ซัด 4 กม.ไม่พูดถึง ‘คุณภาพศึกษา’ ปธ.กพฐ.หนุนยุบ ‘ศธภ.’ ชี้ซ้ำซ้อน ค้าน ‘ตั้งอาชีวะจังหวัด-โละ กมว.’

ซัด 4 กม.ไม่พูดถึง’คุณภาพศึกษา’ ปธ.กพฐ.หนุนยุบ’ศธภ.’ ชี้ซ้ำซ้อน ค้าน’ตั้งอาชีวะจังหวัด-โละ กมว.’

นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายสุรวาท ทองบุ เป็นประธาน เตรียมเสนอให้ กมธ.การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา 4 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู และร่าง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน

โดยสาระสำคัญส่วนหนึ่ง อาทิ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ แก้ไขในส่วนที่เป็นข้อขัดแย้ง คงให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ไม่ใช้ใบรับรองความเป็นครู ไม่มีนิยาม “ครูใหญ่” มีนิยาม “ผู้บริหารสถานศึกษา” แทนร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ มีสาระสำคัญเพิ่มเติม อาทิ ปรับปรุงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใหม่ ยกเลิกสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) คงศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา (สพป.) ให้มีสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา (สพม.) ทุกจังหวัด และมีสถาบันอาชีวศึกษาประจำจังหวัดทุกจังหวัด ร่าง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา เปลี่ยนชื่อเป็นร่าง พ.ร.บ.สภาครู ยกเลิกคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) แล้วใช้อนุกรรมการที่คณะกรรมการคุรุสภาแต่งตั้งปฏิบัติหน้าที่แทน กมว. ลดขั้นตอนและความซ้ำซ้อนของการปฏิบัติงาน เป็นต้น นั้น

นายเอกชัยกล่าวว่า ภาพรวมเห็นด้วย เพราะอยากเห็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อให้การทำงานในหลายๆ เรื่องมีความคล่องตัว ส่วนในรายละเอียดใด หากมีปัญหา ค่อยหาทางแก้ไขระหว่างทางได้ ส่วนกรณีที่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับของ กมธ.พิจารณาศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาฯ ปรับแก้ร่างฉบับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) โดยเฉพาะกลับมาใช้ใบอนุญาตฯ แทนใบรับรองฯ และใช้นิยาม ผู้บริหารสถานศึกษาแทน ครูใหญ่ นั้น ส่วนตัวไม่มีปัญหา แม้ก่อนหน้านั้นจะเห็นด้วยที่ให้ปรับ เพราะร่างฉบับเดิม คำนึงถึงจิตวิญญาณความเป็นครู หากเป็นประเด็นให้เกิดความไม่สบายใจ ก็สามารถปรับแก้ได้ ไม่มีปัญหา แต่เรื่องสำคัญที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ไม่ได้เอ่ยถึง คือ คุณภาพการศึกษา หากมีปัญหา จังหวัดควรต้องรับผิดชอบ ส่วนการตั้งอาชีวศึกษาจังหวัดทุกจังหวัดนั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะจะยิ่งทำให้การศึกษาแยกขาดออกจากกัน ทั้งที่การศึกษาระดับสามัญ และอาชีวศึกษา ควรเชื่อมต่อเพื่อให้เกิดคุณภาพ

“จริงๆ แล้ว การศึกษาต้องคิดภาพรวม จังหวัดต้องรับผิดชอบ ลงมาดูภาพรวมการศึกษาของจังหวัด ซึ่งเท่าที่ดูในร่าง พ.ร.บ.ของ กมธ.ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ แต่พยายามจะนำทุกอย่างไปลงที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ซึ่งยังอิงกับอำนาจเดิม เห็นได้จากเสนอให้เพิ่ม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ทุกจังหวัด ส่วนที่เสนอให้ยุบ ศธภ. นั้น ส่วนตัวเห็นด้วยที่ควรต้องมีการปรับเปลี่ยน เพราะการทำงานค่อนข้างซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ซึ่งดูแลภาพรวมการศึกษาอยู่แล้ว อีกทั้งที่ผ่านมาก็ต้องให้ผู้ตรวจราชการ ศธ. ไปรักษาการดูแล ศธภ.อยู่แล้ว ดังนั้น หากไม่มี ศธภ. และให้ผู้ตรวจราชการ ศธ. ไปดูแลการจัดการศึกษาในภาคต่างๆ ก็น่าจะมีแนวทางเป็นไปได้” นายเอกชัยกล่าว

Advertisement

นายเอกชัยกล่าวต่อว่า ส่วนที่ร่าง พ.ร.บ.สภาครูฯ เสนอให้ยุบ กมว.นั้น อย่างแรกขอให้พิจารณาหลักการของ พ.ร.บ.สภาครูฯ ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลจรรยาบรรณวิชาชีพครู ซึ่ง กมว.มีหน้าที่กลั่นกรองดูแลในเบื้องต้น จะยกทุกอย่างให้เป็นงานของคณะกรรมการคุรุสภา คงเป็นไปไม่ได้ ส่วนจะให้ตั้งเป็นคณะอนุกรรมการฯ ทำหน้าที่แทน กมว. ก็จะทำให้ความน่าเชื่อถือของผู้กำกับดูแลจรรยาบรรณวิชาชีพครู ซึ่งเป็นงานสำคัญลดน้อยลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image