ส่องสัตว์-ทำโป่งเทียม ‘ป่าภูเขียว’ เรียนรู้การอนุรักษ์สัตว์ป่า ถ่ายทอดนวัตกรรมสู่เยาวชนรุ่นใหม่

ส่องสัตว์-ทำโป่งเทียม ‘ป่าภูเขียว’ เรียนรู้การอนุรักษ์สัตว์ป่า ถ่ายทอดนวัตกรรมสู่เยาวชนรุ่นใหม่

ศาสตร์พระราชา – เมื่อเร็วๆ นี้ ทิพยประกันภัย ร่วมกับศูนย์คุณธรรม กองทัพภาคที่ 2 มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และมูลนิธิธรรมดี นำคณะครูอาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ กว่า 30 คน ร่วมเรียนรู้การฟื้นฟูพื้นที่ป่า และอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ในกิจกรรม “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชาครั้งที่ 8 อนุรักษ์สัตว์ป่าธรรมชาติ ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ” โดยมี นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เป็นประธานในพิธีเปิด

กิจกรรมตามรอยพระราชาครั้งนี้ ได้นำคณะครูอาจารย์กว่า 30 คน เดินทางสู่ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว” จ.ชัยภูมิ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติที่ถูกทำลายโดยชาวบ้านที่เข้าไปปลูกพืช ตั้งหลักแหล่ง รวมถึง ล่าสัตว์ป่า โดยเฉพาะกระซู่ที่เป็นสัตว์ป่าสงวน และปัจจุบันสูญพันธุ์จากป่าภูเขียวไปแล้ว นำไปสู่การประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้ปล่อยสัตว์ป่าคืนถิ่นในบริเวณนี้ เช่น เก้ง กวาง กระจง และนกต่างๆ มีการจัดทำดินโป่งบริเวณทุ่งกะมังเพื่อให้สัตว์มากิน และเผาแปลงทุ่งหญ้า เพื่อให้เกิดหญ้าระบัดที่เป็นอาหารของเก้งกวางในช่วงฤดูแล้ง และบนยอดเนินเหนือบริเวณทุ่งกะมังยังเป็นที่ตั้งของพระตำหนักที่ประทับด้วย

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิพยประกันภัยมุ่งมั่นในการสืบสานศาสตร์พระราชาผ่านการจัดกิจกรรม “ตามรอยพระราชา” อย่างต่อเนื่องในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ และสอดคล้องกับปณิธานของบริษัท ควบคู่กับการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมความเจริญอย่างยั่งยืนของสังคมไทยในทุกมิติ

Advertisement

ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์คุณธรรม และมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด และประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า ศูนย์คุณธรรมได้จัดทำหนังสือโครงการ “หนังสือเดินทางตามรอยพระราชา” ที่คัดสรร 9 เส้นทาง 81 แหล่งการเรียนรู้ เพื่อให้ครูอาจารย์ลงพื้นที่เรียนรู้ศึกษาศาสตร์พระราชา ลงมือทำกิจกรรมเสริมทักษะเรียนรู้ และต่อยอด พร้อมสร้างความเข้าใจ และเข้าถึงคุณธรรม 4.0 คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และเพื่อให้เกิดความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพัฒนา “ศาสตร์พระราชา” ให้ชาวบ้านนำมาปฏิบัติ จนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ฟังการบรรยายจากหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว พร้อมร่วมกิจกรรมทำโป่งเทียม เพื่อเป็นแหล่งอาหารเพิ่มแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับสัตว์ป่า โดย 1 โป่ง สัตว์สามารถกินได้ต่อเนื่องประมาณ 3 เดือน จากนั้นได้ร่วมกันปล่อยสัตว์ป่าจากการเพาะพันธุ์ของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียวคืนสู่ธรรมชาติ ได้แก่ ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ฟ้าหลังขาว เป็นต้น

Advertisement

ต่อด้วยกิจกรรมเดินศึกษาป่า และสัตว์ป่าธรรมชาติ บริเวณทุ่งกะมัง ซึ่งเป็นที่ราบทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ลักษณะคล้ายแอ่งกะละมังอยู่กลางผืนป่า เป็นที่มาของชื่อ ทุ่งกะละมัง หรือทุ่งกะมัง ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของสัตว์ป่านานาชนิด ทำให้สามารถพบเห็นสัตว์ต่างๆ เช่น เนื้อทราย เก้ง กระจง นกกระทาดงอกสีน้ำตาล ออกมาหาอาหารโดยเฉพาะในช่วงบ่าย

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ยังเป็นแหล่งดูนกที่แตกต่างจากแหล่งดูนกอื่นๆ ในภาคอีสาน คือมีแหล่งน้ำขนาดต่างๆ กระจายอยู่เกือบทุกพื้นที่ จึงสามารถพบเห็นนกได้หลากหลายประเภท ทั้งนกน้ำ นกทุ่ง และนกป่า รวมถึงนกหายาก อย่างเช่น นกกระสาดำ จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือสามารถพบเห็นนกป่าได้มากทั้งชนิด และจำนวน เช่น นกแต้วแล้วใหญ่หัวสีน้ำตาล หลายชนิดมีความสำคัญ และถูกจัดให้เป็นนกเฉพาะถิ่นในระดับภูมิภาค ซึ่งมีถิ่นแพร่กระจายพันธุ์อยู่เพียงไม่กี่ประเทศในโลก เช่น ไก่ฟ้าพญาลอ นกโกโรโกโส

ผู้ร่วมกิจกรรมตามรอยพระราชาทุกคน ยังได้รับชุดหนังสือภาษาอังกฤษ “King Bhumibol Adulyadej of Thailand” จำนวน 3 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติพระราชจริยวัตร และพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้นำไปถ่ายทอดแก่นักเรียนผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ให้เยาวชนรุ่นหลังได้รู้จักพระองค์ท่าน และสามารถสื่อสารให้ชาวต่างชาติฟังได้ว่า ทำไมคนไทยจึงรัก และผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งยังให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรม

หลังการลงพื้นที่เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติแล้ว คณะครูได้ทำกิจกรรมถอดบทเรียน นำโดย อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ผ่านเกมกระดานสื่อการเรียนรู้ 3 แบบ ได้แก่ “Game of Our Nation” ที่สอดแทรกคุณธรรม 4 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา “9 ตามรอยนวัตกรรมของพ่อ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล” ถอดบทเรียน และต่อยอดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมจากกิจกรรมตามรอยพระราชา และ “The King’s Journey Learn English an Example of an Invention” เรียนรู้ภาษาอังกฤษจากหนังสือชุด King Bhumibol Adulyadej of Thailand ซึ่งคณะครูอาจารย์สามารถนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปต่อยอดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมมอบหนังสือมรดกแห่งแผ่นดิน จากโครงการปันความรู้สู่สังคมให้กับโรงเรียนบ้านทุ่งลุยลาย และโรงเรียนชุมชนห้วยยาง และมอบถุงยังชีพ กองบุญ “ธรรมดีด้วยใจ ต้านภัยโควิด” ให้แก่ชาวบ้าน 7 หมู่บ้านใน ต.ทุ่งลุยลาย รวม 350 ครอบครัว โดยได้รับเกียรติจาก พ.อ.ยุทธนา มีทิพย์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.ชัยภูมิ เป็นประธานในพิธีมอบ ทั้งนี้ มีเป้าหมายในการมอบถุงยังชีพรวมทั้งหมด จำนวน 5,000 ครอบครัว ในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ

สำหรับกิจกรรมตามรอยพระราชา จัดขึ้นรวม 8 ครั้ง ได้แก่ 1.ชุมชนบ้านศาลาดิน จ.นครปฐม 2.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี 3.โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ โครงการหุบกะพง จ.เพชรบุรี 4.เขื่อนขุนด่านปราการชล ศูนย์ภูมิรักษ์ จ.นครนายก 5.โครงการพัฒนาชุมชนบ้านอ่างเอ็ด จ.จันทบุรี 6.มหาชีวาลัยอีสาน จ.บุรีรัมย์ 7.อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ 8.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image