลหนึ่งบุคคลใด ที่ส่งผลให้เด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือสูญเสียชีวิตในสถานศึกษา อันเนื่องจากผู้อำนวยการสถานศึกษาปล่อยปละละเลยในการกำกับ ดูแล ตรวจตรา 3.การปกปิดข้อมูล รายงานสถานการณ์ ข้อเท็จจริง ต่อผู้บังคับบัญชา ล่าช้า สถานการณ์นั้นมีการเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะอย่างกว้างขวาง และรวดเร็ว ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบต่อการให้ข่าวของผู้บริหารระดับสูงทุกระดับ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้อำนวยการสศศ. หรือผู้มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 สั่งให้ผู้อำนวยการสถานศึกษา มาปฏิบัติงานที่สพท. หรือ สศศ.โดยไม่ชักช้า และเร่งดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการให้ได้ข้อเท็จจริงโดยเร็ว

นายอำนาจ กล่าวต่อว่า 4.ครูลงโทษเด็กนักเรียนเกินกว่าเหตุ เด็กนักเรียนได้รับผลกระทบต่อร่างกาย และจิตใจอย่างรุนแรง 3.ครูล่วงละเมิดทางเพศเด็กนักเรียน เด็กนักเรียนได้รับผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส ให้ผู้อำนวยการสพท. และผู้อำนวยการ สศศ. หรือผู้มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 สั่งให้ครูมาปฏิบัติงานที่ สพท.และ สศศ. โดยไม่ชักช้า และเร่งดำเนินการตั้งคณะกรรมการดำเนินให้ได้ข้อเท็จจริงโดยเร็ว

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการภารกิจ เพื่อให้เด็กนักเรียนได้รับสวัสดิภาพที่ดี ให้ผู้อำนวยการ สพท.และผู้อำนวยการ สศศ. กำชับ ดูแล ติดตามผู้อำนวยการสถานศึกษาในสังกัด ให้ปฏิบัติหน้ำที่อย่างเคร่งครัด ดังนี้ ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ปฏิบัติตามคู่มือการคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ. สถานศึกษาจัดให้มีครูเวรประจำวัน คณะกรรมการนักเรียน สารวัตรนักเรียน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่นักเรียน โดยกำหนดหน้าที่ซักซ้อมการปฏิบัติในการควบคุมจุดอับและจุดเสี่ยง การตรวจกระเป้าหนังสือเรียน การปฏิบัติและรายงานเมื่อเกิดเหตุโดยเฉพาะในช่วงเช้า พักกลางวัน และเย็น เป็นกรณีพิเศษ ให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มขึ้นทั่วบริเวณสถานศึกษา หรือให้นักเรียนมีนกหวีดเพื่อใช้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และขอความร่วมมือจากเครือข่ายผู้ปกครองและชุมชนร่วมเป็นเครือข่ายฝ้าระวังในการดูแลบุตรหลานเพิ่มขึ้น

“สถานศึกษาต้องสร้างภาคีเครือข่าย ในรูปแบบสหวิชาชีพ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีตำรวจ สถานพยาบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ในการดูแลป้องกันและให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที มีการสุ่มตรวจนักเรียนตามห้องเรียนเป็นระยะ สถานศึกษากำหนดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์และสังคม ความภาคภูมิใจหรือความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง เช่น เปิดโอกาสให้ค้นหาและแสดงศักยภาพเชิงบวก จัดกิจกรรมจิตอาสา ให้นักเรียนรู้จักการให้ การทำความดี การเป็นเพื่อนรักกัน ไม่แกล้ง รังแก ล้อเลียนกัน และช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน” นายอำนาจกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image