สู่ปีที่ 43 มสธ.ตั้งเป้าผู้นำ Online University

สู่ปีที่ 43 มสธ.ตั้งเป้าผู้นำ Online University

มสธ.- 5 กันยายน 2563 วันสถาปนา “มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 42 ปี” หรือ “มสธ.” กับการก้าวเข้าสู่ปีที่ 43 ซึ่งยังมั่นคงกับการเป็นมหาวิทยาลัยระบบเปิด และสอนการศึกษาทางไกล การขยายโอกาสทางการศึกษาเพื่อปวงชน ให้กระจายไปสู่ทุกภูมิภาคอย่างมีคุณภาพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

เวลากว่า 42 ปี ที่ผ่านมา สั่งสมประสบการณ์การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อปวงชน ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพป้อนสู่สังคม หลากหลายสาขาอาชีพ และยังมีการพัฒนามหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ มสธ.ได้เดินหน้าปฏิรูปมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง และถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ มสธ.อีกด้วย

 

Advertisement

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภา มสธ.เล่าถึงการปฏิรูปมหาวิทยาลัย ว่า การปฏิรูปครั้งนี้ เพื่อต้องการให้มหาวิทยาลัยทำประโยชน์ให้แก่ปวงชนทั้งหลาย เนื่องจากความต้องการของผู้ใช้บริการของมหาวิทยาลัย มีการเปลี่ยนแปลงไปตามวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal จึงจำเป็นที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว โดยได้ศึกษาข้อมูลต่างๆ มาอย่างน้อย 1 ปีเต็ม เพื่อดูว่าอะไรที่ดี ซึ่งต้องคงไว้ อะไรต้องเปลี่ยนบ้าง หรืออะไรคือความต้องการใหม่ อะไรคือสิ่งต้องหมดไป

“การปฏิรูปมีความก้าวหน้า และเป็นรูปธรรมหลายเรื่อง โดยเฉพาะในส่วนของการจัดการเรียนการสอน เช่น แผนการศึกษาที่มี 3 แผน คือ แผน ก 1 นักศึกษาจะศึกษาด้วยตนเองจากสื่อต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดให้ และสอบวัดผลปลายภาคเหมือนเดิม เนื่องจาก มสธ.เปิดมาแล้วถึง 42 ปี มีลูกศิษย์เป็นล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้อาจต้องการเรียน และจบการศึกษาตามที่ตกลงไว้ เพราะคิดว่าการเรียนแผนนี้สะดวก เรียนแล้วทำได้ ส่วนแผน ก 2 คือ การจัดการเรียนการสอนรูปแบบที่มีการสอบกลางภาคเพิ่มขึ้นมา มีการสอบเก็บคะแนนถึง 2 ครั้ง ทำให้การเรียนไม่หนักมากจนเกินไป ซึ่งการปรับแผนการศึกษานี้ หวังว่าผลการเรียนของผู้เรียนจะดีขึ้น การตกออกจะลดลง และหวังว่าเมื่อผลการเรียนดี ผู้เรียนก็จะมาเรียนมากขึ้น และสุดท้ายแผน ก 3 หรือ blended learning ที่เป็นการเรียนรู้แบบผสมผสาน มีกิจกรรมเสริมการเรียน การสอบกลางภาค และการสอบปลายภาค เพื่อเพิ่มอัตราการสำเร็จการศึกษามากขึ้น” นายกสภา มสธ.กล่าว

ที่สำคัญที่สุด คือเทคโนโลยีที่นำมาพัฒนาสื่อการเรียนการสอนของ มสธ.เพราะเชื่อว่าเทคโนโลยีจะเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ จากเดิมสื่อการเรียนการสอนของ มสธ.จะเน้นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อวิทยุโทรทัศน์ หรือแม้แต่สื่อการสอนทางไปรษณีย์ เป็นสื่อหลัก เพื่อให้ผู้เรียนสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียนตามปกติ เมื่อมีคอมพิวเตอร์เกิดขึ้น เรานำคอมพิวเตอร์มาช่วยสอน พัฒนาสื่อการเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง การผลิตสื่อการสอนที่พัฒนาในรูปแบบ Virtual Laboratory หรือห้องปฏิบัติการเสมือนจริงบนระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ

Advertisement

อีกทั้ง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อแวดวงการศึกษาของประเทศไทย ทำให้ต้องปรับการเรียนการสอนครั้งใหญ่ไปสู่เทรนด์โลกแห่งการเรียนรู้แบบใหม่ หรือออนไลน์ นั้น ศ.ดร.วิจิตร ย้ำว่า มสธ.ถือว่าวิกฤตนี้เป็นโอกาส และกระตุ้นให้ มสธ.เดินหน้าปฎิรูปการเรียนการสอนได้เร็วขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องการจัดสอบออนไลน์ ซึ่ง มสธ.ได้ดำเนินการไปแล้ว ต้องยอมรับว่า ช่วงเริ่มต้นจะมีปัญหาบ้าง แต่ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะการสอบไม่รั่ว ไม่มีการลอกกัน และไม่ล่มด้วย

“หลังจากนี้ มสธ.จะพัฒนาระบบการสอบออนไลน์ให้เป็นระบบถาวร เพื่อลดกระดาษสอบที่ใช้เป็นร้อยตัน หวังว่า มสธ.จะเป็นแห่งแรกที่ทำเรื่องออนไลน์เป็นระบบหลักของการเรียนการสอน หรือเป็นผู้นำ Online University และตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 จะประกาศกับนักศึกษาใหม่ว่า ถ้าเข้ามาเรียนที่ มสธ.เราจะเตรียมความพร้อมทุกคนให้สอบออนไลน์ด้วย” ศ.ดร.วิจิตร กล่าว

 

ขณะที่ ศ.ดร.ประสาท สืบค้า รักษาการอธิการบดี มสธ.กล่าวถึงทิศทางของ มสธ.ในวาระก้าวสู่ปีที่ 43 ว่า มสธ.ยังคงยึด 4 คำ ในการบริหารมหาวิทยาลัย คือ ร่วมคิด ร่วมทำ สร้างสรรค์ และจรรโลง เพื่อเดินหน้าตอบโจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปมหาวิทยาลัย โดยเน้นการปฏิรูป 5 ด้าน คือ 1.ปฏิรูปแผนการศึกษา เพื่อแก้วิกฤตจากจำนวนนักศึกษาที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ ลดการตกออกของนักศึกษา และธำรงนักศึกษาไว้ให้มากที่สุด 2.ปฏิรูปเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตระหนักดีว่าในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล เราจะผลิตสื่อการเรียนการสอน ที่จะทำให้นักศึกษาสามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ด้วยการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ โดยการพัฒนา STOU Media Application เป็นสื่อการเรียนการสอนที่สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก เช่น การทำคลิป ยูทูป ที่นักศึกษาสามารถเปิดดูได้ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่ช่วงการเดินทาง เพราะทุกวันนี้นักศึกษามีสมาร์ทโฟน หรือโทรศัพท์มือถือใช้กันทุกคนแล้ว 3.ปฏิรูปการแก้ไขระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย 4.ปฏิรูปการพัฒนา และส่งเสริมบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้เป็นมืออาชีพ มีศักยภาพสูงในด้านการสอน และสนับสนุนวิชาการ และ 5.ปฏิรูปด้านกายภาพของมหาวิทยาลัยต้องเร่งดำเนินการตามแผนที่วางไว้

ศ.ดร.ประสาทกล่าวด้วยว่า สำหรับงานเร่งด่วนของ มสธ.เมื่อเข้าสู่ปีที่ 43 คือ การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และทำให้จำนวนนักศึกษาลดลง โดยเฉพาะหลักสูตรปริญญาตรีที่ปัจจุบันมีจำนวน 78 หลักสูตร มีชุดวิชา 1,600 ชุดวิชา โดยคณะกรรมการเฉพาะกิจที่สภา มสธ.ตั้งขึ้น จะวิเคราะห์ว่า 78 หลักสูตร มีหลักสูตรใดบางที่มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนน้อยมาก หรือบางหลักสูตรอาจจะล้าสมัยแล้ว

ขณะเดียวกันต้องตรวจสอบกับตลาดแรงงาน และสถานประกอบการด้วยว่า มีหลักสูตรไหนที่ไม่ต้องการแล้ว รวมถึง วิเคราะห์ความคุ้มทุนของแต่ละหลักสูตร และชุดวิชา ถ้าหลักสูตรไหนไม่คุ้มทุนก็อาจจะต้องยกเลิก แต่หลักสูตรไหนที่ยังมีคนเรียน ก็จะต้องดูแลจนสำเร็จการศึกษา หรือมีการควบรวมหลักสูตรที่คล้ายกัน หรือยังเป็นความต้องการของตลาดแรงงาน และสถานประกอบการอยู่ สุดท้ายอาจจะเหลือหลักสูตรเพียง 50 หลักสูตรก็ได้ ส่วนชุดวิชาก็อาจจะต้องมาดูว่ามีชุดวิชาไหนที่สามารถเรียนร่วมกันได้บ้าง เช่น วิชาศึกษาทั่วไป เป็นต้น ซึ่งชุดวิชาอาจจะเหลือ 1,400 ชุดวิชา

“จากนั้นจะได้เสนอกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพราะเป็นช่วงครบกำหนดที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะต้องปรับปรุงหลักสูตรพอดี กับทั้งพัฒนาหลักสูตร non-degree เพื่อ reskill และ upskill ด้วย ส่วนการสอบออนไลน์ มสธ.จะต้องดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ ต้องพัฒนาแขนขาของมหาวิทยาลัย คือ ศูนย์วิทยพัฒนา 10 ศูนย์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และอาจขยายเพิ่มเป็น 18 ศูนย์ ตามการจัดกลุ่มจังหวัดในรูปแบบคลัสเตอร์ ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งศูนย์เหล่านี้จะทำหน้าที่รองรับการจัดกิจกรรมเรียนเรียนร่วม ก.3 รวมถึง เป็นสนามสอบออนไลน์ด้วย ก็จะไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องสอบวัดผลเฉพาะวันเสาร์ และอาทิตย์เท่านั้น” ศ.ดร.ประสาท กล่าว

คงต้องรอดูกันว่า มสธ.จะสามารถปักธงการเป็นผู้นำ Online University ได้ตามเป้าหมายหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image