เปิดใจ “อดุลย์ บุสสา” กู้ “องค์การค้า” ในวันที่อับปาง

เปิดใจ “อดุลย์ บุสสา” กู้ “องค์การค้า” ในวันที่อับปาง

หมายเหตุ “มติชน” – ตามที่คณะกรรมการบริหารองค์การค้า ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ประกาศปลดพนักงานองค์การค้าฯ 961 ราย จากทั้งหมด 1,035 ราย เหลือคนทำงานไว้เพียง 74 ราย ทำให้สหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาออกมาคัดค้านและเตรียมฟ้องศาลแรงงานและศาลปกครอง

“มติชน” จึงสัมภาษณ์เปิดใจ นายอดุลย์ บุสสา ผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ป้ายแดงที่เพิ่งเซ็นสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถึงแนวคิด มุมมองการทำงาน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

๐รับตำแหน่งช่วงนี้หนักใจหรือไม่?
“ยอมรับว่าหนักใจ เพราะบุคลากรน้อยลงมาก ทำให้การบริหารองค์กรเดินไปข้างหน้าได้ยาก ดังนั้นจะรับสมัครพนักงานเจ้าหน้าที่เพิ่มหรือไม่ และจะมีแผนการดำเนินการองค์การค้าฯ ต่อจากนี้อย่างไร คงต้องหารือคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ ที่มีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ส่วนตัวเองในช่วงที่เข้ารับการสรรหาฯ ก็ได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ทั้งการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย การดึงโควตาตำราเรียนของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กลับมา ก็จะทำให้องค์การค้าฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนั้นคงต้องคิดหาวิธีใหม่ เพื่อให้องค์การค้าฯ อยู่ให้ได้ จากนี้จะเร่งทำแผนการดำเนินงานเสนอให้คณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ พิจารณาภายใน 1 เดือน

อย่างไรก็ตามแม้จะหนักใจ แต่ก็ต้องสู้ ถ้ามีปัญหาก็ไม่ใช่ว่า องค์การค้าฯ จะต้องสู้คนเดียว ยังมีคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ ที่จะต้องเข้ามาช่วยเหลือให้คำปรึกษา หาแนวทางแก้ไข องค์การค้าฯ เคยเจริญรุ่งเรือง ผมเองจะพยายามทำงานเพื่อให้องค์กรมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ถูกเลิกจ้างนั้น ผมเองเห็นใจทุกคน เพราะเป็นเหมือนพี่น้องกัน แต่เมื่อผู้ใหญ่ตัดสินใจ มองการลดภาระในหลายๆ ส่วน ที่บอกเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ทั้ง 961 คน เป็นภาระ ยังมีหลาย ๆ ส่วนที่ต้องลดค่าใช้จ่าย การปลดพนักงานเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ หลายคนไม่พอใจ แต่ก็คิดว่าหลายคนเข้าใจองค์กร หากยังมีภาระในส่วนนี้ องค์กรก็จะไปไม่รอด”

Advertisement

๐ทราบมติเลิกจ้างมาก่อนหรือไม่?
“ผมเข้ารับการสรรหาผู้อำนวยการองค์การค้าฯ มากว่า 1 ปีแล้ว ไม่ได้รู้ล่วงหน้า และไม่คิดว่าเมื่อเข้ามารับตำแหน่งแล้วจะต้องมาเจอกับสถานการณ์นี้ ความรู้สึกคงไม่ต่างกับทุกคน เมื่อเข้ามารับภาระตรงนี้จะไม่สู้ก็ไม่ได้ จะท้อก็ไม่ได้ ต้องหาทางทำอย่างไร เพื่อแก้ไขให้งานเดินหน้าต่อไปได้ แต่จะให้รับปากว่าทุกคนจะได้กลับมาทำงานเหมือนเดิม ก็เกินอำนาจของผู้อำนวยการองค์การค้าฯ เป็นอำนาจของระดับนโยบาย ที่ตัดสินใจลงมา เข้าใจทุกคนว่ามีภาระที่ต้องดูแล”

๐ได้พูดคุยกับสหภาพแรงงานองค์การค้าฯ หรือยัง?
“ยังไม่มีการพูดคุยโดยตรง แต่ทุกคนก็พี่น้องกันทั้งนั้น จริงๆ แล้วผมเองก็เป็นนักแรงงาน ระบบแรงงานสัมพันธ์เราก็เข้าใจ ลูกจ้างทุกคนก็อยู่กันโดยมีกฎกติกา ซึ่งก็ต้องว่ากันไปตามนั้น”

๐รัฐมนตรีว่าการศธ.ได้มอบงานอะไรพิเศษหรือไม่?
“นายณัฏฐพล ไม่ได้มอบหมายงานอะไรเป็นส่วนตัว แต่ได้ร่วมหารือในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐมนตรีว่าการศธ. ก็เป็นห่วง หากไม่แก้ไของค์กรแม่อย่าง สกสค. ก็อาจต้องล้มไปด้วย เพราะเวลาองค์การค้าฯ มีปัญหา ก็ต้องใช้เงินของ สกสค. มาแก้ไข กลายเป็นเตี้ยอุ้มค่อม”

Advertisement

๐องค์การค้าฯ ในอนาคตจะเป็นอย่างไร?
“อนาคตถ้ามีโอกาสต้องปรับจูนองค์กรให้คล่องตัว กระชับและทำงานได้รวดเร็ว ที่ผ่านมาอาจจะยังไม่เข้าระบบ การทำงานยังไม่สมดุล เพราะมีการทำงานเป็นฤดูกาล ตามเวลาเปิด-ปิดภาคเรียน พอหมดช่วงค้าขาย ก็เกิดปัญหางานน้อย คนล้นงาน แต่พอมีงานเร่งก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทั้งค่าแรง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าล่วงเวลา จนกลายเป็นปัญหาถกเถียงว่าทำไมต้องไปจ้างโรงพิมพ์เอกชน ทั้งหมดเพราะความจำเป็น ซึ่งที่ผ่านมาก็เข้าใจ หากทำไม่ทันก็ถูกปรับ ต้องหาวิธีแก้ไขว่าระยะต่อไป จะทำอย่างไรให้งานเสร็จ ส่งหนังสือทันตามกำหนดเวลา หากงานเรียบร้อยก็อาจกลับคืนสู่ภาวะปกติ เชื่อว่าลูกค้าเดิมน่าจะยังอยู่ เมื่อค่าใช้จ่ายลดลง ก็จะเห็นตัวเลขรายรับที่ดีขึ้น”

๐สาเหตุที่องค์การค้าฯ ขาดสภาพคล่องเพราะมีการทุจริตมากใช่หรือไม่?
“เรื่องการทุจริต เราไม่เห็นหลักฐาน ทุกคนก็พูดได้หมด ทั้งการจ้างโรงพิมพ์เอกชนแพง มีการกินค่าหัวคิว แต่ไม่มีใครมีหลักฐาน คนที่อยู่ในองค์กรเองก็ไม่ได้สัมผัสทุกงาน ก็เป็นได้ที่อาจมีการตั้งคำถาม เพราะเอาเข้าจริงการจัดพิมพ์องค์การค้าฯ เองก็รับมือได้บางส่วน ไม่ได้ 100% ตรงนี้เป็นเหตุผล แต่ถ้ามีหลักฐานก็ต้องว่ากันไปตามกติกา ไม่ใช่พูดกันไปสนุกสนานก็ไม่จบไม่สิ้น”

๐ปัญหาอะไรที่ทำให้องค์การค้าฯ กลายเป็นองค์กรที่ล้มเหลว?
“เดิมทีองค์การค้าฯ มีการผูกขาด ตำราเรียนมีงานเต็มมือ กิจการใหญ่โตตามลำดับ แต่พอถึงเวลาหนึ่งที่มีความเปลี่ยนแปลง เปิดการค้าเสรี มีการแบ่งสัดส่วนการตลาด จากที่เคยได้ 100% ก็ลดลงมาเหลือ 50% ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามภาวะทางเศรษฐกิจ อีกส่วนสินค้าบางตัวที่ซื้อมาจำหน่วย ขายได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางอย่างยังค้างอยู่ในโกดัง ทุนจม พอเวลาผ่านไป ก็กลายเป็นว่า ซื้อมาแพงแต่ต้องขายถูก ขาดทุน จึงทำให้จากรุ่งเรือง ก็ต้องลดลง ต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง”

๐ได้ดูบัญชีหรือไม่ว่าตอนนี้มีเงินเหลือเท่าไร?
“ก็ดู แต่ยังไม่ควรพูด ผมเองอยากให้ความมั่นใจกับลูกค้าว่า องค์การค้าฯ ยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ เป็นเพียงการเปลี่ยนผ่าน ปรับลดบางส่วน”

๐ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องเสนอแผน “ยุบ”?
“ใจผมคิดว่า องค์การค้าฯ ยังมีทางไปได้ เพราะยังมีหน้าที่ในการให้บริการการศึกษา สนองนโยบายต่อไป เพียงแต่จะทำอย่างไรให้คล่องตัวไม่เกิดภาระค่าใช้จ่าย ส่วนแผนแรกจะเป็นการรับบุคลากรเพิ่มหรือไม่นั้น ตรงนี้ต้องหารือกับผู้บริหาร เพราะการทำงานจำเป็นต้องมีทีมงานเข้ามาช่วย”

๐ต้องคุยกับพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ถูกเลิกจ้างหรือไม่?
“ส่วนตัวเอง เลยอำนาจหน้าที่ที่จะรับมือ เพราะเป็นอำนาจของผู้บริหาร ดังนั้นไม่แน่ใจว่าจะเข้าไปรับหน้าเรื่องนี้ในรูปแบบใด เพราะเลยจากอำนาจหน้าที่ของผมไปแล้ว”

๐นโยบายรัฐมนตรีว่าการศธ.จะเน้นใช้เทคโนโลยีทำงาน?
“ผมเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง ก็ต้องรอฟัง เรื่องการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการทำงาน ส่วนตัวก็เห็นด้วย และองค์การค้าฯ เองก็มีแต่ของเก่า อุปกรณ์บางอย่างก็เก่าแล้ว เข้าใจว่ารัฐมนตรีว่าการศธ. ก็คงอยากให้งานทุกอย่างเดินหน้าไปได้ ซึ่งทางองค์การค้าฯ ก็เตรียมทำแผนเสนอคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ”

๐หลายคนห่วงว่าจะมีปัญหาทุจริตเกิดขึ้นซ้ำเติมอีก?
“คำครหาเรื่องนี้ หนีไม่พ้น ผมเองก็ทำงานกับผู้อำนวยการองค์การค้าฯ หลายคน แต่ไม่ได้อยู่ในส่วนจัดซื้อ ก็ได้รู้เห็นงานในหลายด้าน มีการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบ แต่ก็มีข้อกล่าวหาเกิดขึ้นทุกปี ฝ่ายที่ประกวดราคาไม่ชนะก็ร้องเรียน ผลที่สุดก็ไม่มีอะไร บางทีก็คิดว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ทางแก้ไขก็ต้องทำให้โปร่งใส”

๐มาเป็นผู้นำองค์การค้าฯ ในช่วงนี้ถือว่าเป็นงานยากหรือไม่ ?
“ถือว่าเป็นงานยาก เพราะดูทั้งบุคลากรและเครื่องมือ นอกจากชราภาพแล้วยังหายไปอีกจำนวนมาก รวมถึงยังมีหนี้สินอีกกว่า 7 พันล้าน คงต้องหาทางแก้ไข ส่วนตัวคิดอยากลงไปดูทรัพย์สินขององค์การค้าฯ ที่มีอยู่ หลายแปลงในต่างจังหวัดถูกทิ้งเป็นที่รกร้างกว่า 150 ไร่ น่าจะพัฒนาค้าขาย แบ่งเช่า เพื่อให้เกิดรายได้ ส่วนในกรุงเทพฯ ที่ดินย่านลาดพร้าวกว่า 50 ไร่ ยังไม่รวมย่านราชบพิธ อ้อมน้อย รวม ๆ แล้วประมาณ 60 ไร่ มูลค่ารวมหลายพันล้าน ถ้ามีการนำมาพัฒนาให้เกิดรายได้ก็น่าจะช่วยองค์การค้าฯ ได้ไม่น้อย”

๐ฝากอะไรถึงคู่ค้าและบุคลากร?
“ผมให้กำลังใจทุกคนทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ยังทำงานอยู่ และถูกเลิกจ้าง ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งขององค์การค้าฯ ทำงานร่วมกันมาถือว่า เป็นคนที่ช่วยกันสร้างองค์การค้า ไม่ใช่แค่พนักงานเจ้าหน้าที่ ร้านตัวแทนจำหน่ายต่างๆ หรือลูกค้าที่เข้ามาช่วยอุดหนุนสินค้า ถือว่าเป็นผู้มีพระคุณกับองค์กร ผมยังคิดว่าองค์การค้าฯ ยังเป็นที่ให้บริการทางการศึกษา ผมเองแม้จะเข้ามาในช่วงนี้ แต่ผมก็คิดว่าองค์การค้าฯ ยังสามารถตอบสนองความต้องการสินค้าด้านการศึกษาได้ ดังนั้นอยากให้มั่นใจว่า องค์การค้าฯ ไม่ล้มหายตายจากไปจากวงการศึกษาแน่นอน เพราะถูกตั้งขึ้นมาก็เพื่อสนองนโยบายเพื่อการศึกษา ตอนนี้ถือว่าอยู่ในช่วงปรับตัว ผมเข้ามาทำตรงนี้ ก็เพื่อจะช่วยให้องค์การค้าฯ อยู่รอดต่อไป ส่วนคนที่ถูกเลิกจ้าง ผมอยู่ตรงนี้จะดูแลเรื่องค่าชดเชยให้ดีที่สุดไม่ให้เสียสิทธิที่พึงจะได้”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image