รัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ มอบ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ฯ ให้ “อังคณา นีละไพจิตร”

รัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ เสนอชื่อ ” อังคณา นีละไพจิตร ” รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ฯ

 

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เสนอชื่อ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อรับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการปกครอง

โดยคำประกาศเกียรติคุณ ระบุว่า นางอังคณา นีละไพจิตร เริ่มทำงานเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลังสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน หลังจากสามีถูกลักพาตัวและถูกบังคับสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๔๙ นางอังคณาและครอบครัวร่วมก่อตั้งมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (The Justice for Peace Foundation (JPF)กับเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อติดตามการทำงานในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และจัดงานฝึกอบรมด้านสิทธิมนุษยชนและกระบวนการสันติภาพแก่ผู้หญิง จนต่อมา ในปี ๒๕๕๘ได้รับการเสนอชื่อและแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ภายหลังจากการสิ้นสุดวาระกรรมการนักสิทธิมนุษยชน นางอังคณา นีละไพจิตร ยังคงมุ่งมั่นทำงานด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน รวมถึงรัฐบาล ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้เสียในประเด็นต่างๆ เช่น ประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทั้งโครงการของภาครัฐและภาคเอกชน และได้นำองค์ความรู้จากการทำงานมาถ่ายทอดผ่านงานวิชาการ ทั้ง งานเขียน การสอน และการบรรยายในสถาบันการศึกษา

Advertisement

นอกจากนี้ในฐานะผู้ส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษชนนางอังคณายังได้รับการยอมรับจากองค์กรระหว่างประเทศและสื่อมวลชนต่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ สหภาพยุโรป

 

สำหรับ คำประกาศเกียรติคุณมีรายละเอียดดังนี้

Advertisement

 

นางอังคณา นีละไพจิตร ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการปกครอง ระบุว่า

นางอังคณา นีละไพจิตร เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ ๖๔ ปี สำเร็จการศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๒๓ และได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูง หลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข จากสถาบันพระปกเกล้า เมื่อพ.ศ. ๒๕๕๒ ในปัจจุบันได้ทำงานส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (The Justice for Peace Foundation (JPF) ดำรงตำแหน่งเป็นประธาน ซึ่งทำงานให้ความช่วยเหลือเหยื่อจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงเหยื่อการทรมาน การบังคับบุคคลสูญหาย และสนับสนุนส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง

นางอังคณา นีละไพจิตร เริ่มปฏิบัติงานครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ โดยรับราชการเป็นพยาบาลวิชาชีพที่โรงพยาบาลศิริราช ต่อมา พ.ศ. ๒๕๔๙ เปลี่ยนมาเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หลังสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน หลังจากสามีถูกลักพาตัวและถูกบังคับสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๔๙ นางอังคณา นีละไพจิตร และครอบครัว ได้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (The Justice for Peace Foundation (JPF) กับเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อติดตามการทำงานในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย รวมทั้งมีการจัดอบรมด้านสิทธิมนุษยชนและกระบวนการสันติภาพแก่สิทธิสตรี ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ นางอังคณา นีละไพจิตร ได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหลังจากนั้นได้ลาออกจากตำแหน่งเป็นกรรมการนักสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

นางอังคณา นีละไพจิตร ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและร่วมเขียนรายงานประเทศไทยตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๐ (Thailand Country Reporter on the UN International Convention on Civil and Political Rights- ๒nd Periodic Review) พ.ศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๕๗ เป็นกรรมาธิการการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ

นางอังคณา นีละไพจิตร ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน รวมถึงรัฐบาล ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้เสียในประเด็นต่าง ๆ เช่น ประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทั้งโครงการของภาครัฐและภาคเอกชน และได้นำองค์ความรู้จากการทำงานมาถ่ายทอดผ่านงานวิชาการ ดังนี้

ด้านการสอน ได้เป็นวิทยากรบรรยายและสอน เช่น วิทยากรบรรยายฃให้นักศึกษานานาชาติเรื่อง “สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย”, โครงการ Council on International Educational Exchange (CIEE) แห่งรัฐเมนน์ สหรัฐอเมริกา, ๒๘ มกราคม ๒๕๖๒ ณ ขอนแก่น เป็นวิทยากรบรรยาย “นักปกป้องสิทธิมนุษยชน” หลักสูตรประกาศนียบัตรสิทธิมนุษยชนสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปสม.) สถาบันพระปกเกล้า, ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ และเป็นวิทยากรบรรยาย “สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย”, นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓.

ด้านผลงานทางวิชาการ มีผลงานเขียนหรืองานวิจัย ดังเช่น“ผู้หญิง ความยุติธรรม และความทรงจำบาดแผล” อังคณา นีละไพจิตร, ปาฐกถา ๑๐๕ ปี ชาตกาลท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์, มกราคม ๒๕๖๐. และ “บันทึกนอกบรรทัด: 4 ปีที่หายไป”, อังคณา นีละไพจิตร, คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ, ๒๕๕๑.

ด้านบริการวิชาการ การทำนุ บำรุง ศิลปวัฒนธรรม ได้ร่วมเขียนรายงานประเทศตามอนุสัญญาการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ(CERD)เสนอต่อคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติแห่งสหประชาชาติ การรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมลายูมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนจัดทำสารคดีนำเสนอความรุนแรงที่ผู้หญิงมุสลิมในภาคใต้เผชิญกับปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ และการจัดทำแนวปฏิบัติในการคุ้มครองและส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมลายูมุสลิมชายแดนใต้

นอกจากนี้ในฐานะผู้ส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษชนนางอังคณายังได้รับการยอมรับจากองค์กรระหว่างประเทศและสื่อมวลชนต่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ สหภาพยุโรป และสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แห่งประเทศไทย (The Foreign Correspondents’ Club of Thailand: FCCT)

การอุทิศตนเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษชนทำให้นางอังคณา นีละไพจิตร ได้รับเกียรติยศและรางวัลจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น การได้รับพระราชทานรางวัล “ผู้หญิงอิสระ” จากพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาธินัดดามาตุ พ.ศ. ๒๕๕๑ และได้รับรางวัล “ผู้หญิงที่มีบทบาทปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” จากคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๗ ในเดือนสิทธิมนุษยชน เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ การยกย่องจากสภาสหภาพยุโรปในฐานะ “นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง” (Women Human Rights Defender) และได้รับการยกย่องจากองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ให้เป็น “ผู้นำของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ของประเทศไทย” รับรางวัล “รางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน” (Gwangju Prize for Human Rights) จากประเทศเกาหลีใต้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ และ นอกจากนั้นใน พ.ศ ๒๕๕๓ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “De Chevalier De I’Ordre de la Le’gion d’Honneur” จากประธานาธิบดีของประเทศฝรั่งเศส ในฐานะ “นักสิทธิมนุษยชนแถวหน้าคนหนึ่งของประเทศไทย

ได้รับการยกย่องจากองค์การเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศและเสริมพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN WOMEN) ให้เป็นหนึ่งใน “สตรีผู้ประสบความสำเร็จของโลก” (Women of Achievement) และในเดือนธันวาคม ๒๕๖๐ ได้รับการยกย่องจากรัฐบาลสาธารณรัฐฟินแลนด์ ในฐานะผู้ส่งเสริมและริเริ่มในการสร้างความเสมอภาคในสังคม (The Hän Honour) และรางวัลแมกไซไซ จากมูลนิธิรามอน แมกไซไซ โดยคณะกรรมการผู้ประกาศรางวัลได้กล่าวคำประกาศว่า “คณะกรรมการได้ตระหนักถึงความกล้าหาญอย่างแน่วแน่ในการแสวงหาความยุติธรรมให้กับสามีของเธอและเหยื่อความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เธอทำงานอย่างเป็นระบบและไม่บิดเบือนเพื่อปฏิรูประบบกฎหมายที่มีข้อบกพร่องและไม่เป็นธรรม ถือเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าเธอคือคนธรรมดาที่ถ่อมตน แต่สามารถส่งผลกระทบระดับชาติต่อการยับยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

จากผลงานอันโดดเด่นและการอุทิศตนเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษชน จนเป็นที่ประจักษ์ว่า นางอังคณา นีละไพจิตร เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในทางวิชาการและการนำหลักการไปปฏิบัติอันเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งในการเรียนการสอนวิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์จึงขอเสนอปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการปกครอง แด่ นางอังคณา นีละไพจิตร เพื่อประกาศเกียรติคุณให้ปรากฏและเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นเจริญรอยตามสืบไป

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘อังคณา’ ปาฐกถา จวกปมอุ้มหาย ชี้ ‘เตียง ศิริขันธ์’ คนแรกในปวศ.ที่ถูกบันทึก

อังคณาน้ำตาซึม ทรรศนะความมั่นคงบิ๊กแดง ชี้สร้างความหวาดกลัวเรื่องคอมมิวนิสต์

‘อังคณา’ ขอบคุณอนาคตใหม่ แฉหลักฐานไอโอทหาร สร้างข่าวใส่ร้าย โจมตีการทำงานนักสิทธิฯ

อดีตกสม. ชี้ น่าละอาย ‘อาจารย์ม.ดัง’ ใช้เรื่องเพศ เป็นเครื่องมือโจมตี-สร้างเกลียดชัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image