ตั้ง 18 ทีมช่วย ร.ร.เอกชนทั่ว ปท.วิเคราะห์จุดเด่น-ข้อด้อยใน พท.รับผิดชอบ

ตั้ง 18 ทีมช่วย ร.ร.เอกชนทั่ว ปท.วิเคราะห์จุดเด่น-ข้อด้อยใน พท.รับผิดชอบ ตัวเชื่อมโรงเรียน ตจว.เข้าถึง สช.

โรงเรียนเอกชน – นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ประชุมร่วมกับผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการศึกษาเอกชนทุกจังหวัด เพื่อมาหารือทิศทางการจัดการศึกษาเอกชนในปี 2564 โดยนำนโยบายนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) “ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง” เพื่อยกกำลังสองการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ ทำเป็นแนวทางในการดำเนินงาน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ปลดล็อกโดยการแก้ระเบียบกฏหมายที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาการศึกษา พร้อมปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานต่างๆ และเปิดกว้างการศึกษาที่ปัจจุบัน สช.ถือเป็นเป็นผู้นำในการใช้แอพพลิเคชั่น “สช.On Mobile” ซึ่งถือเป็นแอพพลิเคชั่นแรกของ ศธ.และสิ่งที่จะเป็นนวัตกรรมในการบริหารของ สช.ต่อไป โดยตนได้ตั้ง Contact person 18 คณะ ให้คณะเหล่านี้รับผิดชอบดูแลโรงเรียนเอกชนแต่ละพื้นที่ ซึ่งการแบ่งเขตพื้นที่นั้น จะแบ่งตามเขตตรวจราชการในประเทศไทย 18 เขต

นายอรรถพลกล่าวต่อว่า Contact person ทั้ง 18 คณะ จะเป็นผู้ประสานงานกับโรงเรียนเอกชนในภูมิภาคกับ สช.พร้อมเข้าไปดูแลช่วยเหลือโรงเรียนทั้งในระบบ และนอกระบบทั่วประเทศ รวมทั้ง ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพัฒนางานด้านวิชาการศึกษา และที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับวิเคราะห์ วิจัยเบื้องต้น เพื่อประกอบการจัดทำข้อเสนอนโยบาย แผนมาตรฐานการศึกษา หลักสูตร แบบเรียน ตำรา สื่อการเรียนการสอน สื่อการศึกษา การผลิตและพัฒนาสื่อนวัตกรรม และเทคโนโลยี การส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษา ทั้งนี้ ต้องจัดทำแผนงาน และโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาในพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบให้กับ สช.ด้วย คาดหวังว่าคณะทำงานจะคอยประสานงานกับส่วนราชการในพื้นที่ และทำงานบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว และทำให้นโยบายปลดล็อก ปรับเปลี่ยน และเปิดกว้าง ที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กำหนดนั้น บรรลุผลเร็วขึ้น

“ผมคาดหวังว่า Contact person จะต้องมีความรัก และผูกพันกับพื้นที่นั้นๆ ดังนั้น ทั้งพื้นที่ และ Contact person จะต้องทำความรู้จักกันและกัน โดย สช.จะนำแอพพลิเคชั่น สช. On Mobile มาประเมินการทำงานของแต่ละคนด้วย ผมคาดหวังว่าบุคคลเหล่านี้จะศึกษาลงลึกถึงข้อมูล จุดเด่น จุดด้อยของโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ที่ตัวเองดูแล พร้อมกับวิเคราะห์หาทางว่าจะช่วยเหลือโรงเรียนเหล่านั้นได้อย่างไร ถือว่าบุคคลเหล่านี้เป็นผู้แทนเลขาธิการ กช.ในการดูแลทุกข์ สุข ของโรงเรียนเอกชนในประเทศ เพราะโอกาสที่โรงเรียนเอกชนในต่างจะจังหวัดจะเข้าถึง สช.โดยตรงนั้น อาจจะยาก บุคคลเหล่านี้จะเป็นตัวเชื่อม และคอยประสานงานระหว่างโรงเรียนกับ สช.โดยตรง” นายอรรถพล กล่าว

นายอรรถพลกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จะให้คณะทำงานทดลองดำเนินงานไปก่อน 1 ปี และจะประเมินการทำงานอีกครั้ง หวังว่าคณะทำงานจะเห็นข้อมูล และปัญหาจากพื้นที่จริง เพื่อนำมาแก้ไขพัฒนาโรงเรียนเอกชนต่อไปได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image