น.ร.ทุน ‘พสวท. รุ่นที่ 36’ น้องรุ่นเล็ก..แต่หัวใจใหญ่

น.ร.ทุน ‘พสวท. รุ่นที่ 36’ น้องรุ่นเล็ก..แต่หัวใจใหญ่

ทุน พสวท. – “ทุน พสวท.” อาจคุ้นหูใครหลายๆ คนในฐานะทุนสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย พัฒนาชาติและเศรษฐกิจด้วยฐานความรู้ ซึ่งมี สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานคัดเลือก และให้ทุนนักเรียนได้ศึกษา ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนถึงอุดมศึกษา หรือสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไป ผลิตผู้สำเร็จการศึกษาจากทุนนี้ไปแล้วกว่า 1,471 คน มีสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร 182 เรื่อง ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิทยาศาสตร์ถึง 46 รางวัล

ฝีมือรุ่นพี่ๆ รุ่นใหญ่ ยังเป็นที่จับตา และเดินหน้าทำงานเพื่อพัฒนาประเทศในทุกภาคส่วน โดยใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นพลังขับเคลื่อน

แต่จะมีสักกี่ครั้ง ที่สปอร์ตไลต์จะฉายมาทางกลุ่มเด็ก รุ่นน้องรุ่นเล็ก นักเรียนมัธยมศึกษากันบ้าง

นักเรียนทุน ‘พสวท.รุ่นที่ 36’ อาจไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูนัก ทุกคนยังศึกษาอยู่เพียงชั้นมัธยมปลาย และแน่นอนว่าคงไม่มีใครสามารถสังเคราะห์ยา เป็นผู้บริหารองค์กรด้านวิจัยความรู้ หรือปรากฎบนสื่อในฐานะอาจารย์ผู้ทรงความรู้ได้

Advertisement

กระทั่งวันหนึ่งหลังการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด -19 ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงเขย่าโลก

ด้วยปัญหาธรรมดาๆ จากที่คุณแม่ซึ่งเป็นแพทย์อยู่ในโรงพยาบาลที่ห่างไกล และขาดแคลนอุปกรณ์ในการตรวจหาเชื้อ เนื่องจากราคาที่สูงลิบ

นายกรวิชญ์ ปอยสูงเนิน นักเรียนทุน พสวท.ศูนย์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร ชั้น ม.4 วัย 16 ปี จึงได้ลงมือประดิษฐ์อุปกรณ์บางอย่างที่หลังบ้านของตัวเองอย่างเอาจริงเอาจัง

Advertisement

เสียงการตัดอะคลิลิครูปทรงแปลกตาเริ่มดังขึ้น หลังจากผ่านการลองผิดลองถูกหลายครั้งก็ได้ ชุดป้องกันเสมหะจากคนไข้ยามเก็บตัวอย่างไปตรวจเชื้อ COVID-19 หรือ Oropharyngeal Swab Protection ซึ่งสามารถใช้งานซ้ำได้

โดยเมื่อใช้งานให้ใส่พลาสติกครอบ และเจาะ swab ที่เรียกทั่วไปว่าไม้พันสำลีลงไปตามรูตรงกลาง พร้อมกับถือที่จับด้านใต้เพื่อให้ตรวจได้อย่างมั่นคง

ความจริงเรื่องอาจจบที่ตรงนั้น ที่โรงพยาบาลหนึ่งแห่งได้อุปกรณ์ป้องกันมาใช้งาน แต่นักเรียนหัวใจสร้างสรรค์ทีมนี้ ไม่ยอมให้จบง่ายๆ

ดังคำกล่าวที่ว่า ไปคนเดียวไปได้เร็ว แต่ถ้าจะไปให้ไกลต้องไปเป็นทีม นักเรียนทุน พสวท.รุ่นที่ 36 ทั้ง 18 คน จึงได้รวมตัวกันผนึกกำลังเป็นทีมเพื่อก่อตั้ง DPST 36 Community Service ขึ้น

หลังจากผ่านมา 1 เดือน จากการบอกเล่าแบบปากต่อปาก เพจเฟซบุ๊ก และการนำเสนอโดยตรงถึงแต่ละโรงพยาบาล ทีมนักเรียนทุน พสวท.กลุ่มนี้ ได้ผลิต และแจกจ่าย Oropharyngeal Swab Protection หรือชุดป้องกันเสมหะ จากคนไข้ยามเก็บตัวอย่างไปตรวจเชื้อ COVID-19 ซึ่งผลิตจากแผ่นอะคลิลิค กว่า 250 ชิ้น นำส่งไปยังโรงพยาบาล 40 แห่งทั่วประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติงาน โดยคัดเลือกโรงพยาบาลในเมืองรอง และเมืองที่อาจเสี่ยงติดเชื้อสูงเป็นหลัก รวมถึง โรงพยาบาลบางส่วนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ทราบข่าวจากคำบอกเล่าปากต่อปากด้วย

ภารกิจจิตอาสาครั้งนี้ ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว ก่อนที่ทีมน้องๆ นักเรียนทุน พสวท.รุ่น 36 จะกลับคืนสู่อ้อมอกของโรงเรียน แล้วเดินหน้าศึกษาต่อในการเปิดภาคเรียนใหม่ต่อไป

แม้น้องๆ พสวท.กลุ่มนี้จะไม่ได้สังเคราะห์ยา แต่คิดค้นนวัตกรรมป้องกันความเสี่ยงให้ผู้จ่ายยาได้

แม้น้องๆ จะยังไม่ได้เป็นผู้บริหารองค์กรชั้นนำด้านการวิจัย แต่สามารถรวมพลังบริหารงานเพื่อสังคมจากจุดเล็กๆ เพื่อเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ได้

และแม้น้องๆ กลุ่มนี้ จะยังไม่ได้ปรากฏชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในสายตาสื่อมวลชน

แต่ ณ วันนี้ ไม่เพียงน้องๆ นักเรียนทุน พสวท.รุ่น 36 จะได้ผนึกกำลังกันสร้างผลงานช่วยเหลือสังคมด้วยจิตอาสาเท่านั้น ทว่ายังนำเสนอวิทยาศาสตร์ในมุมที่น่าสนใจ จุดประกายหัวใจรักวิทยาศาสตร์ให้เยาวชนรุ่นต่อไป ด้วยผลงานเพจ DPST 36 Community Service ที่นำเสนอสาระความรู้ ชวนสนุกกับวิทยาศาสตร์ในแง่มุมแปลกๆ ชวนติดตามอีกด้วย

ที่ผ่านมา ทุน พสวท.ได้ผลิต และส่งต่อนักเรียนไทยรุ่นแล้วรุ่นเล่าเป็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตโดยใช้ความรู้วิทยาศาสตร์เป็นฐานพลังหนุนเนื่อง

ในวิกฤตมีโอกาส คงไม่เกินไปหากจะกล่าวว่าวันนี้ สปอตไลต์ดวงเล็กๆ ได้ฉายให้เห็นออร่าจากฝีมือ ความรู้ และจิตสาธารณะของ “น้องรุ่นเล็ก แต่หัวใจใหญ่” นักเรียนทุน พสวท.รุ่น 36 ที่รวมพลังกันริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อช่วยเหลือสังคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image