สกู๊ป น.1 : ข้อมูลใหม่ “สุนทรภู่” ไม่ใช่กวีขี้เมา

ล่วงผ่าน “วันสุนทรภู่” 26 มิถุนายน ไปหมาดๆ ทว่าหมอกควันจากการถกเถียงเรื่องข้อเท็จจริงในชีวประวัติของ “พระสุนทรโวหาร” หรอื “สุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ผู้นี้ยังคงไม่จาง

ไม่ว่าจะเป็นประเด็นบ้านเกิด ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในแวดวงวิชาการแล้วว่าไม่ใช่บ้านกร่ำ เมืองแกลง จังหวัดระยอง หากแต่เป็นย่านวังหลัง ฝั่งธนบุรี กรุงเทพฯ ดังที่ปรากฏข้อความใน “โคลงนิราศสุพรรณ” อย่างชัดแจ้ง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องอุปนิสัยที่มักพูดกันว่า “สุนทรภู่” เป็น “กวีขี้เมา” ซึ่งมีนักวิชาการออกมาค้านหลายราย โดยตั้งข้อสงสัยว่า หากมัวแต่เมามาย คงเป็นไปไม่ได้ที่จะผลิตผลงานจำนวนมหาศาล

ไหนจะภาพลักษณ์คนตกยาก ชีวิตลำบากแสนเข็ญ ที่นักค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ก็ส่ายหน้าว่าไม่จริงอีกเช่นกัน เพราะตลอดชีวิตของท่านได้รับการอุปการะโดยเจ้านายหลายพระองค์

Advertisement

จึงเริ่มมีการตั้งคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะ “สังคายนา” ประวัติชีวิต “สุนทรภู่” ขึ้นใหม่ โดยเฉพาะเพื่อใช้ในแบบเรียน และคู่มือครู ที่ควรมีข้อมูลความรู้ที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

ดร.สมยศ แสงสุวรรณ นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันมีหลักฐานที่วิเคราะห์กันใหม่หลายอย่างซึ่งล้มล้างความเข้าใจเดิม เช่น เรื่องบ้านเกิด ชัดเจนว่าท่านเป็นชาวบางกอกน้อย เกิดแถบวังหลัง ปัจจุบันคือย่านโรงพยาบาลศิริราช ไม่ใช่เมืองแกลง ดังที่โคลงนิราศสุพรรณระบุว่า

“วังหลัง ครั้งหนุ่มเหน้า เจ้าเอย

Advertisement

เคยอยู่ชูชื่นเชย ค่ำเช้า

ยามนี้ที่เคยเลย ลืมพักตร์ พี่แฮ

ต่างชื่นอื่นแอบเคล้า คลาดแคล้วแล้วหนอ”

“ข้อมูลชุดนี้ ทางสมาคมให้วิทยากรไปบรรยายตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งแจกเอกสารด้วย ต่อไปสมาคมอาจเข้าไปมีส่วนร่วมในการเน้นย้ำให้ครูภาษาไทยได้รับทราบข้อมูลให้มากขึ้นอีก และเห็นด้วยว่าควรสังคายนาชีวประวัติสุนทรภู่ใหม่ เพราะปัจจุบันมีข้อมูลเชิงลึกจากการศึกษาวิจัยมากขึ้นเรื่อยๆ” นายกสมาคมสรุป

ด้าน ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาสนั่นโลกออนไลน์ใน “วันสุนทรภู่” ปีนี้ ด้วยการออกมาฟันธงว่า วาทกรรม “สุนทรภู่ กวีขี้เมา” เป็นเพียง “เรื่องเมาธ์” ที่ไร้หลักฐานยืนยัน เป็นข้อมูลที่ “มโน” กันในอดีต

“ถ้าถามว่า ท่านดื่มเหล้าหรือไม่ เป็นไปได้ว่าดื่ม แต่ไม่เชื่อว่าถึงขนาดเป็นพวกขี้เมา เพราะผลงานของสุนทรภู่มีมหาศาล ถ้ามัวแต่กินเหล้าจะเอาเวลาที่ไหนมาเขียนกลอนที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์ในยุคนั้น และยังมีจินตนาการสูงมาก ชี้ให้เห็นว่าท่านเป็นหนอนหนังสือ ถ้าเมาเช้าเมาเย็นทุกวันทำไม่ได้แน่ ประเด็นพวกนี้ควรใช้วิจารณญาณในการวิเคราะห์ ถกเถียง ไม่ใช่เชื่อตามๆ กัน” อาจารย์รุ่งโรจน์จุดประเด็น

มาถึงภาพกว้างทั้งระบบสังคมและการศึกษา ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าสังคมที่เชื่อตามตำราโดยไม่พิจารณาเหตุผลหรือตั้งคำถามใดๆ สะท้อนถึงการตกอยู่ภายใต้อำนาจ เรียกได้ว่าเป็น “สังคมอำนาจนิยม” ไม่ใช่เฉพาะประเด็น “สุนทรภู่” สังคมต้องเริ่มวิพากษ์ ใช้วิจารณญาณ ดูบริบทสังคมและหลักฐานประวัติศาสตร์ที่มีผู้นำเสนอข้อมูลใหม่ๆ

“แทบทุกเรื่องในไทยจะเจออำนาจพิเศษอยู่เรื่อย พอมีคนเสนออะไร ก็จะมีคำพูดที่ว่า ตำราบอกอย่างนั้น กระทรวงบอกอย่างนี้ แทนที่จะอ่านข้อมูลแล้วใช้สามัญสำนึกตัวเองตัดสินว่าเป็นไปได้หรือไม่ เช่น เด็กรุ่นใหม่วิพากษ์เรื่องหนึ่ง คนก็บอกว่าเป็นแค่นักเรียนทำไมยุ่งจัง คนที่มีความคิดจะวิพากษ์ก็เลยรู้สึกเบื่อหน่าย จึงนำมาซึ่งสังคมที่เชื่อตามกันเพื่อสอบผ่าน เพื่อความปลอดภัย เพื่อให้ไม่มีใครด่า พออยู่กับอำนาจนิยมนานๆ ก็เป็นความเคยชิน กลายเป็นสังคมรู้น้อย เพราะคิดว่ารู้มากยากนาน คิดใหม่เดี๋ยวมีอุปสรรค จริงๆ แล้วทุกคนต้องช่วยกัน อะไรที่เถียงกันได้ก็เถียงกัน อย่าเอาอำนาจนิยมมาปิดปาก”

ด้าน น.ส.นิจสุดา อภินันทาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แจกแจงว่า หากจะวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ก็อยู่ที่การตีความ บางเรื่องตั้งข้อสันนิษฐานได้หลายทาง เช่นที่ว่า เมืองแกลงไม่ใช่บ้านเกิด “สุนทรภู่” ก็คิดได้ แต่ก็เป็นไปได้เช่นกัน เพราะในนิราศเมืองแกลง บอกชัดเจนว่า “สุนทรภู่” เดินทางไปเยี่ยมพ่อที่เมืองแกลง แต่แม่ของ “สุนทรภู่” ทำงานรับใช้อยู่วังหน้า ซึ่งตามธรรมเนียมแล้ว หากคนในวังแต่งงาน ต้องออกไปอยู่กับสามี ซึ่งพ่อของ “สุนทรภู่” มีบ้านอยู่เมืองแกลง เมื่อเลิกรากัน แม่ก็กลับมาอยู่บ้านที่วังหลัง โดย “สุนทรภู่” ตามมาอยู่ด้วย ซึ่งในหลักฐานประวัติศาสตร์ไม่ได้บอกชัดเจนว่า “สุนทรภู่” เกิดที่ไหน จึงสันนิษฐานได้ทั้งสองแห่ง

ส่วนที่ว่า “สุนทรภู่” ไม่ได้มีอาชีพกวี ก็อาจใช่ แต่ “สุนทรภู่” เป็นผู้มีการศึกษา รับราชการเจริญรุ่งเรืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งทรงส่งเสริมศิลปะทุกแขนง และ “สุนทรภู่” เองก็มีพรสวรรค์เรื่องการแต่งกลอนและวรรณคดี ดังนั้น งานแต่งวรรณคดี กลอน นิราศของ “สุนทรภู่” จึงไม่ใช่งานประจำ แต่อาจเป็นงานอดิเรก ซึ่งผู้ที่มีรสนิยมทางเชิงกลอน

“สุนทรภู่” ตกอับในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เพราะมีเรื่องขัดแย้งในช่วงที่รัชกาลที่ 3 ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ “สุนทรภู่” จึงไม่เป็นที่พอพระทัย ถือเป็นช่วงชีวิตที่ตกอับ จนเกิดเป็นนิราศภูเขาทอง

เรื่องทั้งหมดมีทั้งข้อเท็จจริงและเรื่องราวที่ “สุนทรภู่” แต่งขึ้นตามอารมณ์ความรู้สึก แต่ละบทที่ สพฐ.เลือกมาให้เด็กเรียน ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมในยุคสมัยนั้น โดยผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์อย่างถี่ถ้วน

“เมื่อมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์ สพฐ.คงไม่ไปเต้นตามแล้วปรับหลักสูตร เว้นแต่นักวิชาการเหล่านั้นจะมีข้อมูลหลักฐานมายืนยันข้อเท็จจริงและได้รับการพิสูจน์อย่างรอบคอบแล้ว ก็อาจเป็นไปได้ที่จะมีการปรับหลักสูตรหรือชำระประวัติศาสตร์หนังสือเรียนที่เกี่ยวข้องกับสุนทรภู่” น.ส.นิจสุดาสรุป

ศ.เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีไทยและสันสกฤตอันดับต้นๆ ของเมืองไทยบอกว่า เมื่อมีหลักฐานใหม่ที่ได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการ ควรปรับเปลี่ยนเนื้อหาในการเรียนการสอน กรณีประวัติ “สุนทรภู่” นั้น มีการอบรมครูให้รับรู้ข้อมูลใหม่แล้ว อย่างเรื่องบ้านเกิดที่วังหลัง ไม่ใช่เมืองแกลง ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่ถกเถียงกันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ช่วยให้สังคมเพิ่มพูนความรู้ ไม่ใช่เรื่องของการ “เอาชนะ” ส่วนผู้ที่ยังยึดติดกับความรู้เดิม จึงไม่ชอบใจเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลนั้น ถือเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งสำคัญคือต้องพูดกันด้วยเหตุผล ต่อไปจะเป็นที่ยอมรับเอง

“มีคนศึกษาเยอะเกี่ยวกับสุนทรภู่ มีข้อมูลใหม่ๆ ออกมา เป็นที่ยอมรับ ครูมัธยมได้รับการอบรมด้านวรรณคดีก็ได้รับข้อมูลเหล่านี้แล้ว หลักฐานใหม่บางอย่างช่วยให้เข้าใจวรรณคดีบางเรื่องมากขึ้น เช่น ทำไมท่านผูกพันกับสถานที่นั้นๆ แม้สุนทรภู่เสียชีวิตไปนานแล้ว เป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว แต่เป็นสิ่งที่นำมาถกเถียงกันได้ เพราะเป็นเรื่องวิชาการ ไม่ใช่การเอาชนะ” ศ.เกียรติคุณ ดร.กุสุมาสรุป

คงจะมีการถกแถลงกันต่อไปถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของ “สุนทรภู่” กวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์และของโลก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image