สอบ ‘ม.1-ม.4’ ผ่าน ‘ออนไลน์’ ‘โปร่งใส-ไร้เส้นสาย’ จริงหรือ??

สอบ ‘ม.1-ม.4’ ผ่าน ‘ออนไลน์’ ‘โปร่งใส-ไร้เส้นสาย’ จริงหรือ??

สอบออนไลน์ – ท่ามกลางการแพร่ระบาดของของ ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่ได้ลุกลามแพร่กระจายไปกว่า 200 ประเทศทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อมากประมาณ 1.8 ล้านราย และเสียชีวิตทะลุ 1 แสนคนไปแล้ว

สถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ ทำให้ประชากรกว่า 1 ใน 3 ของโลก ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต อยู่บ้าน เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม Social Distancing ปรับวิถีการทำงาน โดยทำงานจากบ้าน หรือ Work From Home และปรับวิถีการเรียน โดยเรียนผ่านระบบ “ออนไลน์”

สำหรับประเทศไทย นอกจากรัฐบาลจะประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และประกาศเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน ระหว่างเวลา 22.00-04.00 น.เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

นอกจากนี้ รัฐบาลยังออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบการจากการแพร่ระบาด

Advertisement

รวมทั้ง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้เลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ของโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ดีขึ้น ให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ โดยผ่านดิจิทัลแพลตฟร์อมต่างๆ แทน

ล่าสุด นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) คิดรูปแบบการเรียนการสอนผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ

Advertisement

พร้อมประกาศชัดเจนว่าเตรียมงบประมาณจัดซื้อ “แท็บเล็ต” ในนักเรียนชั้น ม.4-6 เพื่อใช้เรียนผ่านระบบออนไลน์ เพื่อความเท่าเทียมกัน

ทำให้นักวิชาการ และประชาชน วิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้จำนวนมาก ทั้ง “เห็นด้วย” และ “ไม่เห็นด้วย” เพราะจากประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา จะเห็นว่าการแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี กลายเป็นเรื่องที่สูญเปล่า และไม่คุ้มค่ามากที่สุด

ท้ายที่สุด แท็บเล็ตยังกลายเป็น “ขยะอิเล็กทรอนิกส์”

ในประเด็นนี้ นายณัฏฐพลชี้แจงว่า “อย่าเอาเรื่องในอดีตมากำหนดอนาคตการเรียนการสอนของนักเรียน ผมมั่นใจว่าการพิจารณาครั้งนี้ เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะจำเป็นต้องเรียนออนไลน์ โดยจะต้องสร้างความเท่าเทียมกันทั่วทั้งประเทศ”

อย่างไรก็ตาม หลังมีเสียงคัดค้านค่อนข้างเซ็งแซ่ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ออกแถลงการณ์ ซึ่งข้อ 3 ระบุว่า “ใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การเสนอขอช่องดิจิทัลทีวีจาก กสทช.ทั้ง 13 ช่อง เพื่อให้นักเรียนทุกระดับชั้นสามารถเรียนผ่าน DLTV ได้ ทั้งนี้ ยังไม่มีการจัดซื้ออุปกรณ์ใดเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น”

ซึ่งอาจเป็นการถอยเพื่อไป “ตั้งหลัก” ใหม่ !!

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ลงนามในประกาศ ศธ.เรื่องการเปิดเรียนของสถานศึกษาในสังกัด และในกำกับของ ศธ.ให้เปิด และปิดสถานทุกแห่งของรัฐ และเอกชน ทั้งในระบบ และนอกระบบ ซึ่งอยู่ในสังกัด และในกำกับของ ศธ.เปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม จากเดิมเปิเรียนวันที่ 18 พฤษภาคม โดยให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ส่วนโรงเรียนเอกชนประเภทนานาชาติ ซึ่งมีกำหนดวันเปิด และปิดภาคเรียน ไม่ตรงกับโรงเรียนในระบบ ให้พิจารณาเปิดเรียนได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องกำหนดรูปแบบ และวิธีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับข้อกำหนดที่ออกตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของแต่ละพื้นที่ที่โรงเรียนตั้งอยู่

สรุปว่าระยะเวลาการเรียนสำหรับภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 เริ่มวันที่ 1 กรกฏาคม – 30 พฤศจิกายน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 เริ่มวันที่ 1 ธันวาคม – 30 เมษายน 2564 ทำให้นักเรียนต้องเรียนต่อเนื่องโดยไม่มีปิดภาคเรียนที่ 1 ในเดือนตุลาคม

อย่างไรก็ตาม ถ้าโรงเรียนต้องการให้นักเรียน และครูหยุดพักบ้าง สามารถบริหารจัดการได้ เช่น จัดวันสอนชดเชยในวันหยุด หรือเพิ่มเวลาเรียนในวันธรรมดา เป็นต้น

เมื่อได้เวลาเปิดภาคเรียนแล้ว สิ่งที่ต้องกำหนดปฏิทินให้ชัดเจนคือ การเปิดรับสมัครนักเรียน โดยเฉพาะการรับนักเรียนระดับชั้น ม.1 และ ม.4 รวมทั้ง หาวิธีสมัครเข้าเรียน และสอบ ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วย

ซึ่ง ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้เรียกประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จำนวน 225 เขตทั่วประเทศ ผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เพื่อเตรียมความพร้อมเลื่อนเปิดภาคเรียน รับนักเรียน และเรียนผ่านออนไลน์

ทั้งนี้ สพฐ.ยังได้กำหนดวันรับสมัครนักเรียนระดับชั้น ม.1 และ ม.4 ในวันที่ 3-12 พฤษภาคม โดยให้ สพท.และโรงเรียน คิดวิธีการที่เหมาะสม ซึ่ง สพฐ.มีแนวทางให้เบื้องต้น เช่น รับผ่านเว็บไซต์ อีเมลของโรงเรียน ทางไปรษณีย์ google Form หรือ line ของโรงเรียน เป็นต้น แต่ถ้า สพท.หรือโรงเรียนมีแนวทางอื่นๆ เพิ่มเติม ก็ดำเนินการได้

ส่วนวิธีการสอบเข้าเรียน มีข้อเสนอให้ใช้ผลการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) มาใช้ในการรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนต่อในระดับชั้น ม.1 และ ม.4 ด้วย ซึ่งเลขาธิการ กพฐ.เห็นว่า ถ้าใช้มาตรการนี้ จะต้องประกาศให้นักเรียนทราบล่วงหน้า 1 ปี ดังนั้น ทางเลือกนี้ จะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่ สพฐ.เลือกใช้

“เบื้องต้นอยากให้สอบในโรงเรียน โดยให้โรงเรียนดำเนินการตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing เป็นต้น เพราะการที่นักเรียนไปสอบด้วยตัวเอง จะไม่ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ทั้งนี้ สพฐ.ขอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ก่อนกำหนดวิธีการสอบ แต่การสอบครั้งนี้ จะต้องสอบพร้อมกันทั่วประเทศ” ดร.อำนาจ กล่าว

ประเด็นการรับนักเรียนระดับชั้น ม.1 และ ม.4 รวมทั้ง วิธีการสอบนั้น ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การรับสมัครนักเรียน และการสอบผ่านระบบออนไลน์ สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ จะมีปัญหาเรื่องเด็กฝาก และปัญหาความโปร่งใสยุติธรรมตามมาหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาจะพบว่าปัญหาเหล่านี้น้อยลง เพราะมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาช่วยตรวจสอบเรื่องการรับนักเรียน

“การรับนักเรียนปีนี้ มีเหตุผลที่จะต้องเปิดรับสมัครทางออนไลน์ แต่จะทำอย่างไรให้ประชาชนรู้สึกว่าการรับนักเรียนผ่านออนไลน์ จะไม่มีเรื่องการฝากนักเรียน มีความยุติธรรม ตรงไปตรงมา และจะทำอย่างไรให้มีระบบตรวจสอบขึ้นมาได้” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ส่วนการนำผลสอบโอเน็ต เข้ามาเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกนั้น ศ.สมพงษ์ กล่าวว่า ถ้าใช้คะแนนโอเน็ตมาตัดสินการรับเข้าเรียน จะเป็นเรื่องอันตราย เพราะที่ผ่านมานักเรียนบางคนตั้งใจสอบ บางคนไม่ตั้งใจสอบ บางคนถูกบังคับให้มาสอบ และเมื่อไม่ได้ประกาศให้นักเรียนทราบล่วงหน้า เรื่องนี้จะเกิดความไม่ยุติธรรมขึ้นแน่นอน คะแนนโอเน็ตสามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกได้ แต่ไม่ควรใช้เป็นตัวตัดสินหลักทั้งหมด

“ถ้า ศธ.ใช้ระบบการสอบออนไลน์เพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียน ผมคิดว่ามีความเสี่ยงอย่างมาก เพราะอาจจะถูกแฮกข้อมูล เป็นต้น ลองหาวิธีการอื่นได้หรือไม่ ซึ่งผมคิดว่า ศธ.ลองทำงานร่วมกับ สธ.และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) อย่ากระจุกการทำงานแค่หน่วยงานเดียว ควรหารือ และขอความร่วมมือกับหน่อยงานอื่นด้วย” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เนื่องจากที่ผ่านมา ศธ.ดำเนินนโยบายจากส่วนกลางลงมา ซึ่งวิธีการแบบนี้ของ ศธ.ไม่เคยประสบความสำเร็จ และเมื่อมีสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ควรลองตั้งคณะกรรมการร่วมกัน เพื่อหาวิธีการจัดสอบนักเรียน

ต้องติดตามว่า การรับสมัครนักเรียนผ่านระบบออนไลน์ และวิธีการสอบนั้น ศธ.และ สพฐ.จะมีแนวทาง และข้อสรุปอย่างไร ในสถานการณ์พิเศษเช่นนี้

ซึ่งนักเรียน และผู้ปกครอง คงตั้งความหวังอย่างมากว่า “มาตรการ” และ “วิธีการ” จะต้องโปร่งใส บริสุทธ์ ยุติธรรม และตรวจสอบได้ !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image