น.ร.อดข้าวเช้าทำคุณภาพลด จี้ ศธ.ผนึก ‘สธ.-มท.-พม.’ ร่วมด้วยช่วยกัน

น.ร.อดข้าวเช้าทำคุณภาพลด จี้ ศธ.ผนึก ‘สธ.-มท.-พม.’ ร่วมด้วยช่วยกัน แนะ ‘ณัฏฐพล’ รอบคอบก่อนยุบ ‘ร.ร.เล็ก’

โรงเรียนเล็ก – ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ จากที่ตนลงพื้นที่โรงเรียนขนาดเล็กใน จ.สกลนคร จำนวน 20 แห่ง พบปัญหาอย่างหนึ่งที่รัฐอาจละเลยไปในเรื่องการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะเดิมมุ่งเน้นเรื่องการปรับโครงสร้าง ระบบการบริหารงาน และหลักสูตรการเรียนการสอน ทำให้ประเทศไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาได้เสียที ปัญหาที่ถือเป็นเส้นผมบังภูเขา คือโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 8,000 แห่ง ที่พบสาเหตุสำคัญของปัญหาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก คือนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้กินอาหารเช้า ซึ่งทำให้เรียนไม่ไหว และไม่มีสมาธิในการเรียน แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะทำหลักสูตรดีขนาดไหน หรือจะมีครูสอนที่เก่งแค่ไหน แต่ถ้าเด็กขาดการกินอาหารเช้าไป ประสิทธิภาพในการเรียนจะลดลง ทั้งนี้ พบว่าเด็กยังมีปัญหาภาวะทางโภชนาการ ผอม แคระแกรน น้ำหนัก และส่วนสูง ไม่ได้มาตรฐาน

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า นอกจากจะพบปัญหาที่นักเรียนไม่ได้ทานอาหารเช้าแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่พบคือ ผู้ปกครองคิดว่าอาหารเช้าไม่สำคัญ จึงไม่ใส่ใจเรื่องอาหารเช้าของเด็ก สิ่งเหล่านี้เป็นสภาพที่โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่พบเจอ อย่างไรก็ตาม ตนได้ทดลองให้นักเรียนกินอาหารเช้า เป็นเวลา 3 เดือน โดยให้ผู้บริหาร และครูช่วยกันทำอาหารเช้า ซึ่งอาหารเช้านี้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย หลังจากให้นักเรียนกินอาหารเช้า นักเรียนเริ่มมีความแจ่มใส น้ำหนัก และส่วนสูง ได้มาตรฐานผ่านเกณฑ์ปกติ ส่วนการเรียนพบว่าเรียนดีขึ้นทุกคน

“ทำให้เห็นว่าปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็ก หากมีนวัตกรรม มีองค์ความรู้อื่นๆ มีความร่วมมือจากชุมชน ก็สามารถนำสิ่งเหล่านี้มาแก้ไขปัญหา ได้มากกว่าการยุบโรงเรียน ผมอยากให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.และนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ลงพื้นที่ไปดูโรงเรียนขนาดเล็กใน จ.สกลนคร แล้วจะเห็นว่าแม้จะยุบโรงเรียนขนาดเล็กได้ แต่จะมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ยากจนมากๆ ไม่มีแม้กระทั่งค่าเดินทาง ดังนั้น การยุบโรงเรียนขนาดเล็กต้องระมัดระวังให้ดี เพราะปัจจุบันความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้น สูงขึ้นทุกวัน ควรกลับไปดูให้ดีว่าโรงเรียนขนาดเล็กแห่งไหนสามารถทำให้ดีขึ้นได้ ซึ่งโรงเรียนนี้จะกลายเป็นคำตอบ และเป็นทางเลือกของเด็กต่อไป มากกว่าจะไปยุบโรงเรียนเพียงอย่างเดียว” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ พบกิจกรรม “กินกระตุ้น กระตุก” ที่ ศธ. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาไทย (มท.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทำงานร่วมกัน ซึ่งช่วยพัฒนาเด็กครบทุกด้าน ทำให้เห็นว่าหากกระทรวงไหนทำงานตามลำพัง ก็ไปไม่รอด ดังนั้น ถ้าจะพัฒนาเด็ก ทั้ง 4 กระทรวงต้องทำงานร่วมกัน มองว่าการลงทุนเรื่องอาหารเช้า และการบูรณาการร่วมกัน 4 กระทรวง ถือเป็นปัจจัย เป็นทางเลือก และทางออกสำหรับการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก

Advertisement

“ต้องมองว่าจะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กดีขึ้นได้อย่างไร ไม่ใช่มองว่าโรงเรียนขนาดเล็กเป็นตัวถ่วงเรื่องคุณภาพ และงบประมาณ แต่ต้องคิดว่าปัจจัยที่ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เกิดจากปัญหาเด็กเกิดน้อยลง หรือเกิดจาก ศธ.เนื่องมาจากปัญหาการบริหารงาน ทรัพยากร บุคลากร หรือการบรรจุแต่งตั้ง ดังนั้น การจัดการโรงเรียนขนาดเล็กต้องมองอย่างละเอียด และรอบคอบ ไม่ใช่เดินหน้ายุบอย่างเดียว” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image