‘สพฐ.’ ประชุมผอ.เขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ เตรียมรับมือสอนออนไลน์

‘สพฐ.’ ประชุมผอ.เขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ เตรียมรับมือสอนออนไลน์

เรียนออนไลน์ – เมื่อวันที่ 10 เมษายน นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมทางไกลผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จำนวน 225 เขต ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำนโยบายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และมติคณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบให้เลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งตนได้สื่อสารให้ผู้อำนวยการ สพท.รับรู้ รับฟังถึงวิธีการทำงาน รวมทั้งรับฟ้งข้อคิดเห็น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลว่าในแต่ละพื้นที่มีข้อจำกัดอะไรบ้าง ทั้งนี้ สพฐ.ได้วางกรอบการบริหารจัดการเปิดภาคเรียน คือ ภาคเรียนที่ 1 เปิดวันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 30 พฤศจิกายน ภาคเรียนที่ 2 เปิดวันที่ 1 ธันวาคม ถึงวันที่ 30 เมษายน ทั้งนี้ขอให้โรงเรียนทุกแห่งเปิดเรียนในวันเดียวกัน ส่วนการปิดภาคเรียนนั้น ทาง สพท.และโรงเรียนสามารถยืดหยุ่นและบริหารจัดการได้อาจจะปิดตามเวลาที่ สพฐ.กำหนด หรือจะปิดภาคเรียนก่อนก็ได้ และในภาคเรียน 1 ปีการศึกษา 2564 จะเริ่มวันที่ 16 พฤษภาคม ขอให้โรงเรียนเปิดเทอมพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

นายอำนาจ กล่าวต่อว่า ทั้งที่ตนได้เน้นย้ำเรื่องการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อหาทางบริหารจัดการใช้งบประมาณต่อไป โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กระดับชั้นประถมศึกษา ที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 แต่ไม่ใช่โรงเรียนขนาดเล็กที่ดำรงอยู่ด้วยตนเอง หรือ Stand Alone ให้ สพท.ไปบริหารจัดการ สร้างความเข้าใจกับโรงเรียนโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด เพื่อโยกงบประมาณเอาไปช่วยโรงเรียนขนาดเล็กที่สามารถควบรวมได้ กลุ่มโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่ถึง 40 คน ให้ สพท.ไปศึกษาดูว่านักเรียนเหล่านี้ได้รับการเรียนรู้ที่รอบด้านหรือไม่ และกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาสที่มีนักเรียนจำนวนน้อย ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้เป็นโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ให้สพท.ไปบริหารจัดการให้นักเรียนเหล่านี้เคลื่อนตัวไปยังโรงเรียนมัธยมประจำตำบลหรือจังหวัดอย่างไรบ้าง

“ส่วนเรื่องการรับนักเรียน สพฐ.กำหนดรับสมัครนักเรียนเช้าเรียนระดับชั้นม.1 และ ม.4 ในวันที่ 3-12 พฤษภาคม โดยให้ สพท.และโรงเรียนคิดวิธีการที่เหมาะสม ซึ่งทางสพฐ.จะมีแนวทางให้เบื้องต้น เช่น รับผ่านระบบเว็บไซต์ อีเมลของโรงเรียน ทางไปรษณีย์ google Form หรือ line ของโรงเรียน เป็นต้น แต่ถ้า สพท.หรือโรงเรียนมีแนวทางอื่นๆ เพิ่มเติม ก็สามารถดำเนินการได้ ส่วนวิธีการสอบจะใช้วิธีการสอบอย่างไรนั้น สพฐ.ขอประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง” นายอำนาจกล่าว

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สพฐ.ได้จัดทำรูปแบบการจัดการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล ในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ระยะที่ 1 ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน ให้กับนักเรียน ผู้ปกครอง ครูผู้สอน โรงเรียนหรือ สพท. และส่วนกลาง โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ รูปแบบที่ 1 อนุบาล- ม.3 เรียนผ่านระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) โดยแบ่งเป็น 50 นาทีเรียนผ่านช่องทีวี 10 นาที สื่อสารผู้ปกครองและนักเรียนด้วยระบบโทรศัทพ์ แอพพิเคชั่นไลน์ และอื่นๆ รูปแบบที่ 2 นักเรียนระดับชั้น ม.4-ม.6 เรียนผ่านระบบออนไลน์ โดยผ่านทาง OBEC TV 13 ช่อง แบ่งเป็น 30 นาทีเรียนผ่าน VTR จากครูต้นแบบ 20 นาที ผ่านครูประจำวิชาด้วยระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์

Advertisement

“นอกจากนี้ สพฐ.หารือถึงการบริหารงานบุคคล เนื่องจากสพฐ.ได้ เลื่อนรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา เพื่อแทนตำแหน่งว่าง จำนวน 4,647 อัตรา รวมทั้งตำแหน่งศึกษานิเทศก์ และการเปิดรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สพฐ. อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยทั่วไป สพฐ. ประจำปี 2563 ดังนั้น สพท.ต้องไปสำรวจและดูรายละเอียดที่ ก.ค.ศ.กำหนด เพื่อเตรียมการไว้ล่วงหน้า เช่น การรูปแบบแนวทางการสอบสอบ การเตรียมอุปกรณ์ เป็นต้น เมื่อวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย จะดำเนินการ รับสมัครและจัดสอบทันที” นายอำนาจกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image