‘ณัฏฐพล’ ปลื้ม ‘ยูนิเซฟ-ยูเนสโก’ ชื่นชมแนวทางไทยจัดการศึกษาช่วงโควิด-19 ระบาด

‘ณัฏฐพล’ ปลื้ม ‘ยูนิเซฟ-ยูเนสโก’ ชื่นชมแนวทางไทยจัดการศึกษาช่วงโควิด-19 ระบาด

โควิด-19 – เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือเรื่องการจัดการศึกษาในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ร่วมกับผู้แทนองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ และองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ซึ่งทั้ง 2 องค์กรได้ติดตามการจัดการศึกษาของ ศธ.และมีข้อมูลจากประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ ตนได้อธิบายถึงที่มาของมาตรการดำเนินการจัดการศึกษาในช่วงสถานการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งยูเนสโก และยูนิเซฟ เข้าใจ และชื่นชมว่า ศธ.มีความตั้งใจปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง และวิกฤตนี้คือโอกาสในการดำเนินการหลายๆ อย่าง ที่ต้องผลักดัน ปรับการศึกษา ทำความเข้าใจร่วมกันว่าไทยกำลังจะเดินไปในทิศทางใด

“โดยทั้งยูเนสโก และยูนิเซฟ อยากลงพื้นที่กับ ศธ.เพื่อดูรายละเอียด โรงเรียนในหลายรูปแบบ ไม่ใช่เฉพาะโรงเรียนสายสามัญ แต่รวมถึงสายอาชีพด้วย ส่วนตัวชี้แจงว่าในการเสนองบประมาณเพื่อฟื้นฟูประเทศ ของ ศธ.ที่ตรงเป้าการฟื้นฟูมากที่สุด น่าจะเป็นการพัฒนาอาชีวศึกษา ซึ่ง ศธ.มีแผนในการดำเนินการไว้แล้ว” นายณัฏฐพล กล่าว

นายณัฏฐพลกล่าวต่อว่า หลายอย่างที่ ศธ.ใช้ในการตัดสินใจเรื่องการจัดการศึกษาเกิดจากการลงพื้นที่จริง และขณะนี้หลายอย่างอาจต้องปรับเปลี่ยน เพราะพอเอาเข้าจริง การดำเนินการไม่เหมือนอย่างที่คิด เช่น การเรียนผ่านโทรทัศน์ทางไกล ที่คิดว่าเป็นสื่อที่ไม่มีค่าใช้จ่าย หากจำเป็นต้องทำการเรียนการสอนผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่ใช่ที่โรงเรียน แต่ปรากฏว่าผู้ปกครองกว่า 70% ไม่ได้เรียนผ่านโทรทัศน์ กลับใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในการรับชมแทน ซึ่ง ศธ.ประเมินสถานการณ์ไว้บ้าง แต่ไม่คิดว่าจะมากขนาดนี้ ตรงนี้ต้องปรับแนวทาง

นายณัฏฐพลกล่าวอีกว่า สุดท้ายเป็นเรื่องที่ต้องมีค่าใช้จ่าย แต่คงไม่รีบดำเนินการ เพราะคิดว่าการเรียนการสอนที่โรงเรียนน่าจะเป็นหลัก เท่าที่ดูโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองกลับมีข้อกังวลกับการรักษาความปลอดภัยตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพราะมีนักเรียนจำนวนมาก ดังนั้น แผนในการจัดการโรงเรียนในช่วงวิกฤต ต้องเข้มงวด และเข้มข้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบรอบด้าน

Advertisement

“ส่วนแผนการเปิดภาคเรียนวันที่ 1 กรกฎาคมนั้น ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันมองว่าการเวียนเรียน เป็นแนวทางที่ต้องนำมาพิจารณามากที่สุด ส่วนจะเวียนอย่างไร ให้เป็นอำนาจของผู้อำนวยการสถานศึกษาในการพิจารณาตัดสินใจตามบริบทของพื้นที่ ผมคิดว่าผู้บริหารโรงเรียน และครู สามารถหาทางออกได้ แต่ขณะเดียวกันต้องมีความกล้าตัดสินใจในหลายเรื่อง” นายณัฏฐพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image