ศาสตราจารย์โบราณคดี “ไม่เชื่อ”อัฐิวัดระฆังกองกับพื้น ยันต้องมี “ผอบ” เผยกระดูกถูก“ทิ้งขยะ”ก่อนพระตามเจอ!

ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

คืบหน้ากรณีการพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ พร้อมเศษถ่านไม้ซึ่งคาดว่าเป็นไม้จันทน์บริเวณชุดฐานพระปรางค์วัดระฆังโฆษิ ตาราม เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ขณะคนงานกระเทาะพื้นผิวปูนด้านนอกเพื่อบูรณะตามโครงการบูรณะฏิสังขรณ์วัด ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม แต่กลับพบโพรงลึกเข้าไปด้านใน มีเศษกระดูก ไม้เผาไฟและกรวด

ต่อมา นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กล่าวว่า ตนเชื่อว่าอัฐิ หรืออังคารดังกล่าว เป็นของเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี พระเชษฐภคินี (พี่สาว) ในรัชกาลที่ 1 เนื่อง จาก วัดระฆังโฆษิตาราม อยู่ในพื้นที่ส่วนของ “วังหลัง” ซึ่งผู้ครองวังหลังผู้อุปถัมภ์วัดดังกล่าวมาโดยตลอดคือ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือ ท่านทองอิน โอรสของกรมพระยาเทพสุดาวดี ทั้งยังสันนิษฐานว่า เดิมน่าจะมีภาชนะบรรจุ อาจเป็นหีบ กล่อง หรือลุ้ง (ภาชนะใส่อัฐิเพื่อนำไปลอยน้ำ) จึงทำให้เกิดกระแสการตั้งคำถามจากสังคมในโลกโซเชียลว่ามีการขโมยหีบ และโบราณวัตถุแล้วทิ้งไว้เพียงกระดูกหรือไม่

ด้านคนงานบริษัทศิวกรการช่าง ยืนยันตรงกันว่า ไม่มีหีบหรือภาชนะบรรจุ รวมถึงวัตถุอื่นใดในโพรงอย่างแน่นอน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เปิดเผยว่า ตนได้ทราบจากพระสงฆ์ในวัดระฆังโฆษิตารามว่า กระดูกดังกล่าวถูกช่างหรือคนงานนำไปทิ้งขยะก่อนที่พระซึ่งเข้าไปตรวจสอบงานที่พระปรางค์จะสังเกตเห็นว่ามีโพรงอยู่ที่ฐาน เมื่อสอบถามรายละเอียดจึงทราบว่ามีการพบกระดูกแต่ถูกนำไปทิ้งแล้ว จึงสั่งให้ไปติดตามกลับคืนมาแล้วคัดแยกจากขยะ ทำความสะอาด ตากแห้ง และเก็บใส่ภาชนะใหม่

Advertisement
พระสงฆ์นำกระดูกมาคัดแยกจากขยะ แล้วล้างทำความสะอาด
พระสงฆ์นำกระดูกมาคัดแยกจากขยะ แล้วล้างทำความสะอาด
เศษเครื่องถ้วยเบญจรงค์ยุครัตนโกสินทร์ พบปะปนกับกระดูก แต่ไม่ใช่รอยแตกใหม่
เศษเครื่องถ้วยเบญจรงค์ยุครัตนโกสินทร์ พบปะปนกับกระดูก แต่ไม่ใช่รอยแตกใหม่

ยันต้องมี “ผอบ” บรรจุ เหตุบุคคลสำคัญ-พระเล่า กระดูก “ถูกทิ้งขยะ”

ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า ตนไม่เชื่อว่ากระดูกจะถูกบรรจุไว้เฉยๆโดยไม่มีภาชนะ
“เรื่องอะไรจะเอากระดูกไปใส่ในห้องสี่เหลี่ยมเฉยๆ ต้องมีการใส่ผอบ ที่สำคัญคือ อยู่ๆช่างไปเจอแล้วเอากระดูกไปทิ้ง แล้วพระที่ไปตรวจทุกวันท่านเจอว่ามีช่อง พอเรียกช่างมาถามเลยต้องให้ไปตามจากถังขยะ ความสำคัญอยู่ที่ว่า ทำไมเอาไปทิ้ง แสดงว่ามีของมีค่าหรือไม่ อีกอย่างหนึ่งคือ กระดูกยังอยู่อย่างดี แสดงว่าต้องมีผอบบรรจุไว้”

ศ.ดร.ศักดิ์ชัยกล่าวว่า โพรงนี้มีการจั้งใจเจาะอย่างดี มีเศษปูนตำแบบโบราณเหลือร่องรอยอยู่
ศ.ดร.ศักดิ์ชัยกล่าวว่า โพรงนี้มีการจั้งใจเจาะอย่างดี มีเศษปูนตำแบบโบราณเหลือร่องรอยอยู่

คาดบุคคลสำคัญยุคต้นกรุง-ไม่เก่าถึง ร.1 แต่ไม่เกิน ร.5

สำหรับประเด็นที่ว่าเจ้าของกระดูกคือใครนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ไม่สามารถระบุชัดเจนได้ แต่สันนิษฐานว่าต้องเป็นบุคคลสำคัญที่มีชีวิตอยู่ระหว่างต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ 5 เนื่องจากในยุคหลังจากรัชกาลที่ 5 ลงมา จะมีการบรรจุกระดูกในเจดีย์ 3 องค์ภายในวัดซึ่งเป็นเจดีย์ประจำตระกูลของผู้อุปถัมภ์วัด ซึ่งพบว่าที่เก่าที่สุดอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 6

“ต้องเป็นบุคคลสำคัญ คนอื่นคงไม่กล้าบรรจุไว้ในปรางค์องค์สำคัญของวัด โพรงที่บรรจุ ก็อยู่ในตำแหน่งตรงกลางหน้าพระพุทธรูปในโบสถ์ที่ตั้งอยู่ติดกัน ต้องลองตรวจสอบว่ามีพระราชพิธีเผาศพใคร อาจเป็นพระสงฆ์ที่เป็นเจ้านายหรือไม่ เพราะมีมรว.ท่านหนึ่งเคยเป็นเจ้าอาวาสด้วย หลักฐานในตอนนี้ยังบอกอะไรไม่ได้ แต่ไม่น่าจะเก่าไปถึงสมัยรัชกาลที่ 1 เพราะยุคนั้นน่าจะบรรจุกระดูกที่ฐานพระพุทธรูปหรือห้องคลังซึ่งที่วัดนี้ไม่มี และไม่ใช่กระดูกใหม่ เพราะรูปแบบไม่ใช่พิธีปัจจุบัน ซึ่งจะมีการจารึกชื่อคน แต่กระดูกที่พบนี้เป็นการบรรจุแล้วปิดผนึกไปเลย โพรงก็เป็นห้องกว้างมาก ใส่กระดูกเยอะมากด้วย อาจเป็นกระดูกทั้งตัว เท่าที่เห็นมีทั้งกระดูกข้อ กระดูกขา และกระโหลกด้วย” ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย กล่าวและว่า ตนได้แจ้งเรื่องนี้ไปยังนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากรรับทราบแล้ว

Advertisement
เจดีย์ที่วัดระฆังโฆษิตาราม บรรจุอัฐิบุคคลในตระกูลที่อุปถัมภ์วัด
เจดีย์ที่วัดระฆังโฆษิตาราม บรรจุอัฐิบุคคลในตระกูลที่อุปถัมภ์วัด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image