ชำแหละ…’สาธิตรามฯ’ ฝ่ากระแส ‘โควิด-19’ เมินเสียงพ่อแม่-ลุยเปิดเทอม 1 มิ.ย.!!

ชำแหละ…’สาธิตรามฯ’ ฝ่ากระแส ‘โควิด-19’ เมินเสียงพ่อแม่-ลุยเปิดเทอม 1 มิ.ย.!!

ทำเอาพ่อแม่ และผู้ปกครอง นั่งกันไม่ติด เมื่อ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายประถม) หรือโรงเรียนสาธิต ม.ร.(ฝ่ายประถม) ได้เผยแพร่ประกาศเปิดเรียนในเฟซบุ๊กเพจ “งานประชาสัมพันธ์สาธิตรามประถมอนุบาล” ของโรงเรียนสาธิต ม.ร.(ฝ่ายประถม) โดยระบุว่า

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายประถม) เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ในวันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน 2563

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่ทั่วโลกยังคงหวาดวิตก เพราะมีอัตราของผู้ติดเชื้อสูงถึง 3.5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 2.5 แสนราย

ขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทย แม้จะมีผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตลดลง แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เห็นพ้องต้องกันว่า ยังไว้วางใจไม่ได้…

Advertisement

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายระยะเวลาในการใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม

เพราะเกรงว่าหาก “คลายล็อกดาวน์” ประเทศเร็วเกินไป จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดในรอบ 2 ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้น…

โดยก่อนหน้านั้น ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) “เลื่อนเปิด” ภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2563 ออกไปจากวันที่ 18 พฤษภาคม เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม

Advertisement

เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดใน “นักเรียน” และใน “โรงเรียน” ซึ่งถือเป็น “กลุ่มเสี่ยง” อย่างยิ่ง…

ที่สำคัญ โรงเรียนสาธิต ม.ร.(ฝ่ายประถม) เปิดสอนระดับชั้น “อนุบาล” และชั้น “ประถม” ซึ่งเป็น “เด็กเล็ก” ที่ยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้

โดยเฉพาะนักเรียนชั้นอนุบาล ที่อายุเพียง 3-5 ขวบเท่านั้น ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่ง พ.ร.ก.บริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน กำหนดให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ต้องอยู่กับบ้าน

และการบังคับใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าว ยังคงมีผลอยู่จนถึงขณะนี้…

ดังนั้น การที่โรงเรียนสาธิต ม.ร.(ฝ่ายประถม) มีกำหนดการเปิดเรียนในวันที่ 1 มิถุนายน จะถือเป็นการ “ฝ่าฝืน” พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือไม่ ??

อีกทั้ง ยังเป็นการ “เพิกเฉย” ต่อความเห็นร่วมของ ที่ประชุมผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต 96 แห่ง ในสังกัดมหาวิทยาลัย ที่มี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้

ที่มีความเห็นร่วมกัน ให้เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ในวันที่ 1 กรกฎาคม พร้อมๆ กับโรงเรียนในสังกัด ศธ.หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ภายหลังพ่อแม่ และผู้ปกครอง เข้าไปตั้ง “คำถาม” ถึง “ผู้อำนวยการ” โรงเรียนสาธิต ม.ร.(ฝ่ายประถม) อย่างดุเดือดบนโลกโซเชียล ทางผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต ม.ร.(ฝ่ายประถม) ได้ออกมาชี้แจงผ่านเพจดังกล่าวว่า “นัดร้านมาตัดเสื้อแล้ว เดี๋ยวตัดเสื้อไม่ทัน ไม่มีการเลื่อนเปิดวันอื่นๆ อีกแล้ว”

ทำให้เกิด “คำถาม” ตามมาจากผู้ปกครองอีกมากมาย อาทิ
“ไม่เลื่อนเป็น 1 กรกฎาคมหรือ?”,
“มาตรการรับมือมีอะไรบ้าง?”,
“ขอแผนของโรงเรียนในการรับมือ covid-19?”
“สามารถ drop เรียนปีนี้ก่อน? เข้าเรียนปีหน้าเลยได้หรือไม่ครับ? เป็นห่วงลูกครับ”
“ไม่เห็นด้วยค่ะ ขนาดตอนไข้หวัดใหญ่ระบาดยังมีปัญหามากมาย แต่โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ยังไม่ไว้ใจให้ลูกๆ ออกจากบ้านค่ะ… ช่วยพิจารณาเลื่อนเปิดเทอมตามรัฐบาลประกาศอีกทีจะดีกว่านะคะ”
“ขอทราบรายละเอียด … และความรับผิดชอบของทางโรงเรียน กรณีที่มีเด็กติดเชื้อจากโรงเรียนด้วยนะคะ”
“ให้โรคมันหมดก่อนเถอะค่ะ… ใครจะกล้าให้ลูกไปเสี่ยงกับโรคร้ายคะ (เด็กนะคะดูแลยากมาก) ขนาดทั้งประเทศยังควบคุมไม่ได้เลยค่ะ… น่ากลัวมากๆๆๆ”

นอกจากนี้ ยังมีผู้ปกครองตั้งคำถามถึงผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต ม.ร.(ฝ่ายประถม) อาทิ
“โรงเรียนไกลกังวล มีการศึกษา online เช่นเดียวกับโรงเรียน ตชด.? ถ้าเรามีบ้างก็พัฒนาขึ้นตามสถานการณ์”
“เรื่องชุดนักเรียน? เด็กหลายประเทศ ความฉลาดไม่ได้ขึ้นดับชุดนักเรียน? ถึงตัดไม่ทัน ก็ไม่ต้องใส่ใจช่วงนี้ได้”
“โรงเรียนไม่สามารถรับมือกับ covid-19 ได้แน่นอน ถ้ามีครอบครัวเด็กเป็น 1 คน… สุดท้ายก็ต้องให้เด็กหยุดทั้งโรงเรียน อย่างน้อยครึ่งเดือน?…”
“ไม่มีใคร แม้กระทั่งประกันสุขภาพ จะรับรองเรื่องปอด !!! ถ้าเด็กติดเชื้อ !!! เพราะตัวยาจะทำลายปอด … แปลว่า ถึงหายจากโรคนี้ โอกาสเป็นโรคอื่นก็ตามมา? แล้วค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็เกิดขึ้น + การลาเรียน ขอผู้บริหารพิจารณาอีกครั้งค่ะ…”
“…สาธิต เป็นโรงเรียนที่คนส่วนใหญ่ให้ทัศนคติว่าสร้างเด็กเก่ง คนเก่งประเทศ แต่สาธิตก็ขึ้นชื่อ เรื่องการปรับหลักสูตรให้เหมาะต่อปัจจุบัน และอนาคตเช่นกัน”

ขณะที่ รศ.นพคุณ คุณาชีวะ รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและวางแผน ม.ร.ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต ม.ร.(ฝ่ายประถม) ได้โต้ตอบผู้ปกครองผ่านเฟซบุ๊ก “Noi Knoppakun” ว่า “รอจดหมายของโรงเรียนค่ะ โรงเรียนเปิดเรียนเพราะสถานการณ์ดีขึ้นมากแล้ว และโรงเรียนได้ทำความสะอาดด้วยการที่มหาวิทยาลัยมาพ่นยาฆ่าเชื้อให้ตลอด ก่อนเปิดภาคก็จะทำอีก การที่เปิดเรียนนั้น เรามีมาตรการรองรับ รอจดหมายโรงเรียนค่ะ เราไม่อยากให้เด็กเรียนตลอดปีโดยไม่มีวันหยุด ขอให้ผู้ปกครองดำเนินการตามที่โรงเรียนแจ้งแล้วกันนะคะ”

และ “โรงเรียนไม่ได้สังกัดกระทรวงศึกษาฯ ค่ะ แจ้งเปิดเทอม 1 มิถุนายน ตามกำหนดเดิม เรื่องมาตรการเตรียมไว้แล้วค่ะ”

ก่อนจะชี้แจงอย่างเป็นทางการว่า โรงเรียนตระหนักถึงสวัสดิภาพของนักเรียน จึงได้กำหนดมาตรการต่างๆ ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด แต่หากใกล้เปิดเรียนวันที่ 1 มิถุนายน สถานการณ์ยังรุนแรง ทางโรงเรียนก็พร้อมเลื่อนเปิดภาคเรียนออกไป

สำหรับมาตรการที่โรงเรียนจะดำเนินการ อาทิ มีจุดคัดกรองอาการเจ็บป่วย วัดอุณหภูมิ ให้ผู้ปกครอง และนักเรียนใส่หน้ากากอนามัย จัดที่นั่งเรียนให้มีระยะห่าง รวมถึง จัดให้นักเรียนเลขที่คู่ มาเรียนในวันคู่ และเลขที่คี่ มาเรียนในวันคี่ ส่วนวันหยุดจะมอบหมายงานให้กลับไปทำที่บ้าน เป็นต้น

ทั้งนี้ คำชี้แจงของผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่ได้ทำให้ผู้ปกครองคลายความกังวล เพราะช่วงปิดภาคเรียน เด็กกระจายไปทั่วประเทศ กลับมามั่นใจได้อย่างไรว่าไม่มีเด็กแม้แต่คนเดียวมีเชื้อแฝงมา

อีกทั้ง ไม่ใช่เด็กทุกคนเดินทางโดยรถส่วนตัว 100% เด็กบางส่วนยังเดินทางโดยรถสาธารณะ เสี่ยงติดเชื้อทั้งผู้ปกครอง และเด็ก ยิ่งเข้าสู่หน้าฝน เชื้อยิ่งอยู่ได้ยาว หากคนใดคนนึงติด อาจกระจายเป็นวงกว้าง

ที่สำคัญ หาก “เด็กเล็ก” ติดเชื้อ ต้องแยกไปรักษาคนเดียวเกือบเดือน คงกลายเป็นเรื่องใหญ่โต เพราะเด็กๆ คงไม่เข้าใจเรื่องการรักษาระยะห่าง หรือ social distancing และคงไม่สามารถใส่หน้ากากอนามัยนั่งเรียนได้ทั้งวี่ทั้งวัน

ทำให้ผู้ปกครองบางส่วน เตรียมนำข้อมูลเข้าร้องเรียน ศบค.

ปัญหาดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการ อว.นายสุวิทย์ ระบุว่า อว.ไม่สามารถสั่งการได้ ทำได้เพียงขอความร่วมมือ ซึ่งเดิมที่เคยซักซ้อมความเข้าใจกับโรงเรียนสาธิตทั่วประเทศ มีความเห็นสอดคล้องกันว่า จะเปิดเทอมพร้อมกับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คือวันที่ 1 กรกฎาคม หรือถ้าเปิดก่อน จะปูพื้นฐานโดยเรียนผ่านระบบออนไลน์

การประชุมครั้งนั้น ว่ากันว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต ม.ร.(ฝ่ายประถม) ก็เป็น 1 ในผู้บริหารที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต ม.ร.(ฝ่ายประถม) “เปลี่ยนใจ” และมีนโยบายให้เปิดภาคเรียนเร็วขึ้น ก็ยังเป็น “ปริศนา” คาใจ ที่สร้างความกังวลใจให้กับผู้ปกครอง และผู้บริหาร ม.ร.เองด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางกรมควบคุมโรค สธ. นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัญหานี้เป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก เพราะกลุ่มเด็ก หากติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่แทบไม่มีอาการเลย ประมาณ 40% มีอาการไข้ ครึ่งหนึ่งมีอาการไอ ไม่ว่าโรงเรียนจะคัดกรองอย่างไร จะมีเด็กติดเชื้อเข้าโรงเรียนไปได้เยอะอยู่ดี ซึ่งเด็กที่ติดเชื้อเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดการระบาดเงียบ (silent outbreak) ในโรงเรียนได้ และลักษณะของโรงเรียนมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง และด้วยอาการที่น้อย อาจทำให้การแพร่ระบาดเกิดขึ้นได้รวดเร็ว โดยที่คุณครู และผู้ปกครอง อาจตรวจจับไม่พบ

สิ่งที่น่ากลัวคือ หากระบาดในกลุ่มเด็ก จะมีผลกระทบในสังคม เช่น ครู พ่อแม่ ผู้สูงอายุ ที่ติดเชื้อจากเด็ก ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมาหารือกันอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในสถานศึกษา

“เด็กติดเชื้อ เด็กไม่เป็นอะไรมากนัก เนื่องจากอาการไม่รุนแรง แต่ถ้าผู้ใหญ่ ครู พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ติดเชื้อจากเด็ก อาจมีอาการรุนแรงได้ในสัดส่วนที่มากกว่า โดยเฉพาะผู้สูงอายุ อาจมีอาการรุนแรง และเสียชีวิตได้มากกว่า นั่นหมายความว่า ต้องพยายามอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันไม่ไห้เด็กติดเชื้อ และป้องกันไม่ให้มีการระบาดในโรงเรียน ไม่ใช่เพื่อปกป้องเด็ก แต่เพื่อปกป้องผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกับเด็กๆ”

นอกจากนี้ ยังต้องจัดระบบป้องกันควบคุมโรคในโรงเรียน จัดให้เด็กนั่งห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร อาจต้องลดจำนวนนักเรียนต่อห้องลง ควรให้เด็กใส่หน้ากากผ้าตลอดเวลาที่อยู่โรงเรียน ซึ่งจะมีปัญหากับเด็กเล็ก หรือเด็กอนุบาล จะต้องปรับกระบวนการเรียนการสอน และกิจกรรมใหม่ เพื่อลดโอกาสที่จะให้เด็กเล่น หรืออยู่ใกล้ชิดกัน รวมถึง การจัดการกับเด็กเล็กมากๆ

ขณะที่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ฟันธงว่า สำหรับกลุ่มกิจกรรที่ทำให้เกิดความเสี่ยงสูง หากผ่อนคลายเปิดปกติแล้ว อาจมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สูง คือ โรงเรียน มหาวิทยาลัย บาร์ กีฬาในร่มในที่ปิด กีฬากลางแจ้งบางชนิด การจัดประชุมในห้องปิด ฯลฯ

โดยเฉพาะ “โรงเรียน” และ “มหาวิทยาลัย” เพราะมีผลกระทบสูง หากเด็กติดเชื้อ จะเกิดแพร่กระจายอย่างรุนแรง ทั้งในโรงเรียน และที่บ้าน การผ่อนคลายต้องชะลอลง อย่ารีบร้อนเกินไป และมีมาตรการควบคุมจนแน่ใจ ว่าสามารถควบคุมการแพร่กระจายของโรคได้

ขณะที่ นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า อยู่ระหว่างติดตามโรงเรียนสาธิตดังในกรุงเทพฯ ที่ประกาศว่าเปิดเรียนในวันที่ 1 มิถุนายน รวมถึง โรงเรียนอื่นๆ ถ้าหากมีแผนที่จะเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 มิถุนายน โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร จะประเมินสถานการณ์เป็นช่วงๆ หากในระยะนั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ดีขึ้น กทม.จะพิจารณาออกคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด

ต้องติดตามว่า ผู้บริหารโรงเรียนสาธิต ม.ร.(ฝ่ายประถม) จะ “ยอมถอย” เพื่อแลกกับความ “ปลอดภัย” ของเด็กๆ…

หรือจะ “ดันทุรัง” ต่อไป โดยไม่สนเสียงคัดค้านด้วยความเป็นห่วงเป็นใยในชีวิตลูกหลาน…

และหากมีนักเรียนติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมา คิดว่าจะรับผิดชอบไหวหรือไม่ ??…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image