ห่วง ‘ผอ.-น.ร.’ ขัดแย้ง ‘ทรงผม’ เสมา 1 เชื่อผู้บริหาร ‘เข้าใจ-ยืดหยุ่น’

ห่วง ‘ผอ.-น.ร.’ ขัดแย้ง ‘ทรงผม’ เสมา 1 เชื่อผู้บริหาร ‘เข้าใจ-ยืดหยุ่น’

ทรงผมนักเรียน – เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยกรณีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 โดยกำหนดให้นักเรียนชาย และหญิงไว้ผมยาวได้ เพื่อคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ห้ามดัด ย้อม หรือไว้หนวดเครา โดยการออกกฎระเบียบทรงผมของนักเรียน ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา ชุมชน ผู้ปกครอง และนักเรียน ว่า ที่หลายฝ่ายกังวลว่าถ้าผู้อำนวยการโรงเรียนอนุรักษนิยม จะมีปัญหาขัดแย้งนั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ทุกคนต้องเข้าใจบริบทของโลก ว่าปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว หลายประเทศเห็นความสำคัญเรื่องอิสระทางความคิดของนักเรียน แต่ตนคิดว่าเรื่องนี้บริหารจัดการได้ ว่าจะออกกฎระเบียบอะไรมาสร้างระเบียบวินัยสำหรับนักเรียน เช่น ถ้านักเรียนผมยาว แต่รักษาระเบียบวินัยทุกอย่าง โรงเรียนจะรับได้หรือไม่ ส่วนนักเรียนผมสั้น แต่ไม่มีวินัยในการเข้าเรียน ไม่มีความรับผิดชอบ โรงเรียนจะแก้ปัญหาอย่างไร เป็นต้น

“เหล่านี้ต้องมาดูว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะสม ที่จะสร้างระเบียบวินัยให้นักเรียน ผมเห็นความสำคัญของระเบียบวินัย แต่กฎระเบียบต่างๆ ต้องดูความเหมาะสมของสถานการณ์ปัจจุบันด้วย ผมเชื่อมั่นดุลพินิจของผู้บริหาร ที่จะยืดหยุ่นเรื่องทรงผมนักเรียน ว่าอะไรเหมาะสม หรือไม่เหมาะสม” นายณัฏฐพลกล่าว

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ระเบียบนี้ยึดหลักเกณฑ์สำคัญ 2 เรื่อง คือ สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก และการมีส่วนร่วม ซึ่งสอดคล้องกับโลกที่เป็นสากล แต่ขณะที่ระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะสถานศึกษา และผู้บริหาร คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครอง อยู่ในโลกอนุรักษนิยม และโลกที่ติดกรอบ ทำให้วิธีการจัดการจะติดกรอบไปด้วย กลายเป็นว่าระเบียบฉบับนี้มีทั้งความเป็นสากล และอนุรักษนิยม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การให้เด็กเป็นศูนย์กลางในมิติการศึกษา ไม่ค่อยได้รับการยอมรับในระบบการศึกษามากเท่าที่ควร เพราะมองว่าเรียกร้องสิทธิเกินไป และเป็นแนวคิดของตะวันตกมากกว่า ดังนั้น การเรียกร้องสิทธิมนุษยชนจึงกลายของแสลงในวงการศึกษา

“ดูเหมือนระเบียบนี้ยึดเรื่องสากล และสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก แต่ในทางปฏิบัติ ยังมอบอำนาจให้ผู้บริหารสถานศึกษา สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความขัดแย้ง ระหว่างกลุ่มเด็กที่เรียกร้องสิทธิ ความเป็นอิสระ และเสรีภาพในเรื่องเหล่านี้ ขณะที่ผู้อำนวยการ และคณะกรรมการบริหารสถานศึกษา จะยึดกฎ กรอบ และแนวทางปฏิบัติเช่นเดิม ระเบียบนี้แม้จะทำให้เกิดการผ่อนปรนมากขึ้น แต่จะสร้างความขัดแย้ง เกิดการประท้วงมากขึ้นในเวลาเดียวกัน” นายสมพงษ์กล่าว

Advertisement

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ มีประเด็นการตีความเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การตีความที่แตกต่างกัน จะนำมาซึ่งความขัดแย้งแน่นอน นักเรียนอาจตีความว่ามีสิทธิเสรีภาพในการไว้ผมยาว แต่อีกกลุ่มตีความว่าแม้ให้สิทธิ แต่มีกรอบ ความดีงาม และความเหมาะสมของวัฒนธรรมไทยด้วย ดังนั้น ถ้า ศธ.ไม่อธิบายเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก ให้ผู้อำนวยการ คณะกรรมการบริหารสถานศึกษา และครู เข้าใจอย่างถ่องแท้ จะเกิดความวุ่นวาย

“การเปลี่ยนระเบียบครั้งนี้ดี แต่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการมีส่วนร่วมของนักเรียนให้ผู้เกี่ยวข้องด้วย ถ้าเปลี่ยนวิธีคิดของผู้บริหาร และครูได้ จะทำให้การทำตามระเบียบนี้ราบรื่น และทำให้นักเรียนมีเวทีแสดงออก ถ้าไม่เปลี่ยน ศธ.ต้องเตรียมรับมือกับการประท้วง เรียกร้อง แสดงความไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้” นายสมพงษ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image