ชะลอปล่อยกู้ ‘ช.พ.ค.8’ ไม่มีกำหนด ‘สกสค.’ห่วงเพิ่มภาระหนี้ครู

ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
ชะลอปล่อยกู้ ‘ช.พ.ค.8’ ไม่มีกำหนด ‘สกสค.’ห่วงเพิ่มภาระหนี้

ชะลอปล่อยกู้’ช.พ.ค.8’ไม่มีกำหนด ‘สกสค.’ห่วงภาระ-เงินติดบช.น้อย ศธ.เล็งเดินแผนแก้หนี้ครูหลังโควิด

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูในส่วนของศธ. มีแผนที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ข้อเสนอการลดภาระหนี้สินของรัฐบาล สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 มีประโยชน์กว่ามาตรการแก้ปัญหาระยะยาวที่ศธ.เสนอ ซึ่งครูและบุคลากรทางการศึกษาเองก็สามารถเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้ ดังนั้น จึงต้องรอให้แผนลดภาระหนี้สินของรัฐบาลเสร็จสินไปก่อน จากนั้นจึงจะเริ่มดำเนินการตามแผนแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ที่นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการศธ.ได้จัดทำไว้ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดภาระหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษาลงได้อย่างแน่นอน
นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า สำหรับแผนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูที่วางไว้นั้น เบื้องต้นจะมีการลดดอกเบี้ย ยืดระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ให้ยาวขึ้น เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาแต่ทั้งหมดนี้จะต้องทำความเข้าใจเพราะหนี้สินของครูมีหลายกลุ่มทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครู สถาบันการเงินทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งที่ผ่านมานายอนุชา ได้หารือและได้ข้อสรุปเสนอให้ตนพิจารณาแล้ว แต่ต้องรอให้มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐดำเนินการเรียบร้อยก่อน จึงจะสามารถประกาศเดินหน้าได้อย่างเป็นทางการ
นายธนพร สมศรี เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาสกสค.ปล่อยกู้เงินเพื่อช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษาตามโครงการ การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และโครงการการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีที่คู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.)โครงการที่ 7 เสร็จสิ้นไปตั้งแต่ปี 2554 ส่วนการปล่อยกู้ช.พ.ค.-ช.พ.ส. ในโครงการที่ 8 นั้น ในช่วงนี้จะยังไม่มีการปล่อยกู้ เพราะตามนโยบายศธ.ให้ระมันระวังเรื่องภาวะหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษา ขณะเดียวกันยังต้องปฏิบัติตามระเบียบศธ.ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 โดยจะต้องมีเงินคงเหลือเข้าบัญชีหลังจากหักหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของรายรับ ซึ่งผู้กู้ส่วนใหญ่มีเงินเหลือติดบัญชีไม่เพียงพอสำหรับการกู้ยืมในรอบใหม่อยู่แล้ว ดังนั้น โครงการช.พ.ค.8 จึงยังไม่มีแนวโน้นจะเริ่มต้นไปโดยปริยาย
“ตอนนี้ผู้กู้ช.พ.ค.-ช.พ.ส.ส่วนใหญ่มีเงินเหลือติดบัญชีน้อยอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่มีแนวโน้มที่จะปล่อยกู้ช.พ.ค.-ช.พ.ส. ในโครงการที่ 8 และโดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการนำเงินของสมาชิกช.พ.ค.-ช.พ.ส.ไปปล่อยกู้ เพราะถือว่าผิดเจตนารมณ์ อยากให้เงินในส่วนนี้ นำมาใช้ช่วยเหลือดูแลครอบครัวกรณีสมาชิกเสียชีวิต ไม่ใช่ให้นำเงินในอนาคตมาใช้ ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้น” นายธนพร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image