ประธานสครภ ชี้รวม’โอเน็ต-9วิชาสามัญ’ทำได้ยาก

ประธานสครภ ชี้รวม’โอเน็ต-9วิชาสามัญ’ทำได้ยาก

รวมโอเน็ต-9วิชา : เมื่อวันที่ 29 เมษายน นายรัฐกรณ์ คิดการ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ(สครภ) เปิดเผยถึงกรณีนโยบายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ที่ให้รวมการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(โอเน็ต) กับการสอบ 9 วิชาสามัญไว้ด้วยกัน เพื่อลดการสอบซ้ำซ้อน ลดการวิ่งรอกสอบ และลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ว่า ตนคิดว่าคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยของไทยค่อนข้างจะมีความซับซ้อนและมีการปรับเปลี่ยนมาโดยตลอดจนถึงระบบทีแคสในปัจจุบัน โดยผลสอบที่นำมาใช้ในระบบทีแคสมีทั้งเกรดเฉลี่ยสะสมม.ปลาย (GPAX), การทดสอบวัดความถนัดทั่วไป/การทดสอบวัดความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ(GAT/PAT), โอเน็ต และ 9 วิชาสามัญ

นายรัฐกรณ์ กล่าวต่อว่า แม้จะเห็นด้วยกับปัญหาความซ้ำซ้อนในการสอบแต่ละวิชาที่นักเรียนต้องสอบถึง 3 ครั้ง เช่น คณิตศาตร์ นักเรียนต้องสอบทั้งโอเน็ต,PAT1 และ 9 วิชาสามัญ แต่การจะรวมการสอบโอเน็ตกับการสอบ 9 วิชาสามัญเข้าด้วยกันคงไม่สามารถทำได้ เพราะโอเน็ตเป็นการสอบเพื่อวัดความเข้าใจพื้นฐานในแต่ละวิชา ของนักเรียนทั้งประเทศที่มีความแตกต่างหลากหลาย จึงต้องเป็นข้อสอบที่ไม่ยากเกินไป สังเกตได้จากในแต่ละปีจะมีคนสอบได้คะแนนเต็ม 100 ในแต่ละวิชาเป็นจำนวนมาก ส่วน 9 วิชาสามัญนั้นเป็นการสอบวิชาสามัญที่มีความยากในระดับกลาง รองลงมาจากการสอบ PAT ที่เป็นข้อสอบวัดความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ ซึ่งข้อสอบจะมีความยากสูงสุด แต่ยังไม่มีครอบคลุมทุกสาขาวิชาชีพ หลายสถาบันหลายสาขาจึงจำเป็นต้องใช้ผลการสอบ 9 วิชาสามัญในการรับตรงของสถาบันอยู่ แต่ก็ไม่ใช่ทุกสถาบันจะใช้ทั้งหมด 9 วิชาในการคัดเลือก บางแห่งอาจใช้แค่ 3-4 วิชา ที่ใช้สูงสุดคือกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย(กสพท) เป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อคัดเลือกน้องๆ เข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ ที่ใช้ 7 วิชาในการคัดเลือก

“ดังนั้นจึงเห็นว่าการจะรวมการสอบ 9 วิชาสามัญ เข้ากับการสอบโอเน็ตโดยตรงคงทำไม่ได้ นอกจากจะมีการปรับรูปแบบการสอบโอเน็ตให้สามารถวัดความสามารถด้านวิชาชีพและวิชาการ เพียงพอที่จะคัดคนเข้ามหาวิทยาลัยตามความต้องการของแต่ละสาขาได้ เพื่อไม่ให้แต่ละมหาวิทยาลัยไปหาวิธีและจัดสอบกันเองซึ่งจะทำให้นักเรียนต้องวิ่งรอกสอบ และเป็นภาระค่าใช้จ่ายกับผู้ปกครองอีก หรืออีกวิธีหนึ่งอาจปรับปรุงและเพิ่มเติมการสอบ GAT/PAT ให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชาชีพ เพื่อให้สามารถทดแทนการสอบ 9 วิชาสามัญได้ ก็จะช่วยลดความซ้ำซ้อนของการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยลงได้ในระดับหนึ่ง” นายรัฐกรณ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image