ปลูกจิตสำนึก ‘เด็กปฐมวัย’ นำร่อง ร.ร.อนุบาลราชบุรี

ปลูกจิตสำนึก ‘เด็กปฐมวัย’ นำร่อง ร.ร.อนุบาลราชบุรี

ปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพที่สำคัญในกลุ่มเด็กและเยาวชนไทย ยังคงเป็นเรื่องบุหรี่ และเหล้า ซึ่งกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ จะเห็นว่าสถานการณ์ในเด็กและเยาวชน มีแนวโน้มการสูบ และดื่มครั้งแรกในช่วงอายุที่น้อยลง ขณะที่อัตราการสูบ และดื่มยังมีจำนวนที่ทรงตัว หากไม่เฝ้าระวังในการลดนักสูบ และนักดื่มหน้าใหม่ ก็อาจกลายเป็นนักสูบ และนักดื่มประจำได้

ดังนั้น กระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ และรณรงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้ และลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อเหล้า-บุหรี่ จึงขยายผลมาที่ “เด็กเล็ก” ก่อนที่จะย่างเข้าสู่วัยรุ่น เนื่องจากเด็กเล็กอายุ 5-10 ปี เป็นวัยที่กำลังพัฒนาทัศนคติ ความเชื่อ อันเป็นรากฐานของการมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องเหล้า และบุหรี่ ถ้าได้รับการฝึกฝน และพัฒนาผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ จะเป็นการวางรากฐานการคิดเชิงระบบให้เด็กมีภูมิคุ้มกันที่ดีในการรู้เท่าทัน และรู้วิธีการจัดการปัญหาในชีวิตที่เกิดกับตนเอง มีผลทำให้เด็กพึ่งตนเองในการแก้ปัญหาได้ โดยไม่ต้องพึ่งเหล้า และบุหรี่

โครงการพัฒนาจิตสำนึกเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงจากบุหรี่และสุราในเด็กปฐมวัย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายครูโรงเรียนอนุบาล และประถมศึกษาตอนต้น เพื่อพัฒนาจิตสำนึกให้รู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงจากบุหรี่ และสุรา จัดขึ้นที่ โรงเรียนอนุบาลราชบุรี จ.ราชบุรี

Advertisement

ดร.อัญญมณี บุญซื่อ หัวหน้าโครงการพัฒนาจิตสำนึกเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงจากบุหรี่และสุรา และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย กล่าวว่า โครงการนี้จะมีส่วนช่วยพัฒนาจิตสำนึกต่อปัจจัยเสี่ยงเรื่องเหล้า และบุหรี่ ในรูปแบบการสร้างเครือข่ายกลุ่มเด็กระดับอนุบาล และประถมต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ก้าวเข้ามาเป็นนักสูบ และนักดื่มหน้าใหม่ ซึ่งมีข้อมูลงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกา พบว่า เด็กอนุบาลอายุ 3-6 ปี สามารถซึมซับทัศนคติ ความเชื่อ รับรู้เรื่องการสูบบุหรี่ และดื่มเหล้า ได้จากผู้ใหญ่ และสภาพแวดล้อมของสังคม โดยเฉพาะเด็กที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ และดื่มเหล้า เด็กเหล่านี้จะรับรู้ว่าเป็นสิ่งที่ปกติธรรมดาตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียน ถ้าปล่อยให้เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ เมื่อเด็กเติบโตขึ้น อาจจะกลายเป็นผู้เสพไปโดยไม่รู้ตัว

“โครงการนี้ ไม่ได้มุ่งเน้นให้ความรู้เรื่องเหล้าบุหรี่ไม่ดี ทุกคนรู้ว่าไม่ดี แต่ตัวที่เป็นปัญหา คือ ทัศนคติ ความเชื่อ ซึ่งมาจากการซึมซับจากครอบครัว สื่อ สิ่งแวดล้อม ทำให้เด็กเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เราจึงเน้นในการพัฒนาสมรรถนะ ทั้งความเชื่อ ทัศนคติ ลักษณะนิสัย ภาพลักษณ์ต่อตนเอง ความรู้ ทักษะ นำมาประมวลกัน โดยผ่านกระบวนการพัฒนากายและใจไปพร้อมกัน” ดร.อัญญมณี กล่าว

โดยโครงการออกแบบยุทธศาสตร์ “น้ำดีไล่น้ำเสีย” คือสอนวิธีการจัดการความกลัว ความเครียดในแนวทาง และค่านิยม ที่จะพึ่งตนเองในการแก้ปัญหา มากกว่าการพึ่งเหล้าบุหรี่ รวมทั้ง ดูแลตนเองให้มีสุขอนามัยในสภาพแวดล้อมที่ต้องเจอกับภัยจากควันบุหรี่มือสอง หรือมือสาม ที่เกิดจากเถ้าบุหรี่ที่ติดตามตัวผู้สูบ เสื้อผ้า หน้าผม และตามสิ่งแวดล้อมต่างๆ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกับประเพณี วัฒนธรรมของคนราชบุรี เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้สอดรับกับวิธีชีวิตของเด็ก

Advertisement

นางปราณี ทัยคุปต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลราชบุรี จ.ราชบุรี กล่าวว่า ครอบครัวเป็นสถาบันหลักที่สำคัญในการปลูกฝัง บ่มเพาะเรื่องของวินัยเด็ก รวมถึง ทุกเรื่อง พ่อแม่มีส่วนสำคัญในการเป็นต้นแบบที่ดีให้กับบุตรหลาน เรื่องเหล้าบุหรี่จึงไม่ควรมีในบ้าน เด็กอายุ 0-6 ปี เป็นวัยทองของชีวิต พ่อแม่ต้องตระหนักว่าอยากให้ลูกเป็นอย่างไร สามารถปลูกฝังในช่วงนี้ได้ เพราะมีผลโดยตรงต่อสมองส่วนหน้าที่กำลังพัฒนา วัยนี้จะซึมซับง่ายจากสิ่งที่เราปลูกฝัง และจะอยู่ที่จิตใต้สำนึก ดังนั้น หากพ่อแม่มีพฤติกรรมเสี่ยง ลูกจะซึมซับเข้าไปในจิตใต้สำนึก หากต้องการให้ลูกเป็นเด็กดี ก็ต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูกด้วย การสอนที่ดีที่สุด คือการเป็นแบบอย่างที่ดี การกระทำมีค่ากว่าคำสอน ต้องทำให้ดู การกระทำสำคัญกว่าคำพูด

ทั้งนี้ โครงการได้วางแผนการลงพื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กวัยอนุบาล และประถมต้น ให้กับโรงเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศ โดยนำร่องใน 10 โรงเรียน เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ดีงาม ควบคู่ไปกับการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงทางสังคมให้ซึมซับในตัวเด็กตั้งแต่วัยเยาว์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image