รมว.อว. สั่ง ‘กกอ.-กมอ.’ หาแนวทางให้ตำแหน่งวิชาการในรูปแบบใหม่

รมว.อว. สั่ง ‘กกอ.-กมอ.’ หาแนวทางให้ตำแหน่งวิชาการในรูปแบบใหม่

เมื่อวันที่ 15 กันยายน นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) และคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา(กมอ.) ว่า ตนได้ขอให้ กกอ. และกมอ.หาแนวทางเพื่อให้มหาวิทยาลัยเน้นผลสัมฤทธิ์การศึกษาเพื่อให้บัณฑิตสามารถปฏิบัติงานและทำงานได้จริง ควบคู่ไปกับการเน้นความสามารถทางวิชาการที่ยอดเยี่ยม นอกจากการนำเข้าองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมทั้งขอให้หาแนวทางเพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถส่งออกองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีไปสู่ต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ ยังขอให้หาแนวทางในการให้ตำแหน่งวิชาการในรูปแบบใหม่ เช่น ศาสตราจารย์วิจัย (Research Professor) สำหรับนักวิจัยหรือบุคลากรวิจัย หรือ ศาสตราจารย์ปฏิบัติ (Professor of Practice) สำหรับผู้เชี่ยวชาญในอาชีพเฉพาะทางต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องโปรดเกล้าฯ และไม่มีเงินประจำตำแหน่ง ทั้งนี้ ตำแหน่งเหล่านี้ควรมีเกณฑ์ในการมอบตำแหน่งชัดเจนและอาจจำกัดจำนวนตำแหน่งต่อปี

นายเอนกกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยต้องปรับไปสู่การเป็นสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิต(Life-Long Learning Institution) โดยสร้างหลักสูตรเพื่อนำผู้สูงอายุ จำนวนกว่า 11 ล้านคน มาเรียนรู้ด้วยมุมมองใหม่ สร้างผู้สูงอายุให้เป็นพลัง มีทักษะสามารถทำงานหรือใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ แทนที่จะเป็นภาระในการใช้จ่ายเพื่อดูแลผู้สูงอายุ นอกจากนั้น ควรสร้างหลักสูตรพัฒนากลุ่มคนทำงานและแรงงานในอุตสาหกรรม ที่มีจำนวนกว่า 30-40 ล้านคน มาเพิ่มและปรับปรุงทักษะสามารถเพิ่มผลิตภาพให้แก่ประเทศ

“ที่สำคัญ ขอให้ กมอ.พิจารณาทบทวน เกณฑ์กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.) ซึ่งเป็นภาระทางเอกสารทำให้อาจารย์ต้องใช้เวลาในการเตรียมและจัดทำมากไป แทนที่จะใช้เวลาในการเรียนการสอนที่มีคุณภาพตามวัตถุประสงค์ของการประกันคุณภาพ และอาจพิจารณาแนวทางการประเมินคุณภาพ (QA) ใหม่ เช่น ให้หน่วยงานที่ผ่านการประเมินได้รับการยกเว้นการประเมินในระยะเวลา 3 ปี เพื่อลดภาระด้านการประเมิน และ ขอให้ทบทวนเกณฑ์ระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาในแต่ละระดับ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับแนวการจัดการศึกษาในปัจจุบัน ที่เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต และความยืดหยุ่นในการศึกษา”นายเอนก กล่าว

นายเอนก กล่าวต่อว่า รวมทั้ง ขอให้ทบทวนเกณฑ์การสอนหรือการสอบสำเร็จการศึกษา ที่ต้องใช้ผู้สอนหรือกรรมการที่มีตำแหน่งทางวิชาการเท่านั้น เช่น คณะนิติศาสตร์ หากไม่เป็นศาสตราจารย์ ก็ไม่สามารถเป็นกรรมการสอบปริญญาเอกได้ แม้จะมีประสบการณ์เป็นประธานศาลฎีกา มาแล้ว เป็นต้น กล่าวคือ ขอให้สามารถนำผู้มีประสบการณ์ มาสอน/สอบวิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์ได้ สะดวกโดยไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งวิชาการ เป็นศาสตราจารย์หรือรองศาสตราจารย์เท่านั้น เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image