‘นักโบราณคดี’ ไขปม ‘โบราณสถาน’ ขึ้นทะเบียนหรือไม่ ใครทำลายก็มีโทษ ชี้ รื้อวันเดียว พังหลักฐานปวศ.100 ปี

สืบเนื่องกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลังการทุบอาคารไม้เก่าแก่ของบริษัทบอมเบย์เบอร์มา จังหวัดแพร่ อายุกว่า 120 ปี (อ่านข่าว ช็อก! ผู้รับเหมาทุบอาคารบอมเบย์เบอร์มา 120ปี อนุสรณ์ค้าไม้เมืองแพร่ ชาวบ้านข้องใจทำไมต้องทุบ)

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ซึ่งดูแลแหล่งโบราณสถานใน 8 จังหวัดทางภาคเหนือ กล่าวถึงประเด็นข้อถกเถียงในการเป็นโบราณสถานของอาคารว่า โดยกฏหมายกำหนดว่า อาคารที่มีความพิเศษในลักษณะรูปแบบแห่งการก่อสร้าง ถือเป็นโบราณสถาน ความสำคัญของข้อนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาด ความอลังการ แต่ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของอาคารนั้นที่สะท้อนช่วงเวลา เรื่องราว และบริบททางสังคม อาทิ อาคารในสมัยรัชกาลที่ 5-6 ที่มีผนังหนา กล่าวคือ หนาประมาณ 40-60 เซนติเมตร เพราะอาคารยุคนั้นยังไม่มีระบบคาน แต่ใช้ผนังรับน้ำหนัก จึงเป็นตัวแทนของยุคสมัยและวิวัฒนาการบ้านเมืองในการก่อสร้างได้ ในเชียงใหม่ที่มีอาคารลักษณะนี้ อาทิ หอศิลป์สามกษัตริย์ ศาลแขวงเชียงใหม่เดิม เรือนจำหญิงเชียงใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นในยุคเดียวกันราว พ.ศ.2451-2462 ถือเป็นโบราณสถาน

นอกจากนี้ อีกข้อบ่งชี้คือ ‘ประวัติแห่งอสังหาริมทรัพย์’ กล่าวคือ ถ้าอาคารนั้นมีประวัติศาสตร์ มีความสำคัญไม่ว่าจะเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับบ้านเมืองหรือความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือตัวบุคคล อาคารนั้นก็เข้าเกณฑ์ความเป็นโบราณสถานได้ ที่สำคัญ แม้เพียงเข้าเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งก็อาจเป็นโบราณสถานที่กฏหมายคุ้มครองได้ ดังนั้น หากไม่แน่ใจว่าอาคารนั้นเป็นโบราณสถานหรือไม่ ให้ลองใช้หลักการกว้างๆดังกล่าวพิจารณาดูเพื่อความรอบคอบ

“ในส่วนของโบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียน มักไม่เป็นปัญหา เพราะมีรายการในสารระบบชัดเจนอยู่แล้ว แต่โบราณสถานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน กฏหมายให้นิยามโบราณสถานไว้ว่า ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีเกณฑ์ 3 ข้อหลักที่ใช้พิจารณา คือ 1.อายุ 2.ลักษณะ 3.ประวัติ แห่งอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของชาติบ้านเมือง กฏหมายมิได้กำหนดอายุโบราณสถานเป็นตัวเลข เพราะกฏหมายเล็งเห็นช่องว่างที่ทำให้เกิดการทำลายโดยกฏหมายไม่สามารถปกป้องได้ เช่น ถ้ากฏหมายกำหนดว่าโบราณสถานต้องอานุ 100 ปี ขึ้นไป หากวันที่มีการรื้อทำลายโบราณสถาน อาคารมีอายุ 99 ปี 364 วัน กฏหมายไม่สามารถเอาผิดต่อการกระทำได้เนื่องจากอาคารมิได้อายุ 100 ปี กฏหมายจึงใช้คำกว้างๆว่า ‘โดยอายุสมัย’ ซึ่งอาจะเป็น 80, 90, 100 ปีหรือมากกว่านั้น ตามปัจจัยอื่นประกอบ” นายสายกลางกล่าว

Advertisement

นายสายกลางกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุฯ โบราณสถานไม่ว่าจะได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนหรือไม่ก็ตาม กฏหมายได้ให้การคุ้มครอง และกำหนดโทษต่อผู้กระทำผิดไว้ ซึ่งทั้งสองประเภทต่างกันเพียงบทกำหนดโทษ ที่กำหนดสำหรับผู้กระทำผิดต่อโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนทำให้เสียหายเสื่อมค่า มีโทษจำคุก 10ปี ปรับ 1ล้านบาท และโบราณสถานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน จำคุก 7 ปี ปรับ 700,000 บาท

“เรื่องโบราณสถาน ดูเผินๆอาจเหมือนเรื่องไกลตัว แต่จริงๆแล้ววนเวียนอยู่ในชีวิตผู้คนแบบที่ไม่ได้สังเกต ตึกแถวที่ท่านเป็นเจ้าของ อาคารหลังเก่าของโรงเรียน อาคารสำนักงานของรัฐหรือเอกชน แม้กระทั่งอาคารแปลกๆอย่างคุกเรือนจำ ก็อาจเป็นโบราณสถานได้ ไม่ว่าอาคารนั้นจะเป็นของรัฐหรือเอกชน ผู้คนโดยมาก แม้แต่ผู้ใช้กฏหมายเองยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับโบราณสถานว่า ต้องได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน จึงจะถือเป็นโบราณสถานที่กฏหมายคุ้มครอง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด การรื้อทำลายแม้เพียงวันเดียวก็สามารถทำลายสิ่งที่สั่งสมมาเป็นร้อยปีได้ ช้าเพื่อคิดไตร่ตรองซักนิด คงไม่ต้องมาเสียใจกันทีหลัง ไม่ต้องรอกรมศิลป์บอกว่าเก่า ถ้าท่านรู้ ท่านเห็นคุณค่า ท่านก็จะเก็บรักษาด้วยตัวของท่านโดยไม่ต้องหาข้ออ้าง
ข้ออ้างสำหรับการอนุรักษ์ควรอ้างเพื่อการรักษา มิใช่อ้างเพื่อหาทางทำลาย” นายสายกลางกล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image