เปิด 4 รูปแบบการเรียน รองรับวิกฤต ‘โควิด-19’

Female student watching online lesson and taking notes in textbook

เปิด 4 รูปแบบการเรียน รองรับวิกฤต ‘โควิด-19’

โควิด-19 – ช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ผู้คนได้เรียนรู้ว่าการเรียนแบบ “ออฟไลน์” ไม่ใช่รูปแบบการเรียนที่ดีที่สุดอีกต่อไป โดย นายธกานต์ อานันโทไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) จำกัด (Globish) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียน Live English Classroom มองว่า วิกฤตโควิด-19 จะผลักดันให้ผู้คนเข้าสู่ระบบ “ออนไลน์” เพื่อปรับตัว รวมถึงการจัดการศึกษาไทยจะเกิด New Normal โดยการเรียนออนไลน์ไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของการศึกษาไทย

จากสถิติล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายโรงเรียนต้องปิดชั่วคราว ขณะที่อัตราการเติบโตของห้องเรียนของ Globish เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 35% จากเดือนมีนาคม โดยเติบโตถึง 125% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน และจำนวนนักเรียนใหม่ยังเพิ่มขึ้นถึง 207% ทำให้ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงปัจจุบัน มีห้องเรียน One-on-One เกิดขึ้นมากกว่า 500 ห้องเรียนต่อวัน และยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม โรงเรียนต่างๆ ได้กำหนดแนวการเรียนการสอนที่เหมาะสม เพื่อให้จัดเรียนการสอนต่อไปได้ โดยในมุมมองของ Globish รูปแบบการเรียนการสอนหลังวิกฤตโควิด-19 จะมี 4 รูปแบบ ขึ้นอยู่กับความพร้อม และความเหมาะสมกับขนาดของแต่ละโรงเรียน ได้แก่

Advertisement

1.การเรียนผ่านระบบออนไลน์ 100% เหมาะกับโรงเรียนที่มีความพร้อม ทั้งด้านระบบการเรียนการสอน และหลักสูตรสำหรับการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ผู้เรียนพร้อมเรียนผ่านระบบออนไลน์ และผู้ปกครองพร้อมให้ความช่วยเหลือสนับสนุน รวมทั้งมีเครื่องมือสนับสนุนการเรียน โดยจำเป็นต้องพัฒนารูปแบบการเรียนให้น่าสนใจ และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ

2.การเรียนในห้องเรียน เหมาะสำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนไม่มาก และพื้นที่มากพอให้ปฏิบัติตามนโยบาย Social distancing และการดูแลสุขอนามัยของนักเรียนได้อย่างเข้มข้น และเคร่งครัด ควบคู่กับการให้นักเรียนใส่หน้ากากอนามัย และหมั่นทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ โรงเรียนต้องหมั่นฆ่าเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ

3.การเรียนแบบผสมผสานออนไลน์ และออฟไลน์ เหมาะกับโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนนักเรียนมาก และไม่มีประสบการณ์จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์มาก่อน โดยให้แบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อสลับวันให้นักเรียนมาเรียนที่โรงเรียน กลุ่มละ 2 วันต่อสัปดาห์ อีก 3 วันที่เหลือ ให้นักเรียนเข้าเรียนผ่านระบบออนไลน์จากบ้าน รวมทั้งให้โรงเรียนเลือกวิชาที่มีการปฏิบัติ หรือต้องทำงานร่วมกัน มาจัดการเรียนในห้องเรียน ขณะที่วิชาอื่นให้สอนผ่านออนไลน์

Advertisement

และ 4.การเรียน Home School คาดว่าการเรียนการสอนรูปแบบนี้ จะมีเพิ่มขึ้นในไทย เนื่องจากผู้ปกครองอาจกังวลเรื่องความปลอดภัยของบุตรหลานจากโรคภัยไข้เจ็บ มลพิษมลภาวะ และภัยคุกคามอื่น โดยผู้ปกครองจะมีบทบาทเป็นผู้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบที่เหมาะสมกับผู้เรียน อาจเรียนคอร์สออนไลน์ควบคู่กับการจัดครูเฉพาะวิชาเข้ามาสอนบ้าง ที่ตอบโจทย์รูปแบบการเรียนรู้ของลูกมาประยุกต์กับหลักสูตรของกระทรวงการศึกษา ซึ่งรูปแบบนี้เหมาะกับกลุ่มเด็กมีความต้องการพิเศษ และเด็กที่มีปัญหาโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือการพัฒนาการเรียนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ โดยพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบอินเทอร์แอ็กทีฟ ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมกับผู้สอน เสมือน หรือดีกว่าการเรียนในชั้นเรียน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image