อวสาน 70 ปี ‘องค์การค้า’ สุดยื้อ…โคม่ายาวนานกว่า 15 ปี ?!?

อวสาน 70 ปี ‘องค์การค้า’ สุดยื้อ…โคม่ายาวนานกว่า 15 ปี ?!?

ในที่สุดก็มาถึงวันที่ส่อแววว่า องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) มีอันต้องสังคายนาครั้งใหญ่ ถึงขั้นเรียกว่า เฉือนเนื้อตัวเอง เพื่อรักษาลมหายใจ ที่อยู่มานานกว่า 70 ปี

ประกาศปลดพนักงานองค์การค้าฯ 961 ราย จากทั้งหมด 1,035 ราย เหลือคนทำงานไว้เพียง 74 ราย ในจำนวนนี้มีกว่า 50 ราย จะเกษียณอายุ ในเดือนกันยายน เท่ากับว่า หลังเดือนกันยายนเป็นต้นไป หากไม่มีการรับพนักงานเพิ่ม องค์การค้าฯ จะเหลือคนทำงานไม่ถึง 20 คน ซึ่งเป็นพนักงานที่กำลังจะหมดสัญญาจ้างเร็ว ๆ นี้เช่นกัน …

คำสั่งปลดครั้งนี้ จะมีผลในวันที่ 1 สิงหาคม 2563!!

เหตุผลหลัก หนีไม่พ้นเรื่องสภาพคล่อง ซึ่งขาดทุนมาตลอดกว่า 15 ปี มีหนี้สิ้นพอกพูนกว่า 7 พันล้านบาท

Advertisement

แม้เพิ่งจะเซ็นสัญญาจ้างนายอดุลย์ บุสสา ขึ้นมานั่งแท่นผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ตัวจริง หลังส่งข้าราชการ ไปปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการองค์การค้าฯ นานกว่า 6 ปี ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ยุบบอร์ดการบริหารองค์การค้า บอร์ดสกสค.และบอร์ดคุรุสภา เพื่อเดินเครื่องสางทุจริต ปฏิรูปโครงสร้าง ในช่วงที่หลังจาก พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)

ระหว่างนั้นมีการจัดตั้งทีมงานทำแผนยกเครื่องมาตลอด ถึงขั้นมีข้อเสนอให้ยุบองค์การค้าฯ เพื่อหวังปลดล็อกปัญหาต่าง ๆ ทั้งการทุจริต ซึ่งถือเป็นแผลใหญ่ ที่ทำให้องค์การค้าฯ เดินมาถึงทางแยกที่อาจถึงเวลาต้องเลือกระหว่างเฉือนเนื้อเพื่อรักษาชีวิต หรือปิดฉากการทำงานที่มีมายาวนานลง

ซึ่งแม้จะยังมองเห็นไม่ชัดว่า สุดท้ายแล้วองค์การค้าฯ จะเดินหน้าต่อ หรือพอแค่นี้ หรือจะเดินไปในรูปแบบใด เพราะผู้บริหารศธ. ไม่ว่าจะเป็นนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการศธ. นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดศธ. หรือกระทั่งสกสค.ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดจะย้ำตลอดว่า ไม่มีแผน “ยุบ” องค์การค้าฯ แน่นอน

Advertisement

แต่ภาพของการปลดคนออกเกือบทั้งองค์กร ก็อดทำให้เกิดความแคลงใจไปไม่ได้…

ดังนั้นแผนการเฉือนเนื้อครั้งนี้ ถือเป็นมาตรการแรก ที่มีการเตรียมพร้อมมาพอสมควร ประกอบกับมีปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 มาเป็นตัวเร่ง ส่งผลให้วิธีการที่คิดไว้ ต้อง “ทำ” เร็วกว่าที่คิด เริ่มตั้งแต่ออกคำสั่งให้หยุดงานโดยไม่นับเป็นวันลา แต่จ่ายเงินเดือนเพียง 75% เดดไลน์ถึงวันที่ 30 มิถุนายน แต่ต่อมาในวันที่ 19 มิถุนายน กลับมีคำสั่งให้งดการจ่ายเงินค่าจ้างในเดือนมิถุนายน 2563

ระบุให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงแรงงาน ที่กำหนดการได้รับประโยชน์ทดแทนจากการว่างงาน จากเหตุสุวิสัยอันเกิดจากโรคระบาดของโรคติดต่ออันตรายว่าให้ลูกจ้างที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ไปติดต่อรับสิทธิจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) แทน ในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 62 ตามด้วยคำสั่งให้หยุดงานในวันที่ 25 มิถุนายน กระทั่งสั่งเลิกจ้าง 961 คน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา

รวมถึงมีการรายงานเรื่องนี้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบ

นายณัฏฐพล ยอมรับว่า รู้สึกหนักใจ เพราะเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯและคณะกรรมการสกสค. ที่ตัดสินใจเรื่องดังกล่าว แต่กว่า 1 ปีที่ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการศธ. ได้เห็นการทำงานในทุกหน่วยงาน ย้ำมาตลอดว่า ต้องพร้อมปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ ขณะที่การใช้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์ ต้องทำให้เกิดความคุ้มค่าในการขับเคลื่อน

ในส่วนของการเลิกจ้างพนักงานองค์การค้าฯ ทราบดีในเรื่องของความผูกพันในอดีตกับศธ. แต่องค์กรใดที่ขาดทุนทุกปี ปีละ 600-700 ล้านบาท ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ ก็ตัดสินใจพิจารณาตามความเหมาะสม

“ผมทราบดีว่า เจ้าหน้าที่ทุกคนอาจมีความไม่สบายใจ แต่ก็มีการชดเชยตามกฎหมาย ได้รับเงินชดเชยอยู่ที่ 1-4 ล้านบาท บอร์ดองค์การค้าฯ ได้อนุมัติโดยย้ำว่าการดำเนินการทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนขั้นตอนรายละเอียด เป็นการดำเนินการขององค์การค้าฯ ตามกฎหมาย ผมเข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่ง่ายต่อการตัดสินใจ ส่วนที่มองว่า การเลิกจ้างครั้งนี้ไม่เป็นธรรมนั้น ผมอยากให้ความเป็นธรรมกับผู้บริหาร ซึ่งทำหน้าที่บริหารองค์กรด้วยความปกติ เสนอข้อมูลมาให้บอร์ดตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูล ไม่ได้ตัดสินใจด้วยความรู้สึก และไม่ได้ตัดสินใจด้วยความผูกพันอะไร วันนี้เราต้องทำให้องค์การค้าฯ อยู่รอดได้ เรามองภาพใหญ่ ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า หนักใจ แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ” นายณัฏฐพลกล่าว

ขณะที่นายประเสริฐ ยืนยันว่า ทั้ง 961 คนจะได้รับการเยียวยาตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งจะได้รับเงินชดเชยรายละ 1-4 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับฐานเงินเดือน และเตรียมงบประมาณสำรองจ่ายชดเชยให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้าง รายละ 1-2 แสนบาทก่อน และจะได้ครบจำนวนในวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญาจ้างตามประกาศ

“การเลิกจ้างพนักงานครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้าง เพื่อให้องค์กรเดินหน้าต่อไปได้ เพราะคำนวณดูแล้วว่า หากอยู่ต่อไปก็จะทำให้มีหนี้สินมากขึ้น โดยการเลิกจ้างครั้งนี้ จะช่วยลดภาระรายจ่ายได้เดือนละกว่า 30 ล้านบาท อนาคตองค์การค้าฯ ก็จะทำธุรกิจ ในสิ่งที่คุ้มค่ากว่า เพราะปัจจุบันงานพิมพ์มีน้อยลง จึงไม่จำเป็นต้องใช้คนจำนวนมาก เชื่อว่าจะทำให้เกิดกำไรได้ในอนาคต ส่วนจะถึงขั้นยุบองค์การค้าฯ หรือไม่นั้น เบื้องต้นยังไม่ยุบ เป็นเพียงการปรับโครงสร้างพนักงานให้เหลือในจำนวนที่เหมาะสม เหตุผลที่ยกเลิกการจ้าง เพราะคำนวณแล้วว่าหากอยู่ไป ก็จะมีหนี้สินมากขึ้น การบริหารธุรกิจ ถ้าทำแล้วมีกำไรบ้างก็พอสู้ไหว แต่หากทำแล้วไม่มีกำไรเลย ทนอยู่ไปองค์การค้าฯ ก็จะเป็นหนี้มากขึ้น ปัจจุบันองค์การค้าฯ มีหนี้มากกว่า 7 พันล้านบาทแล้ว ขอให้ทุกคนเข้าใจสถานการณ์ในส่วนนี้ หากปล่อยไปก็อาจมีหนี้เพิ่มขึ้นเป็นหมื่นล้านบาท ดังนั้นบอร์ดองค์การค้าฯ จึงมีมติให้เลิกจ้าง และจ่ายเยียวยาตามกฎหมายทุกอย่าง ตามสิทธิที่ควรจะได้รับ”ปลัดศธ. กล่าว

ด้านพนักงานที่ได้รับผลกระทบ นายนิวัติชัย แจ้งไพร ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา ในฐานะตัวแทน บอกทันทีว่า การถูกเลิกจ้างครั้งนี้ ไม่เป็นธรรม การสั่งปลดครั้งนี้ถือเป็นร้อยละ 80 ของพนักงานทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 74 คน กว่า 50 คนจะเกษียณในวันที่ 30 กันยายน 2563 เหลืออีกกว่า 10 คน เป็นพนักงานที่กำลังจะหมดสัญญาจ้าง เท่ากับว่า จะไม่เหลือคนทำงาน ซึ่งต้องดูต่อไปว่า จากนี้องค์การค้าฯ จะมีสภาพอย่างไร!!

ส่วนข้ออ้าง เรื่องสภาพคล่อง หรือหนี้สินสะสมนั้น แม้จะเป็นเรื่องจริง แต่ไม่ถึงขั้นล้มละลาย ทางสหภาพฯ จะไปดูว่ามติที่ออกมานั้นชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมกับลูกจ้างหรือไม่ และเตรียมนำเรื่องนี้เข้าหารือในการประชุมวิสามัญสหภาพแรงงานฯ ในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ เพื่อหาข้อสรุปการดำเนินการ และเตรียมข้อมูลฟ้องร้องกับผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร

เชื่อว่า อีก 2-3 เดือนนี้ จะเห็นภาพชัดว่าองค์การค้าฯ จะมีอนาคตเช่นไร

แต่คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอย่าลืมว่าองค์การค้าฯ ยังมีประเด็นฟ้องร้องกับบริษัท เอกชน และบุคคลอีกหลายเรื่อง ยังไม่นับรวมถึงทรัพย์สินที่ยังมีอยู่ ทั้งที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและอุปกรณ์ โรงพิมพ์ต่างๆ มูลค่ารวมกว่าหมื่นล้านบาท

ซึ่งไม่ว่าจะเดินทางไหน สุดท้ายผู้ที่เกี่ยวข้อง คงต้องเคลียร์ ไม่ให้คลุมเครือ ป้องกันไม่ให้ข้อครหาทุจริตซ้ำรอยเดิมอีก!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image