นัก ปวศ.ถอดรหัสจารึกพม่าบน ‘ปืนใหญ่’ ทำไมเรียก ‘อยุธยา’ ว่า ‘ทวารวดี’ เชื่ออังวะขนกลับคราวกรุงแตก

เมื่อวันที่ 4 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปัญชลิต โชติกเสถียร ชมรมนักโบราณคดีสมัครเล่นเมืองสุพรรณ เผยแพร่ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ ROYAL ARMOURIES ประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับปืนใหญ่กระบอกหนึ่ง (ทะเบียน XIX.118) มีจารึกภาษาพม่าซึ่งทางพิพิธภัณฑ์แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า

“In the year 1128 Dwarawati was conquered” หรือ “ในปีที่พิชิตทวารวดี ปี (จุลศักราช) 1128” ตรงกับ พ.ศ.2310 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

นายปัญชลิตกล่าวว่า ทางพิพิธภัณฑ์อธิบายที่มาของปืนใหญ่กระบอกนี้ว่าอาจตกเป็นของกองทัพพม่าในคราวที่กรุงศรีอยุธยาพ่ายแพ้ต่อการโจมตี ในปี พ.ศ.2310 ต่อมา ถูกส่งมาที่อังกฤษใน พ.ศ.2428 หลังจากนั้นถูกขนย้ายไปไปที่อาคาร Chatham Dockyard โดยสำนักงานกิจการทหารเรือและนาวิกโยธิน ใน ปี พ.ศ.2504 ซึ่งปี พ.ศ.2428 เป็นปีเดียวกับที่อังกฤษเข้ายึดพระราชวังของพระเจ้าธีบอที่มัณฑะเลย์ มีการขนย้ายสมบัติจากพระราชวังมัณฑะเลย์ไปอังกฤษหลายรายการ

สำหรับรูปพรรณปืนใหญ่ มีแหวนรัดสี่วงกับห่วงสำหรับยก แหวนรัดสองวงอยู่ค่อนไปทางด้านท้าย อีกสองวงอยู่ค่อนไปทางด้านเรียว บริเวณค่อนไปทางด้านท้ายซึ่งเป็นบริเวณที่มีจารึก ส่วนท้ายปืนใหญ่มีลักษณะเป็นแหวนซ้อนลดหลั่นกันเป็นรูปกรวย นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลอื่นๆ อาทิ ความยาวลำกล้อง 228.6 เซนติเมตร, ความยาวทั้งหมด 254 เซนติเมตร, เส้นผ่าศูนย์กลางลำกล้อง 11.7 เซนติเมตร นอกจากนี้ทางพิพิธภัณฑ์ยังได้ทำหมายเหตุไว้ด้วยว่า โปรตุเกสมีอิทธิพลต่อสยามอย่างมากในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งมีผลทำให้รูปแบบปืนชนิดนี้ใช้สืบทอดกันมา เปรียบเทียบกับปืนหมายเลข .XIX.91.

Advertisement

นายปัญชลิต ยังตั้งข้อสังเกตว่า  เป็นไปได้หรือไม่ว่า “ทวารวดี” ในจารึกหมายถึงกรุงศรีอยุธยา

ด้าน ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง แสดงความเห็นว่า จารึกบนปืนกระบอกดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงเวลานั้น พม่ายังเรียกอยุธยาว่าทวารวดี ซึ่งเป็นความทรงจำที่สืบเนื่องกันมา เป็นขนบที่เรียกกันมาอย่างไม่ขาดสาย เอกสารโบราณของไทย อย่างฉันท์สรรเสริญพระเจ้าปราสาททอง ก็เรียกพระองค์ว่า ‘พระเจ้ากรุงทวารวดี’  เชื้อวงศ์อยุธยาไม่เคยมาจากนครฐม แต่มาจากละโว้และสุพรรณบุรี เพราะฉะนั้น ตนมองว่านครปฐม ไม่ใช่ทวารดีตามที่เข้าใจกันมา

Advertisement

นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดัง ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม กล่าวว่า ผู้ที่เคยบอกมานานแล้วว่าทวารวดีอยู่ละโว้ คือ นายมานิต วัลลิโภดม ข้าราชการกรมศิลปากร ซึ่งเคยเขียนลงในวารสารศิลปากร และตนก็เคยนำมาตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมตั้งแต่ปีแรกๆ แต่กลับโดนคนดูแคลน ตนตั้งคำถามว่า ถ้าทวารวดี อยู่นครปฐม ถามว่ามีอะไรบ้างที่บ่งชี้

“ทวารวดี คือเมืองพระกฤษณะ ซึ่งพบประติมากรรมถึง 3 องค์ที่เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นอุดมคติในหลัง พ.ศ.1000 เป็นพยานว่าเมืองศรีเทพ คือเมืองทวารกา หรือทวารวดี ซึ่งเป็นราชธานีที่เนรมิตสถาปนาโดยพระกฤษณะ

ความเป็นทวารวดีของเมืองศรีเทพ แผ่ถึงเมืองละโว้ (ลพบุรี) ซึ่งเป็นเครือข่ายเครือญาติใกล้ชิด สอดคล้องกับเอกสารจีนเรียกบริเวณศรีเทพ-ละโว้ โดยถ่ายเสียงจากทวารวดีว่า โถโลโปตี

ต่อมาละโว้เปลี่ยนไปนับถือพระรามผู้สถาปนากรุงอโยธยาเป็นศูนย์กลางอำนาจ แล้วย้ายเมืองจากละโว้ไปอยู่ที่ใหม่ (บริเวณแม่น้ำป่าสักไหลบรรจบรวมแม่น้ำลพบุรี) ให้ชื่อว่าอโยธยาศรีรามเทพ

ครั้นเกิดกาฬโรคระบาด มีคนล้มตายมาก จึงแก้อาถรรพณ์ด้วยการสถาปนาใหม่อาศัยนามศักดิ์สิทธิ์สืบกันมาว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” หมายถึง กรุงเทวดานามทวารวดีของพระกฤษณะ สืบเนื่องถึงนามอยุธยาของพระราม

ต่อมาหลัง พ.ศ.1500 เกิดคติใหม่ มานิยมพระราม เพราะฉะนั้น ประเด็นสำคัญไม่ใช่ทวารวดีอยู่ที่ไหน แต่อยู่ที่สังคมเปลี่ยนแปลงจากเชื่อถืออุดมคติคือพระกฤษณะ เปลี่ยนเป็นพระราม” นายสุจิตต์กล่าว (ย้อนอ่าน สุจิตต์ วงษ์เทศ : ทวารวดีศรีอยุธยา มาจากทวารวดีศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image