แจง ‘ครูจุ๋ม’ เป็นพี่เลี้ยงเด็ก ‘กนกวรรณ’ ตั้งทีมตรวจสอบ ร.ร.เอกชนทั่วประเทศป้องกันเด็กถูกทำร้าย

ศธ.ร่วมมือสธ. เยียวยาเด็ก ให้ร.ร.รับผิดชอบค่าใช้จ่าย แจง ‘ครูจุ๋ม’ เป็นแค่พี่เลี้ยงเด็ก ‘กนกวรรณ’ ตั้งทีมตรวจสอบทั้งประเทศ สช.พบเครือสารสาสน์ 34 แห่ง ร้องเรียนปัญหา บูลลี่-ลงโทษเด็ก

เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือการแก้ไขปัญหากรณีโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ที่มีนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานราชการ คือ ศธ. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตำรวจ ผู้ปกครอง และโรงเรียน โดยมีข้อสรุปร่วมกันดังนี้ ศธ.จะร่วมกับกรมสุขภาพจิต เพื่อดูแลเยียวยาจิตใจร่างกาย ของนักเรียนและผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบ โดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เข้ามาช่วยเหลือฟื้นฟูจิตใจ และถ้าเด็กไปตรวจร่ายกายและสภาพจิตใจแล้วมีค่าใช้จ่าย ทางโรงเรียนต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพราะถือว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากโรงเรียน ทั้งนี้ต้องดูแลสภาพจิตใจของนักเรียนในโรงเรียนด้วย โดยกรมสุขภาพจิตจะเข้าไปช่วยเหลือจัดกรรมให้เด็กแสดงออกปลดปล่อยความรู้สึกต่อไป ส่วนการดำเนินคดีอาญาที่พี่เลี้ยงรายนี้ได้กระทำ ตำรวจจะเข้ามารับผิดชอบดูแลให้ เบื้องต้นบุคคลรายนี้ไม่ได้เป็นครูพี่เลี้ยง ซึ่งทางโรงเรียนให้พี่เลี้ยงรายนี้ออกจากโรงเรียนแล้ว

“นอกจากนี้ทางตำรวจของความร่วมมือดูกล้องวงจรปิดจากทุกห้องในโรงเรียน ซึ่งสามารถดูย้อนหลังทั้งหมดได้เพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติม และทางโรงเรียนได้ให้ข้อมูลหลายเรื่อง เช่น การลงโทษครูที่อยู่ในเหตุการณ์โดยให้ออกจากโรงเรียนไปแล้ว พร้อมกับลงโทษตักเตือนครูที่แสดงความคิดเห็นให้กำลังใจพี่เลี้ยงคนดังกล่าว ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ทางโรงเรียนจะชี้แจงในการประชุมร่วมกับผู้ปกครองอีกครั้งในวันที่ 29 กันยายนนี้ โดยโรงเรียนต้องชี้แจงและปรับประบบการบริหารจัดการของโรงเรียนใหม่ ทั้งในประเด็นวิชาการ อาหารกลางวันเด็ก การรับครู โดยต้องออกเป็นมาตรการเพื่อชี้แจงกับผู้ปกครองเพื่อให้ผู้ปกครองมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก และถ้าเด็กเรียนในโรงเรียน เด็กจะมีความสุข”นายกมล กล่าว

นายกมล กล่าวต่อว่า ในส่วนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) จะลงพื้นตรวจสอบโรงเรียนต่อไป และจะตรวจสอบโรงเรียนอื่นๆทั่วประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอีก ซึ่งนางกนกวรรณ มอบหมายให้ตน และคณะทำงานลงไปกำกับติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ด้านนายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์จะเห็นว่ามีการกระทำความผิดในวิชาชีพ ซึ่งครูถือเป็นวิชาชีพควบคุม คนที่เข้าไปอยู่ในโรงเรียนเอกชนต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หรือหนังสืออนุญาตจากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ซึ่ง สช.สั่งให้โรงเรียนทบทวนการใช้คำว่าครูพี้เลี้ยงว่าควรมีหรือไม่ เพราะเดิมคำนี้ไม่มีในระเบียบของ สช. ซึ่งตามระเบียบของสช.มีแค่คำว่าพี่เลี้ยงเด็ก และพี่เลี้ยงเด็กไม่ถือเป็นบุคลากรทางการศึกษา ถือเป็นลูกจ้าง ไม่อยู่ภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 แต่บุคคลรายนี้จะอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานแทน

Advertisement

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สช.ไม่ได้กำหนดให้ห้องเรียน English Program หรือ ห้องอีพี จะต้องมีพี่เลี้ยงเด็ก และสช.กำหนดไว้ว่าห้องเรียนอีพีต้องมีเด็กไม่เกิน 25 คนต่อห้อง ซึ่งจากที่ผู้ปกครองให้ข้อมูลว่าห้องเรียนอีพีที่มีครูพี่เลี้ยงรายนี้ดูแล มีนักเรียนถึง 34 คน จึงสั่งให้ ศธจ.นนทบุรี ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ พร้อมกับสั่งให้โรงเรียนแก้ไขโดยด่วน นอกจากนี้พบว่า โรงเรียนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมอื่น นอกเหนือจากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาอีกด้วย ดังนั้น โรงเรียนต้องไปดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆที่ผู้ปกครองร้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนนักเรียนต่อห้อง การเรียกเก็บเงิน การจัดอาหารกลางวันให้นักเรียน ซึ่งสช.จะกำหนดเวลาให้โรงเรียนไปดำเนินการแก้ไข หากโรงเรียนไม่แก้ไข สช.จะดำเนินการตามพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ต่อไป

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้โรงเรียนในเครือสารสาสน์ทั่วประเทศจำนวน 42 แห่ง แต่สัปดาห์ที่ผ่านมาสช.รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ปกครองว่าโรงเรียนในเครืองสารสาสน์ จำนวน 34 แห่ง เช่น การบูลลี่ การจัดการเรียนการสอนของครู การลงโทษนักเรียน และการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม เป็นต้น ซึ่ง สช.จะตั้งคณะทำงานออกไปตรวจสอบโรงเรียนทุกแห่งเพื่อจัดระเบียบโรงเรียนเหล่านี้ต่อไป นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าต่อไปนี้วงจรปิดที่โรงเรียนเอกชนมีควรจะมีจอมอนิเตอร์ที่เห็นได้แบบสาธรณะ ไม่ควรเป็นกล้องวงจรปิดแบบบันทึกแล้วดูย้อนหลังอีกต่อไป และต่อไปนี้โรงเรียนเอกชนต้องแสดงภาพถ่ายและเลขที่ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู พร้อมวันหมดอายุ ติดประกาศให้ผู้ปกครองได้เห็นในสถานที่ที่เปิดเผย หน้าห้องเรียน และในเว็บไซต์ด้วย เพราะต้องการให้ผู้ปกครองเป็นหูเป็นตา ถ้าโรงเรียนจ้างผู้อื่นมาสอนแทนคนที่ติดประกาศ แสดงความโรงเรียนกระทำความผิด เช่น ถ้าโรงเรียนจ้างคนที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพมาทำหน้าที่ครู มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 60,000 บาท

“และถ้ามีหลักฐานพยานเพียงพอว่าบุคคลนี้ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู หรือไม่ได้รับอนุญาตทำหน้าที่ครู แต่กลับทำหน้าที่ครู ให้นำพยานหลักฐานมา สช.พร้อมจะเป็นผู้กล่าวโทษทั้งผู้ปฏิบัติและผู้จ้างวาน ซึ่งมีโทษจำคุก 3 ปี และปรับ 60,000 บาท ส่วนครูที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นต่อแบ่งความผิดเป็น 2 ประเด็นคือ คนที่อยู่ในเหตุการณ์อาจจะบกพร่องในเรื่องของจรรยาบรรณที่มีต่อผู้ใช้บริการ ซึ่งต้องไปดูว่าการกระทำนี้เข้าข่ายและบกพร่องในมาตรฐานวิชาชีพครูข้อใด แต่ถ้ามองในด้านที่ครูยืนดูในขณะที่เด็กถูกปะทุศร้าย ถือเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้รับผิดชอบดูเรื่องนี้”นายอรรถพล กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image