วิจัยชี้ครูไม่พร้อมสอนออนไลน์เฉียด50% นักเรียนพร้อมแค่45% ไม่มี’คอมพิวเตอร์-เน็ต’เกินครึ่ง

วิจัยชี้ครูไม่พร้อมสอนออนไลน์เฉียด50% นักเรียนพร้อมแค่45% ไม่มี’คอมพิวเตอร์-เน็ต’เกินครึ่ง

 สอนออนไลน์ – นายวิทัศน์ ฝักเจริญผล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) เปิดเผยว่า มก. ได้สำรวจความคิดเห็นของครู จำนวน 678 คน จากโรงเรียนใน 67 จังหวัด ในประเทศไทย ประกอบด้วย โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

เพื่อศึกษาความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ และความต้องการสิ่งสนับสนุนจากโรงเรียนหรือรัฐบาล หากต้องจัดการเรียนการสอนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 เนื่องกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ให้เลื่อนการเปิดภาคเรียน เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม และให้โรงเรียนจัดสอนแบบออนไลน์ ในขณะที่โรงเรียนและนักเรียนยังมีปัญหาในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมอยู่มาก ประกอบกับความไม่คุ้นเคยในการเรียนการสอนแบบนี้อยู่พอสมควร

นายวิทัศน์ กล่าวต่อว่า ครูที่ตอบแบบสอบถาม แบ่งเป็น ครูโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ 25.5% โรงเรียนขนาด ใหญ่ 20.8% โรงเรียนขนาดกลาง 32. % และโรงเรียนขนาดเล็ก 21.7% รับผิดชอบจัดการเรียนการสอนในระดับม.ปลาย 46.2% ม.ต้น 45.4% ประถมศึกษา 40.4% และปฐมวัย 1.8% ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ เคยเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์มากที่สุด คือ Youtube จำนวน 83.% รองลงมา คือ Facebook จำนวน 67.4% และ Google search จำนวน 55% และตอบว่าไม่เคยใช้เลย จำนวน 9.5% เคยใช้ประกอบการสอนหรือจัดการเรียนการสอนผ่าน Youtube จำนวน 43% Facebook จำนวน 42.5% และ Line จำนวน 40.5%

“เมื่อถามถึงความพร้อมของครูหากจำเป็นต้องสอนออนไลน์ ครูจะเลือกใช้ผ่าน Facebook มากที่สุด จำนวน 51.8% รองลงมา คือ Line จำนวน 49% Google classroom จำนวน 38 % Youtube จำนวน 31.1% และตอบว่าไม่สามารถสอนออนไลน์ได้ 11.5% โดยมีความพร้อมในการสอนออนไลน์อยู่ในระดับปานกลางขึ้นไป จำนวน 66.6% แต่หากถามว่าจะพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม หรือไม่ มีผู้ตอบว่าพร้อมในระดับปานกลางขึ้นไป จำนวน 58.2% เท่านั้น” นายวิทัศน์ กล่าว

Advertisement

น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายบริหารคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มก. หนึ่งในคณะวิจัย กล่าวว่า ขณะเดียวกันครูยังประเมินว่า มีนักเรียนจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการเรียนการสอนออนไลน์ได้หากใช้จริง เนื่องจากไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 66% ไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ที่บ้าน 57% ไม่มี smart phone จำนวน 36% โดยครูประเมินว่านักเรียนสามารถเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ได้เพียง 45% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ครูได้มีข้อเสนอให้โรงเรียนหรือรัฐบาลช่วยสนับสนุนสิ่งต่างๆ ได้แก่ 1.การอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ 2.งบประมาณสำหรับการจัดทำบทเรียนออนไลน์ 3.การจัดทำโครงสร้างพื้นฐานทั้งอินเตอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงและอุปกรณ์สื่อสารสำหรับนักเรียนทุกคน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต

4.ระยะเวลาในการเตรียมและสร้างระบบการเรียนการสอนออนไลน์ 5.บุคลากรหรือผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี 6.สื่อการเรียนการสอนออนไลน์สำเร็จรูป เช่น วิดีโอ อนิเมชั่น อินโฟกราฟิก คลังข้อสอบ ในส่วนทักษะและระเบียบวินัยของเด็กนักเรียนในการเรียนออนไลน์ อาจจำเป็นต้องอาศัยครูคอยเป็นผู้ติดตาม ให้คำปรึกษา อบรมสั่งสอน เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินนี้

Advertisement

“ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการผลักดันนโยบายการสอนออนไลน์ รัฐบาลจำเป็นต้องจัดอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้ เนื่องจากรูปแบบและแนวทางการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ที่เหมาะสมของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้มีข้อจำกัดและเป้าหมายที่แตกต่างกัน โดยควรมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำและตัวอย่างแนวทางที่เป็นไปได้ หรือ ควรจัดตั้งกลุ่มสังคมแห่งการเรียนรู้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในแต่ละกลุ่มสาระไปพร้อมกันด้วย”น.ท.สุมิตรกล่าว

น.ท.สุมิตร กล่าวต่อว่า อีกแนวทางคือรัฐบาลต้องจัดทำหลักสูตรออนไลน์กลางแล้วให้ครูเป็นผู้ประสานงานช่วยเหลือให้นักเรียนเข้าถึงระบบการเรียนการสอนออนไลน์กลางนี้ สำหรับนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนออนไลน์ได้ หรือ ไม่พร้อมด้วยสาเหตุใดก็ตาม รัฐจำเป็นต้องให้การดูแลนักเรียนกลุ่มนี้ไม่ให้การเรียนรู้ขาดช่วง โดยควรส่งเสริมและหาช่องทางการเรียนรู้รูปแบบอื่นควบคู่ไปพร้อมกัน ในส่วนการจัดหาอุปกรณ์การสื่อสาร และจัดหาอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ในเวลาอันสั้น นอกจากจะเสี่ยงต่อการจ่ายแพงและได้ของที่ไม่ตรงกับความต้องการจริง และอาจเป็นการสร้างปัญหาภายหลังได้ หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแล ควบคุม กำกับ การทำงานของโรงเรียน ควรให้การผ่อนปรนตามสถานการณ์ อย่าคาดหวังให้ครูสอนออนไลน์เพื่อให้นักเรียนบรรลุจุดประสงค์การเรียนครบถ้วนตามในหลักสูตร หรือ อย่าคาดหวังให้โรงเรียนทำเอกสารไว้ตรวจประเมินคุณภาพการศึกษา เหมือนว่าอยู่ในสถานการณ์ปกติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image