อังคณาน้ำตาซึม ทรรศนะความมั่นคงบิ๊กแดง ชี้สร้างความหวาดกลัวเรื่องคอมมิวนิสต์

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นกรณี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก บรรยายพิเศษ ในหัวข้อเรื่อง “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” ที่หอประชุมกิตติขจร กองบัญชาการกองทัพบก ความว่า

#แผ่นดินของเราในมุมมองสิทธิมนุษยชน : ความมั่นคงของรัฐ กับความมั่นคงของมนุษยชน (National Security : Human Security)

ฟังท่าน ผบ.ทบ.แสดงทัศนะเรื่องความมั่นคงแม้จะเป็นความเห็นส่วนตัวแต่คงทำให้หลายคนกังวลถึงความพยายามเข้ามามีบทบาทของกองทัพในทางการเมือง การแสดงความเห็นเมื่อวานเป็นความคิดด้านความมั่นคงบนความหวาดระแวง และต่อต้านคนที่คิดต่างเห็นต่าง โดยไม่มีมิติด้านสิทธิมนุษยชนหรือความมั่นคงของมนุษย์เลยทั้งที่ความมั่นคงของรัฐ และความมั่นคงของมนุษยชนจำเป็นต้องเดินไปด้วยกันไม่สามารถแยกจากกัน เช่นเดียวกับสิทธิพลเมืองที่ไม่อาจแยกจากสิทธิทางการเมืองได้ ส่วนตัวมี 2-3 ประเด็นที่อยากให้ความเห็นในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน

#ประการที่ 1 #หลักสิทธิและความเสมอภาค
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Human Rights Declaration) ที่ทั่วโลกยอมรับร่วมกันได้เน้นย้ำถึงการยอมรับศักดิ์ศรีแต่กำเนิด และสิทธิที่เท่าเทียมกันและที่ไม่อาจเพิกถอนได้ของมนุษยชาติอันเป็นพื้นฐานแห่งอิสรภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพในโลก โดยที่การไม่นำพาและการหมิ่นในคุณค่าของสิทธิมนุษยชน ยังผลให้มีการกระทำอันป่าเถื่อนซึ่งเป็นการขัดอย่างร้ายแรงต่อมโนธรรมของมนุษยชาติ และได้มีการประกาศให้ความมี #อิสรภาพในการพูด #ความเชื่อ และ #อิสรภาพจากความหวาดกลัว โดยสิทธิและอิสรภาพจะต้องไม่ถูกแบ่งแยกด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง หรือพื้นเพทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน

Advertisement

#ประการที่ 2 การสร้างความหวาดกลัวเรื่อง #คอมมิวนิสต์ นึกไม่ถึงว่า ผบ.ทบ.จะยังหยิบยกเรื่องคอมมิวนิสต์มาพูด หรือพยายามสร้างความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ให้กลับมาใหม่ ส่วนตัวเวลานึกถึงคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยมักจะนึกถึงภาพ #อนุสาวรีย์ถังแดง ทางตอนใต้ของจังหวัดพัทลุง ที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างเพื่อเตือนความทรงจำอันโหดร้าย ในช่วงการปราบปรามคอมมิวนิสต์ (ประมาณปี 2506 -2016) ตามนโยบายรัฐบาลเผด็จการสมัยจอมพลถนอม กิติขจร แม้ชาวบ้านเชื่อว่าน่าจะมีคนที่ถูกอุ้มฆ่าแล้วเผาในถังน้ำมันไม่ต่ำกว่าสองพันคน แต่สุดท้ายกรณีนี้รัฐไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้แม้แต่คนเดียว ทำให้เหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งใน #วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประเทศไทย

#ประการที่ 3 รัฐธรรมนูญมาตรา ๑ และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อบทที่๑ – สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตัวเอง – Right of Self Determination

มีหลายถ้อยคำทางสิทธิมนุษยชนที่เป็นความอ่อนไหวอย่างยิ่งในทัศนะของหน่วยงานความมั่นคงที่มักกังวลว่าจะนำไปสู่การแยกดินแดน ไม่ว่าจะเป็นคำว่า Indigenous People (IDPs) หรือชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งหมายถึงกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนนั้นมานาน มีภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อหรือศาสนาของตนเองที่ปฏิบัติสืบเนื่องต่อกันยาวนาน ความที่ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชาติพันธ์ทำให้มีความเป็นพหุวัฒนธรรม (Pleural Cultural) อย่างไรก็ตามด้วยความกังวลว่ากลุ่มคนเหล่านี้ที่อยู่มาช้านานอาจเรียกร้องไปสู่การปกครองตนเอง ประเทศไทยจึงไม่นิยามคำว่า Indigenous People แต่เลือกใช้คำว่า Ethnic Minorities หรือชาติพันธุ์กลุ่มน้อย แทน ทั้งที่หลายประเทศทั่วโลกนิยมใช้คำนี้เพื่อเป็นการให้เกียรติและยอมรับสิทธิในการเป็นคนดั้งเดิมหรือคนที่อยู่ในดินแดนนั้นมาก่อน แต่ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่อย่างไร เราคงได้ยินกลุ่มคนหลายกลุ่มในประเทศไทยเรียกตัวเองว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง”เพื่อยืนยันอัตลักษณ์และตัวตนของพวกเขา

Advertisement

#รัฐธรรมนูญมาตรา๑ ในส่วนมาตรา ๑ ของรัฐธรรมนูญนั้น ที่ผ่านมามีหลายฝ่ายเสนอให้เพิ่มคำว่า “ประเทศไทยเป็นพหุวัฒนธรรม” เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของคนหลากหลายชาติพันธุ์ในประเทศไทย แต่ก็มักถูกตีความว่าคนที่เสนอมักต้องการแบ่งแยกดินแดน อันที่จริงรัฐน่าจะทราบแล้วว่าการแบ่งแยกดินแดน หรือเกิดของประเทศใหม่ไม่ได้กระทำกันง่ายๆ นอกเสียจากว่าเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งและนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง ทั้งนี้การเสนอให้ก่อตั้งประเทศใหม่ต้องเสนอในที่ประชุมสภาความมั่นคงสหประชาชาติ และต้องมีประเทศสมาชิกเห็นด้วยถึง 2/3 ตัวอย่างที่เห็นในอาเซียน คือกรณี กรณีติมอร์ เลสเต ซึ่งข้อนี้รัฐเองโดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงจำเป็นต้องระมัดระวังอย่างมากที่จะไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการทรมานและการบังคับบุคคลสูญหาย ซึ่งกระทำไม่ได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ แม้แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือภาวะสงคราม ทั้งนี้การบังคับบุคคลสูญหายยังถือเป็นความผิดที่ไม่อนุญาตให้มีการนิรโทษกรรมตามกฎหมายสากลอีกด้วย

ส่วนในข้อบทที่ 1 ICCPR #สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตัวเอง – Right of Self Determination แม้ประเทศไทยจะให้สัตยาบัน ICCPR แต่ไทยก็ได้มีถ้อยแถลงตีความในความหมายของข้อบทนี้ว่า “การใช้สิทธิการกำหนดเจตจำนงตนเอง ไทยมิให้ตีความว่า อนุญาตหรือสนับสนุนการกระทำใดๆ ที่จะเป็นการแบ่งแยกดินแดน”

อันที่จริงการแสดงทัศนะเรื่อง #แผ่นดินของเรา จะมีประโยชน์อย่างมากหากเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงทัศนะในมุมมองที่กว้างขวางเป็นอิสระ ไม่จำกัดแต่เรื่องความมั่นคงแบบหวาดระแวง และการแสดงทัศนะแบบก้าวร้าว ทุกฝ่ายควรเรียนรู้และเข้าใจกันมากกว่าการผลักไสคนที่คิดต่างเห็นต่างออกไป และมองว่าคนเหล่านั้นเป็นศัตรู อันที่จริงทหารควรยอมรับว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างสงบที่ไม่สร้างความเกลียดชังหรือนำไปสู่การใช้ความรุนแรง เป็นสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญและอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคีได้รับรองไว้ การแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องการเมืองทุกฝ่ายจึงควรแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเพื่อนำมาสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน มากกว่าคอยมาจับผิดและนำไปสู่การร้องทุกข์กล่าวโทษในลักษณะการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชน (Strategic Litigation against Public Participation –SLAPP) หรือที่เรียกว่า #การฟ้องปิดปาก หรือฟ้องเพื่อกลั่นแกล้ง หรือทำให้เกิดความหวาดกลัว

นี่ก็เขียนแบบน้ำตารื่นน้ำตาซึมและไม่ได้เขียนแบบไถโทรศัพท์มือถือนะคะ
ฝากดอกปีปสวยๆ ที่ร่วงหล่นดินให้ทุกคนค่ะ
#AKN

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image