วงเสวนาจี้ ศธ.ยกเครื่องปฏิรูปการศึกษา-ปรับหลักสูตร หลังพบหลายวิชาสอนเหยียดเพศ  

วงเสวนาจี้ ศธ.ยกเครื่องปฏิรูปการศึกษา-ปรับหลักสูตร หลังพบหลายวิชาสอนเหยียดเพศ  

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ที่หอศิลปวัฒนธรรมธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว และภาคีเครือข่าย จัดเสวนา “เมื่อแบบเรียนเป็นอุปสรรคต่อความเสมอภาคระหว่างเพศ” โดย นางสาวศศิธร สรฤทธิ์  ตัวแทนจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิได้ศึกษาเนื้อหาในหนังสือเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับมัธยมศึกษา ปีที่ 6 ปีการศึกษา 2561-2563 พบว่า เนื้อหาในหนังสือเรียนสะท้อนความแตกต่างผู้ชายอยู่เหนือผู้หญิงชัดเจน แบบเรียนไม่ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ

อย่างเนื้อหาในแบบเรียนที่กำหนดบทบาทหน้าที่ เช่น เพศชาย เป็นผู้นำครอบครัว หารายได้เลี้ยงครอบครัว ส่วนเพศหญิง ดูแลความสะอาดในบ้าน ทำอาหารให้ทุกคนรับประทาน อีกทั้งพบการปลูกฝังทัศนคติทางเพศ ให้ผู้หญิงที่ดีต้องรู้จักรักนวลสงวนตัว แต่งกายไม่รัดรูป ไม่เปิดเผยเนื้อตัวมากเกินไป ระมัดระวังตนเองไม่ปล่อยตัวปล่อยใจตามอารมณ์ ฉะนั้นขอเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรแกนกลาง ให้มีเนื้อหาเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียมกันทุกเพศ ทุกวัย รวมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา โดยเฉพาะครูให้มีความรู้ ความเข้าใจในแนวคิดการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย เป็นต้น

ขณะที่ พลอย และนิว ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว ซึ่งออกมาเรียกร้อง 3 ข้อกับ ศธ.คือ 1.หยุดคุกคามนักเรียน 2.ยกเลิกแบบเรียนล้าหลัง และ3.ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ กล่าวร่วมกันว่า เราพบว่าแบบเรียนที่มีปัญหา ไม่ได้มีเพียงวิชาสุขภาพศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีวิชาภาษาไทย วิชาพระพุทธศาสนา ที่ระบุว่าคนหลากหลายทางเพศ ได้ทำกรรมผิดลูกผิดเมียคนอื่นเมื่อชาติที่แล้ว ตลอดจนวิชาหน้าที่พลเมือง ที่มากำหนดบทบาทชายและหญิงชัดเจน อย่างคำถามที่ว่า ใครมีหน้าที่ทำงานบ้าน ซึ่งในความเป็นจริง ปัจจุบันใครก็สามารถทำงานบ้านได้ แต่เนื้อหาระบุคำตอบที่ถูกต้องหนึ่งเดียวคือ แม่ ฉะนั้นจึงอยากย้ำในข้อเรียกร้อง เพื่อไม่อยากให้โรงเรียนหล่อหลอมอะไรผิดๆ ในสังคม และในอนาคตเราอยากจะรณรงค์ให้นักเรียน สามารถแต่งกายตามเพศวิถีในโรงเรียนได้

ส่วน นางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน กล่าวว่า อยากสะท้อนไปยัง ศธ.ว่าโลกไม่เหมือนเมื่อก่อน เด็กสามารถเรียนรู้ผ่านอินเตอร์เน็ตและสื่อสมัยใหม่ต่างๆ ได้เอง ฉะนั้นจะมาออกแบบเนื้อหาหลักสูตร กดทับแล้วให้เด็กยอมเหมือนเมื่อก่อน คงทำไม่ได้อีกแล้ว ทั้งนี้ เห็นด้วยกับการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ การปฏิรูปควรมีตัวแทนเด็กเข้าไปนำเสนอด้วย เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์จริง ไม่ใช่มีแต่ผู้ทรงคุณวุฒิออกแบบหลักสูตร เพราะคนคิดไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้คิดและต้องรับกรรมกันต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image