กางมาตรการ..สกัดโควิด-19 รับ ‘เปิดเทอมใหญ่’ 1 ก.ค.จัดห้องเรียนตามวิถี ‘นิว นอร์มอล’

กางมาตรการ..สกัดโควิด-19 รับ ‘เปิดเทอมใหญ่’ 1 ก.ค.จัดห้องเรียนตามวิถี ‘นิว นอร์มอล’

เปิดเทอม – แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศไทย จะมีแนวโน้มดีขึ้นมากแล้ว และไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นเวลานานติดต่อกันก็ตาม แต่อย่าประมาท เพราะการระบาดของเชื้อโควิด-19 รอบ 2 อาจเกิดขึ้นในไทยได้ทุกเมื่อ

เรื่องนี้ส่งผลกระทบให้การดำเนินชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป ต้องหันมาดำเนินชีวิตในรูปแบบ “นิว นอร์มอล” หรือ วิถีชีวิตรูปแบบใหม่ ทำให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ต้องหาแนวทางรับมือ หรือออกมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่นี้

สำหรับ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนในโรงเรียนใหม่ หลังมีนโยบายให้โรงเรียนในสังกัดของรัฐ และเอกชน เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ในวันที่ 1 กรกฏาคมนี้

ระหว่างนี้ ศธ.ได้ร่วมมือกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระราชูปถัมภ์ (ดีแอลทีวี) และกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัด 17 ช่องทีวีดิจิทัลให้ผู้เรียนทุกสังกัด ทดลองเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนจริง

Advertisement

ส่วนแนวทางการรองรับการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม ศธ.ได้วางมาตรการต่างๆ ไว้รองรับเช่นกัน โดยยึดคู่มือที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำมาตรการรองรับการจัดการเรียนการสอน ซึ่งขณะนี้ ศธ.ได้จัดทำมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในทุกสังกัดเรียบร้อยแล้ว และจะเสนอแผนดังกล่าว ให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดเล็ก พิจารณาในวันที่ 22 มิถุนายน ต่อไป

ทั้งนี้ แต่ละหน่วยงานใน ศธ.ได้จัดทำ “คู่มือ” ให้สถานศึกษาไปปฏิบัติ เพื่อเตรียมความพร้อมในวันเปิดภาคเรียนที่ 1 กรกฎาคม ดังนี้

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดทำ “แนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนใรสังกัด สพฐ.ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19” แจกจ่ายทุกโรงเรียนแล้ว ซึ่งโรงเรียนจะต้องประเมินความพร้อม โดยจะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมเสนอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสำนักงานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ และเสนอต่อที่ ศบค.จังหวัดพิจารณาอนุมัติต่อไป

Advertisement

โดยจะต้องแบ่งจำนวนนักเรียนต่อห้องใหม่ ในระดับชั้นประถมศึกษา จะต้องมีนักเรียนไม่เกิน 20 คนต่อห้อง ส่วนระดับชั้นมัธยมศึกษา ต้องมีนักเรียนไม่เกิน 25 คนต่อห้อง

ส่วน “รูปแบบ” การจัดการเรียนการสอน หากเรียนใน โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย จะจัดการเรียนการสอนแบบ 0n-Site คือ การเรียนที่โรงเรียนตามปกติ โดยจัดการเรียนการสอนตามมาตรการเว้นระยะห่าง และจะต้องได้รับการอนุมัติจาก กศจ.และ ศบค.จังหวัด การเรียนแบบออนแอร์ ซึ่งจะเรียนผ่านโทรทัศน์ และการเรียนผ่านออนไลน์ โดยเรียนผ่านอินเตอร์เน็ต และแอพพิเคชั่น เช่น ww.deep.go.th เว็บไซต์ดีแอลทีวี ยูทูบ เป็นต้น

โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่สีเขียว และสีเหลือง สามารถจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ โดยโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน เช่น การสลับชั้นมาเรียน แบบสลับวันเรียน แบบสลับวันคู่ วันคี่ สลับมาเรียนแบบเรียน 5 วัน หยุด 9 วัน สลับช่วงเวลามาเรียนของนักเรียนโดยให้เรียนทุกวัน หรือการสลับกลุ่มนักเรียน แบบแบ่งนักเรียนในห้องเรียนเป็น 2 กลุ่ม เป็นต้น ทั้งนี้ โรงเรียนสามารถออกแบบวิธีการจัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน

ส่วน “นักเรียน” ในวันที่เรียนในโรงเรียน จะต้องเว้นระยะห่างกัน 1-2 เมตร ส่วนในวันที่นักเรียนไม่ได้เรียนที่โรงเรียน ให้เรียนผ่านออนแอร์ และออนไลน์ ตามที่โรงเรียนกำหนด

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่มี นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ เมื่อเร็วๆ นี้ มีตัวแทนจากกรมควบคุมโรค เข้ามาให้คำปรึกษา และให้ความรู้ความเข้าใจเช่นกัน โดยกรมควบคุมโรคให้คำแนะนำว่า โรงเรียนควรจะมีคณะกรรมการที่กำกับดูแลโรคติดต่อ โดยมีครู ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการในโรงเรียน เป็นกรรมการ เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วม และสอดส่องดูแลนักเรียน หากพบนักเรียนที่แสดงอาการ หรือคาดว่าจะติดเชื้อโควิด-19 ให้ส่งโรงพยาบาลทันที อย่าส่งนักเรียนกลับบ้าน แม้โอกาสที่นักเรียนจะติดเชื้อมีเพียง 0.2% แต่เมื่อนักเรียนติดเชื้อโควิด-19 อาจจะแพร่กระจายไปยังผู้ปกครอง และชุมชนได้

ฟากฝั่ง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ออกมาตรการกำชับให้สถานศึกษาเตรียมความพร้อมรองรับเปิดเทอม พร้อมจัดทำ “คู่มือสำหรับสถานศึกษาในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข” โดยแบ่งเป็นระยะต่างๆ ดังนี้

การเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียน คือช่วงระหว่างนี้ไปจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม ให้สถานศึกษาทุกแห่งปฏิบัติตามคู่มือ โดยจัดอาคารสถานที่ ห้องเรียน ห้องเรียนรวม เช่น ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องสมุด ห้องประชุม หอประชุม สนามกีฬา โรงอาหารตามแนวปฏิบัติด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในคู่มือ

ในส่วนของสถานศึกษาอาชีวศึกษา ได้เพิ่มเติมในเรื่องของการจัดการห้องปฏิบัติการ หรือโรงฝึกงาน ต้องให้มีการระบายอากาศที่ดีภายในห้อง เช่น ประตู หน้าต่าง หลีกเหลี่ยงการใช้เครื่องปรับอากาศ ซึ่งหากจำเป็น ต้องให้ระบายอากาศทุกๆ 1 ชั่วโมง และทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ

รวมทั้ง การวางโต๊ะ เก้าอี้ เครื่องมือ อุปกรณ์ และวัสดุที่ใช้ในการฝึกปฏิบัติ ให้เว้นระยะห่าง หรือบริหารให้มีการเหลื่อมเวลาการฝึกกลุ่มย่อย ทำความสะอาดพื้นที่ปฏิบัติงาน และวัสดุอุปกรณ์ ต่างๆ เมื่อสิ้นสุดการใช้งาน ให้มีแอลกอฮอล์ หรือจุดล้างมือภายในห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ ต้องมีการคัดกรองนักเรียน นักศึกษา โดยอนุญาตให้นักเรียน นักศึกษาที่ผ่านการคัดกรองแล้วเท่านั้น ที่สามารถเข้ารับการฝึกปฏิบัติในห้องปฏิบัติการฯ โดยนักเรียน และนักศึกษา จะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย Face Shield และถุงมือ ขณะปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้จัดทำ “คู่มือแนวทางการบริหารจัดการสำหรับโรงเรียนเอกชน เพื่อฟ้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” เช่นกัน ซึ่งมีรายละเอียดตั้งแต่การประเมินความพร้อมก่อนเปิดเรียน โดยโรงเรียนต้องประเมินตนเองในการเตรียมความพร้อมก่อนปิดภาคเรียน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ควรคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของนักเรียนเป็นสำคัญ พิจารณาด้านสาธารณสุขโดยรวม เช่น ตรวจสอบสถานที่ ซ่อมแซม ปรับปรุง ทำความสะอาด อาคาร และอุปกรณ์การเรียนการสอน และจัดสถานที่เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล เช่น การเข้าแถว การเข้าคิว การจัดที่นั่งเรียน การจัดที่นั่งรับประทานอาหาร ตามมาตรการ เว้นระยะห่างทางกายภาพ โดยควรเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร

ส่วนการจัดห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ และสถานที่จัดกิจกรรมการเรียนการสอนอื่นๆ จัดโต๊ะ เก้าอี้ หรือที่นั่ง ให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1.5 เมตร จัดนักเรียนให้เข้าเรียนห้องละ 20-25 คน จัดเหลื่อมเวลาเรียนการเรียนกลุ่มย่อย หรือวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมตามบริบทสถานการณ์ และเน้นให้นักเรียนสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยขณะเรียนตลอดเวลา

เมื่อเปิดภาคเรียนแล้ว โรงเรียนต้องมีแนวปฏิบัติของโรงเรียนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และความปลอดภัยของนักเรียน บุคลากร ผู้ปกครอง ตามมาตรการ สธ.เช่น เมื่อนักเรียนมาถึงโรงเรียน ครูต้องดูแลให้นักเรียนใส่หน้ากากอนามัยทุกคน ให้นักเรียนเดินเป็นแถว ผ่านจุดคัดกรองของโรงเรียน จุดที่ 1 ผ่านกระบะที่มีน้ำยาฆ่าเชื้อ จุดที่ 2 วัดอุณหภูมิ จุดที่ 3 ล้างมือ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ มีการเว้นระยะห่างตามทางเดิน เป็นต้น

สำหรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ผู้บริหารโรงเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ร่วมกันวางแผนเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน บนพื้นฐานของความปลอดภัยของนักเรียน และบุคลากรในโรงเรียน ภายใต้ *”ความปกติใหม่”* โดยโรงเรียนต้องประเมินตนเอง พร้อมทั้งนำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนการสอนต่อ ศธจ.หรือสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด หรือ สช.แล้วแต่กรณี เพื่อเสนอขออนุญาตต่อ ศธจ.ที่โรงเรียนตั้งอยู่ พิจารณาเห็นชอบให้เปิดเรียน และดำเนินการจัดการเรียนการสอนได้

ทั้งนี้ รูปแบบการจัดการเรียนการสอนต่างๆ ที่ต้นสังกัดของสถานศึกษาต่างๆ ดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับ ศธ.ที่ได้กำหนดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียน 3 รูปแบบ คือ การสอนในชั้นเรียน การสอนระบบออนแอร์ผ่านโทรทัศน์ และการสอนผ่านระบบออนไลน์ โดยโรงเรียนสามารถจัดรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ของตนเอง เช่น หากจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน อาจกำหนดให้นักเรียนสลับวันมาเรียน เป็นต้น

ต้องจับตาว่า เมื่อสถานศึกษาทุกสังกัดเปิดเรียนเต็มรูปแบบในวันที่ 1 กรกฎาคม ในรูปแบบ “นิว นอร์มอล” แล้ว จะสามารถรับมือเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสกัดการแพร่ระบาดรอบ 2 ได้หรือไม่ !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image