ย้อนรอย “ยกเครื่อง…องค์การค้า” “ยุบ-แยก” จากสกสค. ทางไหนรอด ??

องค์การค้า

ย้อนรอย “ยกเครื่อง…องค์การค้า” “ยุบ-แยก” จากสกสค. ทางไหนรอด ??

มีกระแสยกเครื่องมาหลายระลอก สำหรับองค์การค้า ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) หวังปลดล็อกปัญหาต่าง ๆ ที่ค้างคามานาน ทั้งเรื่องสารพัดการทุจริตที่หมักหมมจนขาดสภาพคล่อง มีภาระหนี้สินมากกว่า 5.7 พันล้านบาท ยังไม่นับปัญหาฟ้องร้องที่เกิดขึ้นอีกหลายคดี

กระทั่งสมัยที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ขณะนั้น ตัดสินใจใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ยุบบอร์ดการบริหารองค์การค้าและบอร์ดสกสค.และบอร์ดคุรุสภา เดินเครื่องสางทุจริต ปฏิรูปโครงสร้าง ถึงขั้นเคยมีข้อเสนอให้ยุบองค์การค้า แต่ก็เกิดเสียงคัดค้าน จนต้องพับแนวคิดดังกล่าวไป

ตามด้วยการตั้งทีมทำแผนการปฏิรูป ยกเครื่อง แต่ก็ขาดความต่อเนื่อง เพราะช่วงเวลาดังกล่าว มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปลี่ยนรัฐมนตรี ศธ. หลายรอบ

มาถึงยุค นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการศธ. ดูเหมือนว่าการแก้ปัญหาทุจริต หลาย ๆ เรื่อง จะแผ่วลง แต่ก็มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด ซึ่งนายณัฏฐพล ระบุตั้งแต่ช่วงแรกที่เข้ามารับตำแหน่งว่า เป็นนักบริหารมืออาชีพ มาจากคนนอก ไม่มีคนในศธ. มีหน้าที่เข้ามาดูปัญหาที่เกิดขึ้น ภายในองค์การค้า 3 เรื่องหลัก คือ การบริหารจัดการขั้นตอนการผลิต เรื่องทรัพย์สินที่ต้องดูแล และหนี้สินที่ต้องบริหารจัดการ

Advertisement

แต่ก็ยังไม่เห็น หน้าตาแผนแก้ปัญหา หรือ ปรับโครงสร้าง ที่เป็นรูปธรรม

แม้กระทั่งการสรรหาผู้อำนวยการองค์การค้าฯ เลขาธิการสกสค และเลขาธิการคุรุสภา ตัวจริง ที่ร้างมานานกว่า 6 ปี ก็ยังไม่มีวี่แวว !!

มาเป็นเรื่องอีกครั้ง เมื่อ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ตัดโควต้าพิมพ์หนังสือเรียนลง ทำให้ปีการศึกษา 2563 ที่ผ่านมา องค์การค้าฯ สูญเสียรายได้จากการพิมพ์หนังสือเรียนกว่า 890 ล้านบาท ให้แก่โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย ซึ่งได้รับโควตาจัดพิมพ์ไปแทน

Advertisement

ส่วนปีการศึกษา 2564 ก็ยังต้องลุ้นว่า สสวท.จะคืนโควต้าจัดพิมพ์หนังสือเรียนให้องค์การค้าฯ 100% หรือไม่
วิกฤตทั้งหมด ส่งผลให้ขาดสภาพคล่อง ขาดความน่าเชื่อถือ จนถึงขั้นเกือบไม่มีงบจ่ายเงินเดือนพนักงาน ใครมารับไม้บริหารต่อก็ต้องปวดหัวไปตามๆ กัน

มาเป็นกระแสอีกครั้ง เมื่อคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุรวาท ทองบุ เป็นประธาน เสนอให้ กมธ.การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร พิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา โดยในส่วนของร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และร่างพ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. … มีข้อเสนอให้โอนมาเป็นหน่วยงานในกำกับของ ศธ. เรียกชื่อใหม่ว่า “องค์การค้า ศธ.”

แม้กฎหมายจะยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่ข้อเสนอนี้ ก็สร้างแรงกระเพื่อมให้คนในศธ. โดยเฉพาะผู้ที่เคยสัมผัสกับการทำงานภายในองค์การค้าฯ โดยตรง

อย่าง นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้า ของสกสค. บอกทันทีว่า ส่วนตัวเห็นด้วย เพราะหากองค์การค้าฯ ยังอยู่ภายใต้การกำกับของ สกสค.จะเหมือนเตี้ยอุ้มค่อม พากันล่มจม

“ขณะนี้องค์การค้าฯ มีหนี้สินค่อนข้างมาก ต้องยืมเงินของ สกสค.ไปใช้ในการหมุนเวียน ขณะที่สกสค.ก็มีหน้าที่ดูแลสวัสดิการเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา หากดึงเงินกันไปมา อาจทำให้ขาดสภาพคล่องทั้ง 2 ส่วน ดังนั้นจึงควรให้องค์การค้าฯ แยกตัวออกจาก สกสค.เพื่อความคล่องตัว” นายดิศกุล กล่าว

ขณะที่ นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(กช.) และอดีตปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. เห็นคล้ายกันว่า องค์การค้าฯ เป็นองค์กรที่ทำธุรกิจค้าขาย ควรมีสถานะเป็นนิติบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของ ศธ.เพื่อให้คล่องตัว ไม่ใช่เหมือนทุกวันนี้ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สกสค.ซึ่งเป็นนิติบุคคลเหมือนกัน เวลายืมเงิน ก็หมุนอยู่ภายในนิติบุคคลเดียว บริหารจัดการยาก ไม่คล่องตัว อีกทั้ง หากต้องทำสัญญาเรื่องธุรกิจ ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะต้องได้รับอนุมัติจาก สกสค. ทั้งที่ความจริงแล้วองค์การค้าฯ ซึ่งทำเรื่องค้าขาย ควรมีอำนาจในการตัดสินใจได้เอง เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และสามารถแข่งขันกับคู่ค้ารายอื่นได้อย่างทันท่วงที

“ส่วนเรื่องปัญหาการทุจริตนั้น เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข และว่ากันไปตามกฎหมาย ไม่เกี่ยวข้องกับสถานะขององค์การค้าฯ” นายอรรถพล กล่าว

ด้าน นายนิวัติชัย แจ้งไพร ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา รอดูข้อดี ข้อเสีย เพราะยังไม่เห็นรายละเอียด แต่จนถึงขณะนี้ องค์การค้าฯ ก็ยังไม่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล ซึ่งหากแยกมาขึ้นตรงกับศธ. แล้ว ได้รับงบก็ถือเป็นเรื่องดี หากไม่ได้ ก็ควรให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านธุรกิจเข้ามาบริหาร เพราะขณะนี้องค์การค้าฯ ต้องแข่งขันกับเอกชน ที่มีอิสระบริหารงานได้อย่างคล่องตัว แต่องค์การค้าฯ ไม่มี ทั้งนี้หากส่งผู้ที่ไม่มีทักษะเข้ามาบริหาร สุดท้ายก็จะวนไปที่การทุจริต ยอมรับว่าองค์การค้าฯ มีช่องโหว่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงาน และเมื่อมีปัญหา ก็จะทิ้งทุกอย่างไว้ที่องค์การค้าและพนักงานที่ต้องรับผลกระทบ
คงต้องว่ากันอีกยาวกับแผนการปฏิรูปองค์การค้าฯ ไม่ว่าจะเป็นการแยกออกจากสกสค. ย้ายมาอยู่ภายใต้ ศธ. บริหารงานในรูปแบบนิติบุคคล เพราะตอนนี้การเมืองเองก็ยังฝุ่นตลบทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน แต่สุดท้ายหวังว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องจะหาทางแก้โจทย์ องค์การค้าฯ เพื่อประโยชน์ของนักเรียนและผู้ปกครองอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image