‘9 มทร.’ แก้เกมนักศึกษาลดฮวบ เล็งเปิดหลักสูตรโมดูล-เก็บหน่วยกิต

วิโรจน์ ลิ้มไขแสง

‘9 มทร.’ แก้เกมนักศึกษาลดฮวบ เล็งเปิดหลักสูตรโมดูล-เก็บหน่วยกิต ดึงเด็กนอกระบบ-วัยทำงานเพิ่มสกิล

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นายวิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) เปิดเผยถึงกรณีนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ระบุว่า ปีการศึกษา 2563 มีจำนวนเด็กลดลงอย่างเห็นได้ชัดทั้งระบบ เหลือเด็กที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเพียง 2 แสนกว่าคน จากเดิมปี 2562 มีเด็กกว่า 3 แสนคน ซึ่งมหาวิทยาลัยค่อนข้างกังวลถึงอนาคตว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจะปรับตัวอย่างไร โดยมหาวิทยาลัยอาจต้องปิดการเรียนการสอนในคณะที่ไม่ได้รับนิยมนั้น ว่า ที่ประชุม ทปอ.มทร.หารือประเด็นนี้มาแล้ว จากข้อมูล 2 ปีที่ผ่านมา จำนวนเด็กลดลงจริง จึงหารือร่วมกันว่าต่อไปจะรอเด็กเข้ามาตามระบบ เป็นไปไม่ได้แล้ว ต้องพยายามดึงเด็กนอกระบบ หรือคนในวันทำงาน ผู้ที่เรียนจบแล้วเข้ามาเรียนเพื่อรีสกิล อัพสกิลต่อไป ซึ่งจุดนี้จะตอบโจทย์รัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต ดังนั้นต่อไป มหาวิทยาลัยต้องมีหลักสูตรที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งทั้ง 9 มทร. หารือถึงหลักการที่จะดำเนินงานต่อไปว่าจะต้องจัดทำหลักสูตรระยะสั้น หรือหลักสูตรแบบโมดูลโดยหลักสูตรเหล่านี้ต้องสามารถเก็บหน่วยกิตได้ เมื่อเก็บหน่วยกิตได้ครบ ก็จะได้รับปริญญา ทำให้มีผู้เรียนอยู่ในระบบการศึกษามากขึ้น ซึ่งจะเป็นการชดเชยเรื่องรายได้ของมหาวิทยาลัย เพราะเมื่อผู้เรียนลดลง รายได้มหาวิทยาลัยลดลงแน่นอน แต่ถ้ามหาวิทยาลัยทำหลักสูตรระยะสั้น จะสามารถเพิ่มรายได้ และสามารถช่วยคนให้มีโอกาสได้รับการศึกษา ให้อยู่ในระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้นด้วย

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นจากการประเมินการรับนักเรียนผ่านการรับสมัครการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ในส่วนมหาวิทยาลัยกลุ่ม มทร. ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่มวิชาชีพ พบข้อมูลว่านักเรียนที่สมัครเข้ามาในรอบ 3 รับตรงร่วมกัน และรอบที่ 4 แอดมิสชั่นส์ มีแนวโน้มสละสิทธิน้อย เพราะผู้เรียนมั่นใจว่า เมื่อเข้าเรียน มทร.แล้วจะมีงานทำแน่นอน 100% และส่วนใหญ่จะเลือกเรียนสายอาชีพ และสายวิทยาศาสตร์ ไม่เหมือนกับการสมัครในรอบ 1 แฟ้มสะสมผลงาน และรอบ 2 โควต้า ที่นักเรียนสมัครแล้วสละสิทธิไปจำนวนมาก เนื่องจากมีตัวเลือกมาก โดยส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง

“จากการสำรวจพบว่าผู้ที่จบจาก มทร.กว่า 80% มีงานทำ และงานที่ทำนั้น เป็นงานที่ตรงกับสาขาที่เรียน อีกทั้งพบว่ารายได้ที่ได้นั้น จะได้รับเงินตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด หรือได้รับเงินมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ ในบางกลุ่ม บางสาขา ผู้จบได้รับเงินเดือนมากกว่าเงินเดือนขั้นต่ำกว่า 20% เรื่องนี้ ถือเป็นจุดแข็งของกลุ่ม มทร.ทั้ง 9 แห่ง และผมมั่นใจว่าเด็กที่จบจาก มทร.ไปไม่ใช่ภาระสังคมแน่นอน” นายวิโรจน์ กล่าว

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image