เปิด..ศูนย์คุ้มครอง น.ร.-น.ศ.สกัดล่วงละเมิดทางเพศจาก ‘ครู’

เปิด..ศูนย์คุ้มครอง น.ร.-น.ศ.สกัดล่วงละเมิดทางเพศจาก ‘ครู’

ล่วงละเมิดทางเพศ – ทุกๆ ปี เราจะเห็นข่าว “ครู” แม่พิมพ์ของชาติ “ล่วงละเมิดทางเพศ” ไม่ว่าจะนักเรียนหญิง หรือนักเรียนชาย และนับวันการล่วงละเมิดทางเพศนักเรียนยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะเมื่อเกิดเรื่อง ทางผู้บริหารโรงเรียนจะเรียกนักเรียน และครอบครัว มาเจรจาไกล่เกลี่ยให้ยอมความ เพื่อรักษาชื่อเสียงโรงเรียน

ส่วนครูที่กระทำผิด ก็ไม่ได้รับการลงโทษ ซ้ำยังคงวนเวียนทำผิดครั้งแล้วครั้งเล่าอยู่ในสถานศึกษา

จนสังคมตั้งคำถามว่า “โรงเรียน” เป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนจริงหรือ และหน่วยงานหลักอย่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครองอย่างไร

ประเด็นนี้สร้างความหนักใจให้กับ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ตั้งแต่ก้าวเข้ามารับตำแหน่ง เพราะตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าครูล่วงละเมิดนักเรียนมากกว่า 10 ครั้ง !!

Advertisement

จึงมอบนโยบายให้จัดตั้ง “ศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศกระทรวงศึกษาธิการ (ศคพ.)” ให้เป็นหน่วยงานกลางของ ศธ.เพื่อให้การคุ้มครอง และช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ในสังกัด หรือในกำกับของ ศธ.ที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ เนื่องจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศจากครู ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา บุคคลซึ่งปฏิบัติงานอื่นๆ ในสังกัด หรือในกำกับ ศธ.ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

ศคพ.ยึดหลักการทำงานให้ “รวดเร็ว รอบคอบ เด็ดขาด” ใน 3 ด้าน ดังนี้ ด้านการป้องกัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เสริมสร้างความมั่งคงปลอดภัยให้กับนักเรียนักศึกษา ด้านการปราบปราม เพื่อแก้ไขปัญหา สะสางปัญหาเก่า ยุติปัญหาใหม่ ด้วยความรวดเร็ว และรอบคอบ และด้านการคุ้มครองและช่วยเหลือ คือให้การช่วยเหลือ เยียวยานักเรียนนักศึกษาอย่างเป็นธรรม

ทั้งนี้ นักเรียนร้องเรียนปัญหาได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยโทรสายด่วน 1579 หรือเฟซบุ๊ก ศคพ.ศธ.

Advertisement

โดย ศคพ.มีแผนผังการปฏิบัติงานดังนี้ เมื่อนักเรียนนักศึกษาร้องเรียน หรือร้องทุกข์กล่าวโทษ ศคพ.จะตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนลงพื้นที่ภายใน 48 ชั่วโมง หากพบว่ามีมูล ใช้มาตรการวินัย เและดำเนินการทางคดีอาญาภายใน 48 ชั่วโมง มาตรการวินัย เช่น ให้ออกจากราชการไว้ก่อน และสั่งพักใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ส่วนการช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟูร่างกาย จิตใจ การเรียนของนักเรียน จะประสานนักจิตวิทยาในทุกหน่วยงาน และสหวิชาชีพลงพื้นที่ช่วยเหลือ พร้อมกับหากองทุนเพื่อช่วยเหลือเหยื่อตามกฎหมาย

แต่ถ้าองค์การรัฐ หรือเอกชน หรือพบเป็นข่าวเผยแพร่ออกมา ศคพ.จะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใน 48 ชั่วโมง หากพบว่าเรื่องมีมูล จะดำเนินการตามมาตรการทางวินัย และทางคดีอาญาภายใน 48 ชั่วโมง ทันที

ซึ่ง ศธ.ได้เปิดศูนย์ ศคพ.อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม ที่ผ่านมา โดยนายณัฏฐพลได้มอบนโยบายขับเคลื่อนการคุ้มครอง และช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษา มีผู้แทนจากองค์กรเอกชนมอบข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนนโยบายช่วยเหลือผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วย ประกอบด้วย Ms.Roshni Basu รักษาการผู้แทนองค์กรยูนิเซฟ ประเทศไทย พล.อ.เทอดศักดิ์ มารมย์ รองประธานมูลนิธิปวีณา หงสกุล เพื่อเด็กสตรี น.ส.วาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและประธานเครือข่ายสิทธิเด็ก ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ประธานมูลนิธิศานติวัฒนธรรม และ ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ประธานองค์การทำดี เข้ามามอบข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนนโยบายช่วยเหลือผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วย

นายณัฏฐพลกล่าวในการมอบนโยบาย ว่า ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศ มีอยู่ในทุกสถานที่ ศธ.จัดตั้ง ศคพ.เพื่อยุติ และทำให้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียนมีน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง ดังนั้น โรงเรียนต้องปลอดภัยสำหรับนักเรียน เรื่องนี้ ศธ.จะไม่ละเว้น

“ที่ผ่านมา จะพบว่าหลายคนที่กระทำความผิดในการล่วงละเมิดทางเพศ ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ใน ศธ.ได้ ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ได้จัดตั้ง ศคพ.มีผลการดำเนินการด้านการปราบปรามที่เห็นผลงานชัดเจน มีผู้ถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน และถูกพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพชั่วคราว จนกว่าการดำเนินการทางวินัยจะเสร็จสิ้น 13 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินการ 1 ราย และระหว่างเด็กด้วยกัน 2 ราย” นายณัฏฐพล กล่าว

ขณะที่ Ms.Roshni ได้เสนอข้อแนะนำ 5 ประการต่อ ศธ.ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็ก ประกอบด้วย 1.การผลักดัน ศคพ.เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนป้องกันนักเรียนถูกล่วงละเมิด 2.ศธ.อาจต้องพิจารณาถึงประสิทธิภาพในการคุ้มครองเด็ก และช่วยเหลือเด็กเมื่อเกิดเหตุรุนแรง โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3.อยากให้มีช่องทางการแจ้งเหตุที่เป็นความลับ เพื่อป้องกันผู้ร้องเรียน 4.ศธ.ควรพิจารณาเพิ่มหลักสูตร หรือให้ความรู้กับครู เรื่องแนวทางป้องกัน การช่วยเหลือนักเรียน เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรง หรือการล่วงละเมิดนักเรียน และ 5.ศธ.ควรเป็นหน่วยงานหลักทำงานประสานสหวิชาชีพ เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ตกเป็นผู้เสียหายอย่างรอบด้าน โดยองค์กรยูนิเซฟ ยินดีที่สนับสนุน ศธ.

พล.อ.เทอดศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศจะพัฒนา และเจริญก้าวหน้า ต้องให้เยาชนได้รับความรู้ การศึกษาในแนวทางที่ถูกต้อง โดยครูที่มีหน้าที่หลักในการพัฒนาเด็ก ควรจะเป็นคนที่มีคุณภาพ สอนนักเรียนได้ ดังนั้น หน้าที่ ศธ.จะต้องพัฒนาบุคลากรให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพ วันนี้ดีใจที่ ศธ.เห็นความสำคัญในการตั้ง ศคพ.เพื่อทำงานประสานกับหน่วยงานเอกชน ในการป้องกันแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศนักเรียน

ด้าน น.ส.วาสนา กล่าวว่า อยากเสนอ ศธ.ว่าเมื่อพบครูล่วงละเมิดทางเพศนักเรียน ขอให้สั่งพ้นจากราชการ และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันที รวมทั้ง ขอให้ตรวจสอบครูต่างชาติด้วยว่ามีประวัติล่วงละเมิดทางเพศนักเรียนหรือไม่ หากพบนักเรียนถูกกระทำ ต้องคำนึงถึงสภาพจิตใจของนักเรียนเป็นสำคัญ ต้องปกป้องนักเรียนจากการถูกติหนิ หรือการกลั่นแกล้งจากบุคคลรอบข้างด้วย

“จะเห็นว่าเมื่อเกิดเรื่อง บางครั้งจะพบครูตำหนินักเรียนว่าทำให้เสียชื่อเสียงโรงเรียน ดังนั้น ศธ.ควรทำความเข้าใจ และซักซ้อมครู ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ควรปฏิบัติอย่างไร ศธ.ต้องทบทวน และพัฒนาระบบคุ้มครองเด็ก เพื่อป้องกันการใช้ความรุนแรงต่อเด็กทุกรูปแบบด้วย ไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ การถูกกลั่นแกล้ง เป็นต้น” น.ส.วาสนา กล่าว

ผศ.ดร.สมบัติ กล่าวว่า ไม่ควรปล่อยให้เด็กถูกกระทำแล้วเข้ามาช่วยเหลือ ควรป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นเลยจะดีที่สุด จากสถิติทั่วโลก พบว่าเวลาผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศ มีเพียง 10-20% เท่านั้นที่ร้องเรียน ร้องทุกข์ อาจจะกลัว หรืออาย เพราะเป็นเรื่องที่สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้เสียหายอย่างมาก ดังนั้น หากรอให้ผู้เสียหายร้องเรียนอย่างเดียว จะช่วยเหลือคนได้น้อยมาก ควรทำงานส่งเสริมด้านการป้องกันให้มาก เช่น ให้เด็กรู้ว่าหากมีคนมากระทำ จะร้องเรียนใครได้บ้าง หรือจัดการโครงสร้าง หรือวัฒนธรรมในโรงเรียน ที่เห็นดีเห็นงาน หรือเพิกเฉยต่อเด็ก เป็นต้น

ปิดท้ายที่ ดร.ปนัดดา กล่าวว่า เมื่อนักเรียนถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เวลาจะเอาเรื่องครูนั้นยากมาก เพราะเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นตามลำพัง เด็กจะหาหลักฐานจากไหนมาเอาผิด บางครั้งผู้อำนวยการโรงเรียนจัดการเจารจาไกล่เกลี่ย เพราะไม่อยากให้เสียชื่อโรงเรียน ผู้ปกครองไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่เข้าใจกฎหมาย ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาที่ซุกใต้พรม

“ส่วนตัว เมื่อเกิดการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็ก ไม่อยากให้เป็นข่าว เพราะไม่ส่งผลดีต่อผู้ถูกกระทำ หรือเด็ก สิ่งที่เราแก้ปัญหากันอยู่ เป็นการแก้ที่ปลายเหตุเท่านั้น ดิฉันหวังว่า ศคพ.จะเป็นศูนย์ที่ดูแลผู้เสียหายอย่างรอบด้าน และจัดการครูผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง ถ้าผู้อำนวยการโรงเรียนช่วย ต้องถูกลงโทษด้วย เด็กต้องถูกเยียวยา มีที่เรียน และมีอนาคตต่อไป” ดร.ปนัดดา กล่าว

จับตาดูว่าการตั้ง ศคพ.จะช่วยเหลือ และช่วยลดปัญหา นักเรียน นักศึกษา ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากแม่พิมพ์ ในสถานศึกษาได้หรือไม่ !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image