ส่อง ‘กรุงเทพคริสเตียน’ 8 เดือน..ในกำมือ ‘กก.ควบคุมฯ’

ส่อง ‘กรุงเทพคริสเตียน’ 8 เดือน..ในกำมือ ‘กก.ควบคุมฯ’

กรุงเทพคริสเตียน – เป็นเวลาเกือบ 8 เดือนแล้ว ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการควบคุมโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาการบริหารจัดการภายใน และแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน ภายหลังเกิดเหตุความวุ่นวายภายในโรงเรียนเรื่อยมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา แทน “มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย” ผู้ได้รับใบอนุญาต

ซึ่งสืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย มีคำสั่งพักงาน นายศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผู้อำนวยการ และให้ นายวัชรพงษ์ อภิญญานุรังสี ผู้จัดการโรงเรียน พ้นจากหน้าที่ และแต่งตั้ง นายบรรจง ชมพูวงศ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียน และรักษาการแทนผู้อำนวยการโรงเรียน ด้วยข้อกล่าวหาเรื่องการจัดซื้อที่ดิน และกิจการโรงเรียนบึงกาฬคริสเตียน (โรงเรียนบึงกาฬพิทักษ์ศึกษา) ที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบ

จนมีการชุมนุมประท้วงคัดค้านจากนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และศิษย์เก่า ที่รวมกันภายใต้ชื่อกลุ่ม “Save BCC” นัดแต่งดำประท้วง ในเหตุการณ์การสั่งพักงาน และการให้พ้นจากหน้าที่ของผู้อำนวยการ และผู้จัดการที่ไม่เป็นธรรม ต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 4 เดือน และเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

อีกทั้ง การนำเงินของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ไปจัดซื้อที่ดิน และกิจการโรงเรียนบึงกาฬคริสเตียน ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในตราสารจัดตั้ง และรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการของโรงเรียน การใช้จ่ายเงินงบประมาณของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ ไม่เป็นไปตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555 ถือเป็นการดำเนินการที่ฝาฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย อาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่การดำเนินกิจการของโรงเรียน

Advertisement

ฉะนั้น เพื่อให้การดำเนินกิจการของโรงเรียนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่เกิดความเสียหาย หรือส่งผลกระทบต่อนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และประชาชน จึงสั่งให้โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ ในการควบคุมของ สช.

ซึ่งคณะกรรมการควบคุมฯ มีนายเรวัต ฉ่ำเฉลิม อดีตอัยการสูงสุด ประธาน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายวิชาชีพมาร่วมเป็นคณะกรรมการ อาทิ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายวันชัย ศิริชนะ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นายพรชัย มาตังคสมบัติ อดีตอธิบการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น เป็นกรรมการ

ทั้งนี้ นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) แจกแจงความคืบหน้าหลัง สช.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมฯ เข้าบริหารโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ที่ขณะนี้ผ่านมา 7 เดือนกว่าๆ ว่า จากที่คณะกรรมการควบคุมฯ เข้าไปบริหารจัดการแทน สช.พบปัญหา ซึ่งเดิมขาดความชัดเจนด้านกฎหมาย ว่าคณะกรรมการควบคุมฯ มีอำนาจมากน้อยแค่ไหน เนื่องจาก พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มีหลายมาตราที่กำหนดไว้ว่าการดำเนินการต่างๆ เป็นอำนาจของผู้ได้รับใบอนุญาต แต่อำนาจของคณะกรรมการควบคุมฯ กฎหมายได้กำหนดไว้อย่างกว้างๆ เท่านั้น

Advertisement

“สช.อยากรู้ว่าอำนาจต่างๆ ที่เป็นของผู้ได้รับใบอนุญาต เมื่อตั้งคณะกรรมการควบคุมโรงเรียนแล้ว ถ้ามีมติออกมา ผู้รับใบอนุญาตฯ ต้องดำเนินการตามมติของคณะกรรมการควบคุมฯ หรือไม่ จึงหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมโรงเรียนในระบบ ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ว่าสามารถแต่งตั้ง หรือถอดถอนผู้อำนวยการ ครู บุคลากรทางการศึกษา เจ้าหน้าที่ และผู้ปฏิบัติงานได้หรือไม่ และคณะกรรมการควบคุมโรงเรียนในระบบ สามารถดำเนินการอนุมัติ อนุญาต หรือระงับการทำสัญญา หรือทำนิติสัมพันธ์ต่างๆ กับหน่วยงานภายใน หรือภายนอกประเทศได้หรือไม่ เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตได้หรือไม่” นายอรรถพล กล่าว

นายอรรถพลกล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการกฤฎีกาได้พิจารณา และมีความเห็นว่าคณะกรรมการควบคุมโรงเรียนในระบบ มีอำนาจทำการแทนคณะกรรมการบริหารโรงเรียนเอกชนทุกประการ และมีอำนาจในการลงมติเพื่อดำเนินกิจการของโรงเรียนทั้งหมด ส่วนข้อกฎหมายใดที่ระบุให้เป็นอำนาจของผู้ได้รับใบอนุญาตฯ หากคณะกรรมการควบคุมฯ มีมติอย่างไร ผู้รับใบอนุญาตฯ ต้องปฏิบัติตามมตินั้น

ส่วนระยะเวลาที่คณะกรรมการควบคุมฯ เข้าไปบริหารจะใช้เวลาเท่าไหร่นั้น นายอรรถพลระบุว่า ไม่สามารถกำหนดได้ เพราะจะต้องดำเนินการบริหารใหม่ จัดการรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการที่เป็นปัญหา อุปสรรคมาตั้งแต่ครั้งก่อน รวมทั้ง การบริหารภายในของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ ที่ต้องกำหนดเพื่อให้กิจการดำเนินการไปได้ด้วยดี

“ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับการให้ความร่วมมือของผู้รับใบอนุญาตฯ ด้วย ถ้าผู้รับใบอนุญาตฯ ให้ความร่วมมือดี คณะกรรมการควบคุมฯ สามารถยกเลิกการควบคุมได้เร็วขึ้น แต่ถ้าผู้รับใบอนุญาตฯ ไม่ให้ความร่วมมือ การควบคุมก็กินเวลาออกไป ซึ่งขณะนี้การเรียนการสอนของโรงเรียนสามารถดำเนินการได้ปกติ ส่วนปัญหาภายใน ยังต้องจัดระเบียบให้เป็นระบบอีกมาก” นายอรรถพล กล่าว

เลขาธิการ กช.ระบุเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ สช.ได้ตั้งคณะกรรมการควบคุมฯ เข้าควบคุมโรงเรียนอื่นๆ อีก 5-6 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาภายใน เช่น เมื่อผู้รับใบอนุญาตเสียชีวิต ทายาทตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะเป็นผู้บริหารต่อ ทำให้โรงเรียนไม่สามารถเดินหน้าจัดการเรียนการสอนต่อไปได้ สช.จึงต้องตั้งคณะกรรมการควบคุมโรงเรียนเพื่อแก้ไขปัญหา และผลักดันให้โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนต่อไปได้

ต้องติดตามว่า จากนี้คณะกรรมการควบคุมฯ จะเข้าไปแก้ไขปัญหา และคลี่คลายปมความขัดแย้งได้โดยเร็วหรือไม่

เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เพิ่งจะแจกแจงข้อสงสัยเรื่องขอบเขต “อำนาจ” ของคณะกรรมการควบคุมฯ เสร็จ

ซึ่งเรื่องนี้ อาจจะต้องลากยาว จนกลายเป็น “มหากาพย์” อีกเรื่อง !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image