ผลวิจัย ‘มศว’ ชี้ปี’62 น.ร.ประถม 5 แสนคนไร้ตำราก่อนเปิดเรียน-มัธยมส่งทันปีแรก

เมื่อวันที่ 12 มกราคม นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้า (อค.) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ จากการหารือร่วมกับนายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และผู้แทนจากสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับปัญหาโควต้าการจัดพิมพ์หนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมในส่วนของสำนักพิมพ์จุฬาฯ ที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะดึงไปให้ อค.เป็นผู้จัดพิมพ์นั้น ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า อค.จะได้โควต้าจัดพิมพ์หนังสือเรียนในส่วนนี้หรือไม่ โดยที่ประชุมมีข้อเสนอคือยกโควต้าการจัดพิมพ์ในส่วนของชั้น ม.3 และ ม.6 ให้ อค.ส่วนชั้น ม.1-ม.4 ที่ได้ตกลงข้อกฎหมายไปแล้ว ให้สำนักพิมพ์จุฬาฯ พิมพ์ตามเดิม

นายดิศกุลกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน สสวท.เสนออีกแนวทางหนึ่ง คือเปิดให้ทั้ง อค.และสำนักพิมพ์จุฬาฯ สามารถพิมพ์ทุกปก ทั้งระดับประถม และมัธยม ข้อเสนอที่สองนี้จะเป็นประโยชน์กับเด็ก แต่ต้องคำนึงถึงการจัดส่ง กรอบเวลา จำนวนการผลิต และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งแนวทางนี้ อค.พร้อมสู้ และพร้อมดำเนินการทันที แต่สำนักพิมพ์จุฬาฯ ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าเสี่ยงต่อการไม่ได้กำไร อย่างไรก็ตาม วันที่ 13 มกราคมนี้ จะประชุมหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปอีกครั้ง หากเจรจาครั้งนี้ไม่สำเร็จ เชื่อว่านายณัฏฐพลจะดูแล และหาทางออกเรื่องนี้ เพราะถ้าได้ข้อสรุปช้ากว่านี้ จะส่งผลต่อการพิมพ์ที่จะทำให้ล่าช้าแน่นอน

“ในการประชุมครั้งหน้า อค.จะมีข้อเสนออะไรหรือไม่ ผมมองว่าข้อเสนอเปิดการค้าเสรี โดยให้ อค.และสำนักพิมพ์จุฬาฯ แข่งขันกัน เป็นข้อเสนอที่ดี เพราะผู้ที่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงคือผู้ใช้บริการ ที่สามารถเลือกสินค้าที่ต้องการได้ และ อค.มั่นใจว่าการส่งหนังสือครั้งนี้ จะส่งได้ทันเวลาแน่นอน เพราะมีโครงข่ายที่แน่น ได้มืออาชีพเข้ามาช่วยวางระบบในการขนส่ง พร้อมกับกำกับดูแลติดตามการขนส่งอย่างดี เพราะถ้า อค.ไม่ต่อสู้ดิ้นรนขอสัดส่วนในการพิมพ์มาเพิ่ม จะมีผลต่อรายได้ขององค์กรแน่นอน เพราะ อค.อยู่รอดด้วยการพิมพ์” นายดิศกุล กล่าว

ด้านนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ที่นายดิศกุลระบุว่า ขณะนี้สำนักพิมพ์จุฬาฯ ไม่สามารถจัดพิมพ์หนังสือต่อไปได้ เนื่องจากเลขาธิการ กพฐ.ไม่ส่งคำนิยมไปให้สำนักพิมพ์จุฬาฯ เพราะหากพิมพ์ออกมา แต่ไม่มีคำนิยมจากเลขาธิการ กพฐ.ก็ไม่สามารถวางขายได้นั้น เดิม สพฐ.ส่งคำนิยมให้ สสวท.แล้ว แต่ขอยกเลิก โดยมองเรื่องความอิสระทางวิชาการ ทั้งนี้ การเขียนคำนำ หรือคำนิยม เป็นเรื่องของผู้แต่ง หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ดังนั้น จึงได้ให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบรายละเอียดว่าเหตุใด สพฐ.ต้องเขียนคำนิยมให้ สสวท.ซึ่งฝ่ายกฎหมายชี้แจงว่าเดิม สสวท.เคยอยู่ในกำกับของ ศธ.ทางสำนักงานปลัด ศธ.จึงเขียนคำนิยมหนังสือแบบเรียนให้ แต่เมื่อ สสวท.เป็นองค์กรมหาชนแล้ว จึงถือเป็นหน่วยงานอื่น ซึ่ง สพฐ.ไม่จำเป็นต้องเขียนคำนิยมให้

Advertisement

“กรณีนี้ สพฐ.ไม่ได้เล่นแง่ หรือจะให้ สสวท.ยกโควต้าการพิมพ์หนังสือเรียนให้ อค.เพราะเรื่องนี้พิจารณาก่อนที่ปัญหาเรื่องโควต้าการจัดพิมพ์หนังสือเรียนจะเกิดขึ้น ยืนยันว่าการตัดสินใจครั้งนี้ มองเรื่องอิสระทางวิชาการ และบทบาทของ สพฐ.ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบทางวิชาการ เพื่อการันตีว่าหนังสือดังกล่าวสามารถใช้ในการเรียนการสอนได้ ส่วนคำนิยมเป็นหน้าที่ของผู้แต่ง ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริง” นายอำนาจ กล่าว

นายอรัญ หาญสืบสาย ที่ปรึกษาสำนักพิมพ์จุฬาฯ กล่าวว่า ปีที่แล้วเป็นครั้งแรกที่นักเรียนมัธยมได้รับหนังสือเรียนทันก่อนเปิดเรียน จุฬาฯ ภูมิใจที่ได้ช่วย สสวท.แก้ปัญหา ซึ่งนายณัฏฐพลได้ยืนยันมติการประชุม และให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ว่าเพื่อให้หนังสือถึงมือนักเรียนก่อนเปิดเรียน จะให้จุฬาฯ พิมพ์หนังสือระดับมัธยมต่อ ประกอบกับมีรายงานการวิจัยที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร สำรวจ 6,844 โรงเรียน พบว่า แบบเรียนของ สสวท.มีมาตรฐานสูง คุณภาพดี เป็นที่ยอมรับ แต่โรงเรียนประถม 73% ได้รับหนังสือไม่ทันเปิดเรียน ส่งผลให้นักเรียนประถมอย่างน้อย 500,000 คน ไม่มีหนังสือเรียน สำหรับโรงเรียนมัธยมที่ สสวท.ให้จุฬาฯ ดำเนินการ 96% ได้รับหนังสือก่อนเปิดเรียน ซึ่งอาจเป็นเพราะโรงเรียนมัธยมมีน้อยกว่า เชื่อว่าถ้าทุกฝ่ายตั้งเป้าหมายให้นักเรียนทั้งประเทศได้หนังสือเรียนทันเปิดเทอม ลดเป้าหมายเพื่อองค์กร โดยทำตามแผนที่กำหนดไว้ น่าจะมีทางออกที่เหมาะสมที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image