10 ข่าวเด่นปีชวด ‘การศึกษา-ศาสนา-วัฒนธรรม’

ข่าวเด่นการศึกษา

10 ข่าวเด่นปีชวด ‘การศึกษา-ศาสนา-วัฒนธรรม’

1. ‘สุวิทย์’พ้น อว.-‘ณัฏฐพล’ยังอยู่ ศธ.

มีข่าวให้ตื่นเต้นตั้งแต่ต้นปี เมื่อพรรคฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมรัฐมนตรีอีก 5 คน แต่สุดท้ายพรรคร่วมรัฐบาลโหวตไว้วางใจ ก่อนจะตามมาด้วยเสียงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ปรับภาพลักษณ์ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย
ในส่วนของกระทรวงด้านการศึกษา ทำเอาหนาวทั้ง นายสุวิทย์ เมษินทรีย์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในขณะนั้น แม้ไม่ได้เป็น 1 ในรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่มีข่าวลือหนาหูว่าอาจถูกปรับออกจาก ครม. เนื่องจากไม่ได้เป็น ส.ส. ไม่ได้จ่ายเงินให้พรรค ไม่มีฐานเสียง ส.ส.ในมือ และไม่มีพวกในพรรค

ส่วน “เสมา 1” นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็อยู่ในอาการหนาวๆ ร้อนๆ เช่นกัน หลายครั้งถึงกับออกปากว่า “ถ้าให้ไปอยู่กระทรวงอื่น ขอไม่ไป…”

สุดท้าย การปรับ ครม.ของรัฐบาล “บิ๊กตู่” 2/2 ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา นายสุวิทย์ต้องพ้นเก้าอี้รัฐมนตรี อว.และ นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ ถูกส่งมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ อว.แทน

ขณะที่นายณัฏฐพล ขาเก้าอี้ยังมั่นคงแข็งแรง และอยู่ในตำแหน่งมาจนถึงปัจจุบัน!!

Advertisement

2.อาจารย์เฮ! เลิกเกณฑ์ขอ ‘ศ.’ ใหม่

หลังราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) รองศาสตราจารย์ (รศ.) และศาสตราจารย์ (ศ.) พ.ศ.2563 เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาใช้เป็นแนวทางในการออกข้อบังคับ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 หลังหลักเกณฑ์เดิมเพิ่งใช้ได้เพียง 3 ปี

ก็มีเสียงสะท้อนจากประชาคมมหาวิทยาลัยถึงปัญหาของหลักเกณฑ์ใหม่ และเรียกร้องให้ ก.พ.อ. “ยกเลิก” แม้ นายพีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและติดตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แจกแจงว่าประกาศฉบับนี้ปรับปรุงเพื่อให้การเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการที่เป็นสากล รวมถึงแก้ไขหลักเกณฑ์เดิมที่ไม่เหมาะสม และไม่ทันสมัย

ขณะที่ผู้คัดค้านมองว่าหลักเกณฑ์ใหม่ยุ่งยาก ซับซ้อน ยากกว่าเดิม และบางเรื่องเป็นไปได้ยาก ซึ่งกระทบกับมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ โดยเฉพาะสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ นอกจากนี้ ยังไม่มีบทเฉพาะกาลให้กับผลงานที่ตีพิมพ์แล้ว ที่สำคัญ หลักเกณฑ์นี้จะทำให้อาจารย์ถูกยกเลิกสัญญาจ้างมากขึ้น

Advertisement

ทำให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยหลายแห่งทำหนังสือคัดค้านถึงรัฐมนตรีว่าการ อว.พร้อมข้อเสนอเร่งด่วนที่สุด ให้ “ชะลอ” การบังคับใช้ประกาศดังกล่าว

ทำให้ที่ประชุม ก.พ.อ.เมื่อเดือนกันยายน พิจารณาเห็นถึงปัญหาในทางปฏิบัติ ได้กำหนดระยะเวลาผ่อนผันในช่วงเปลี่ยนผ่านเกณฑ์ 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2563-23 มิถุนายน 2565 ให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ.2560 คู่ขนานกับหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ.2563 ได้

มอบหมาย นางศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับตำแหน่งทางวิชาการ และนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ อว.รับผิดชอบยกร่างหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดตำแหน่งทางวิชาการขึ้นใหม่!!

3.วีรกรรมสุดฉาวของ‘พี่เลี้ยงเด็ก’

กลายเป็นเรื่องราวฉาวโฉ่ สะเทือนใจคนเป็นพ่อแม่ และผู้ปกครองทั้งประเทศ หลังภาพจากกล้องวงจรปิดที่แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของ น.ส.อรอุมา ปลอดโปร่ง หรือ ครูจุ๋ม พี่เลี้ยงเด็กของ “โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์” จ.นนทบุรี ที่ได้ “ทำร้าย” นักเรียน 3 ขวบ ชั้นอนุบาล 1 ห้องเรียน EP ขณะที่ครูประจำชั้น และครูคนอื่นๆ ที่อยู่ในห้องต่างเพิกเฉย จนผู้ปกครองทนไม่ไหว เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับครูจุ๋ม
จากนั้นก็มีภาพจากกล้องวงจรปิดของโรงเรียนเดียวกัน ที่เป็นครู และพี่เลี้ยงเด็กคนอื่นๆ ทำร้ายนักเรียนในห้องเดียวกับครูจุ๋ม ทั้งผลักหัวเด็ก กระชากแขน เหวี่ยงเด็กไปที่พื้น เอาดินสอจิ้มขา ใช้ถุงดำคลุมหัวเด็ก เป็นต้น ทยอยหลุดออกมา ทำให้ทางโรงเรียนต้องออกหนังสือแสดงความเสียใจกับนักเรียน และผู้ปกครองอย่างสุดซึ้ง พร้อมทั้งขอแสดงความรับผิดชอบ เบื้องต้นให้ครูจุ๋มพ้นสภาพทันที และลงโทษทางวินัยกับผู้เกี่ยวข้อง

จากเหตุการณ์นี้ ทำให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ผู้ปกครองร้องเรียนโรงเรียนในเครือสารสาสน์ถึง 34 แห่ง จากทั้งหมด 42 แห่ง ไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)

ทำให้ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ทำหน้าที่ “ตัวกลาง” ระหว่างผู้ปกครองและทางโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ เพื่อให้โรงเรียน “เยียวยา” นักเรียนและผู้ปกครอง ทั้งคืนค่าเทอมทั้งหมดสำหรับนักเรียนในห้องเรียนที่ถูกทำร้าย รวมถึงมาตรการแก้ปัญหา ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ที่ทำให้ ศธ.ต้องเร่ง “ยกเครื่อง” และ “จัดระเบียบ” โรงเรียนเอกชนใหม่!!

4.เรียน ‘ออนแอร์-ออนไลน์’ หนีโควิด-19

นับเป็นการปรับรูปแบบการเรียนการสอนครั้งใหญ่ในระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะในระดับอนุบาล ไปจนถึงชั้นประถม และมัธยม สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่หันมาใช้ระบบการเรียนการสอนผ่านระบบ “ออนแอร์” และ “ออนไลน์” เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 จนรัฐบาลต้องสั่งล็อกดาวน์ และประกาศเคอร์ฟิว

เช่นเดียวโรงเรียนสาธิตสังกัดมหาวิทยาลัย และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ต้องหันมาปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอน โดยสอนผ่านระบบออนไลน์ทั้งสิ้น

รวมถึงการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) การสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ฯลฯ ที่ต้องใช้คะแนนเป็นองค์ประกอบในการยื่นเข้าเรียนในระบบคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (ทีแคส) ก็ต้องปรับวิธีจัดสอบใหม่

เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางออกไปในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 การเว้นระยะห่างทางสังคม ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จนสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลาย สถานศึกษา และมหาวิทยาลัย จึงกลับมาจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนปกติ

ล่าสุด สถานศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องสั่งหยุดเรียน และบางแห่งเริ่มเรียนผ่านระบบออนไลน์อีกครั้ง เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่มีจุดเริ่มต้นจากตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร!!

 

5.สหรัฐเตรียมส่งคืนทับหลัง‘เขาโล้น-หนองหงส์’

เป็นข่าวดีท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร แจ้งว่าต้นปีหน้า “ทับหลังปราสาทเขาโล้น” อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว และ “ทับหลังปราสาทหนองหงส์” อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ที่จัดแสดงอยู่ที่ Asian Art Museum นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา จะถูกส่งคืนสู่ประเทศไทยราวๆ เดือนมีนาคม 2564

โดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส รายงานความคืบหน้าว่าโบราณวัตถุชุดแรกที่ดำเนินการติดตาม ได้แก่ ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว และทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ ที่จัดแสดงอยู่ที่ Asian Art Museum นครซานฟรานซิสโก ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของสหรัฐแล้ว

ซึ่งพิพิธภัณฑ์ยอมรับว่าทับหลังทั้ง 2 รายการ เป็น “กรรมสิทธิ์” ของฝ่ายไทย ปัจจุบันได้นำทับหลังทั้ง 2 ชิ้น ออกจากห้องจัดแสดงมาเก็บในห้องคลัง เพื่อรอขั้นตอนทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในกระบวนการส่งคืนสู่ประเทศไทย

คาดว่ากระบวนการทางกฎหมายจะแล้วเสร็จราวเดือนมีนาคม 2564

นับเป็นข่าวดีของคนไทย ที่จะได้สมบัติของแผ่นดินกลับคืนสู่ประเทศ!!

6.ม็อบ น.ร.ทวงคืน‘ชุดไปรเวต-ทรงผม’

ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ในประเทศไทย ที่จะเห็น “นักเรียน” ในนามกลุ่มนักเรียนเลว และนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ชู 3 นิ้ว ผูกโบขาว นัดชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อเรียกร้องให้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ยกเลิกระเบียบทรงผมเดิม ให้แต่งชุดนักเรียนตามเพศสภาพ แต่งชุดไปรเวตแทนชุดนักเรียน การปรับหลักสูตรต่างๆ ให้ทันสมัย รวมถึงการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของนักเรียนในรั้วโรงเรียน

ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้รับข้อเรียกร้องต่างๆ ไว้ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา ศธ.ที่มี นายสมเกียรติตั้งกิจวาณิชย์ เป็นประธาน ขึ้นมาพิจารณาข้อเรียกร้องต่างๆ ของกลุ่มนักเรียน เบื้องต้นที่ประชุมเห็นชอบแก้ไขระเบียบข้อ 4 อาทิ นักเรียนจะไว้ผมสั้น หรือผมยาวก็ได้…แก้ไขระเบียบเกี่ยวกับทรงผม โดยให้สถานศึกษาวางระเบียบการไว้ทรงผมของนักเรียนได้เท่าที่ไม่ขัดแย้งกับระเบียบนี้ เป็นต้น

แต่ดูเหมือนการพิจารณาข้อเรียกร้องของคณะกรรมการฯ จะไม่รวดเร็วทันใจ ทำให้ม็อบนักเรียนยกระดับขึ้น “ไล่” นายณัฏฐพลออกจากตำแหน่ง

ต้องติดตามว่าข้อเรียกร้องของม็อบนักเรียน จะได้รับการตอบสนองจาก ศธ.มากน้อยแค่ไหน!!

7.ตั้ง ‘สมเด็จธงชัย’ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ที่มี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นประธาน ได้มอบพระบัญชาแต่งตั้ง สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) กรรมการ มส. ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลาง พร้อมตราประทับเจ้าคณะใหญ่หนกลาง คุมเขตปกครองสงฆ์ 6 ภาค 23 จังหวัด ได้แก่ ภาค 1 ภาค 2 ภาค 3 ภาค 13 ภาค 14 และภาค 15

นอกจากนี้ มส.ยังมีมติแต่งตั้งเจ้าคณะภาค แบ่งเป็น มหานิกาย 18 รูป ได้แก่ พระเทพสุธี วัดชนะสงคราม เจ้าคณะภาค 1 พระเทพวิสุทธิโสภณ วัดราชคฤห์ เจ้าคณะภาค 2 พระธรรมปริยัติโมลี วัดบพิตรพิมุข เจ้าคณะภาค 3 พระวิสุทธาธิบดี วัดสุทัศน์ เจ้าคณะภาค 4 พระพรหมโมลี วัดปากน้ำ เจ้าคณะภาค 5 พระเทพเวที เจ้าคณะภาค 6 พระพรหมเสนาบดี วัดปทุมคงคา เจ้าคณะภาค 7 พระธรรมคุณาภรณ วัดไตรมิตรฯ เจ้าคณะภาค 8 พระธรรมรัตนดิลก วัดอรุณฯ เจ้าคณะภาค 9

พระเทพวิสุทธิโมลี วัดจักรวรรดิราชาวาส เจ้าคณะภาค 10 พระธรรมเจดีย์ วัดทองนพคุณ เจ้าคณะภาค 11 พระเทพรัตนมุนี วัดสระเกศฯ เจ้าคณะภาค 12 พระพรหมกวี วัดกัลยาณมิตร เจ้าคณะภาค 13 พระธรรมโพธิมงคล วัดนิมมานรดี เจ้าคณะภาค 14 พระพรหมเวที วัดพระปฐมเจดีย์ เจ้าคณะภาค 15 พระธรรมวิมลโมลี วัดไตรธรรมาราม จ.สุราษฎร์ธานี เจ้าคณะภาค 16พระเทพกิตติเวที วัดเบญจมบพิตรฯ เจ้าคณะภาค 17 และพระเทพสิทธิมุนี วัดดุสิดาราม เจ้าคณะภาค 18

ส่วนคณะธรรมยุต 8 รูป ได้แก่ สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพศิรินทร์ เจ้าคณะภาค 1-2-3 และ 12-13 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดราชบพิธฯ เจ้าคณะภาค 4-5-6-7 พระเทพสารเมธี วัดประชานิยม จ.กาฬสินธุ์ เจ้าคณะภาค 8 พระเทพดิลก วัดปทุมวนาราม เจ้าคณะภาค 9 พระธรรมธัชมุนี วัดปทุมวนาราม เจ้าคณะภาค 10 พระพรหมวิสุทธาจารย์ วัดเครือวัลย์ เจ้าคณะภาค 11 พระเทพเจติยาจารย์ วัดโสมนัสฯ เจ้าคณะภาค 14-15 พระธรรมกิตติเมธี วัดราชาธิวาสฯ เจ้าคณะภาค 16-17-18

8.วิกฤต ‘หนี้ครู’ พุ่ง1.4ล้านล้าน

ยังคงเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับ “หนี้สินครู” แม้รัฐบาลจะมอบหมายให้ธนาคารออมสินเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการโดยภาพรวม ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งธนาคารออมสินรวบรวมไว้ อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท กระจายอยู่ในสถาบันการเงินหลายๆ แห่ง เฉพาะหนี้ที่กู้ยืมจากธนาคารออมสิน ที่เป็นลูกหนี้ 1.18 ล้านราย มีมูลค่าหนี้ถึง 6.29 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

โดยตัวเลขหนี้สินครูที่รายงานในที่ประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาหนี้สินบุคลากรของ ศธ.ล่าสุด ระบุว่าครูมีหนี้ทั้งระบบสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. จึงมอบนโนบายสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ไปจัดทำแผนแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยเจรจากับสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาลูกหนี้ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ถูกฟ้องร้องมีคำพิพากษาแล้ว และอยู่ระหว่างการบังคับคดี 2.อยู่ระหว่างการดำเนินคดี แต่ยังไม่มีคำพิพากษา และ 3.กลุ่มที่กำลังจะถูกดำเนินคดี
ต้องติดตามว่ามาตรการแก้หนี้ครูของ ศธ.จะมีแนวทางอย่างไร!!

9.‘ศธ.-วธ.’จัดทัพผู้บริหารใหม่

แวดวงการศึกษาในปีนี้ นับว่าร้อนแรงอย่างมาก โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของม็อบนักเรียน ที่บุกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ครั้งแล้วครั้งเล่า ในขณะที่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. มองว่าการทำงานของผู้บริหารระดับสูงยังไม่เข้าขากันเท่าที่ควร จึงได้ปรับโยกผู้บริหาร

โดยเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับ (ซี) 11 จำนวน 4 ราย ได้แก่ นายสุภัทร จำปาทอง จากเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นปลัด ศธ., นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นเลขาธิการ สกศ., นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เป็นเลขาธิการ กพฐ. และ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เป็นเลขาธิการ กอศ.

เพื่อให้การทำงานของทุกหน่วยงานเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน และมีเอกภาพ โดยมองถึงความเหมาะสมว่าคนเหล่านี้สามารถทำงานและขับเคลื่อนงานได้

นับเป็นการจัดทัพใหม่ที่น่าจับตามอง ว่าจะเกิดผลในการขับเคลื่อนการศึกษาอย่างที่คาดหวังไว้หรือไม่!!
ขณะที่ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้เปลี่ยนปลัด วธ.ใหม่ โดย ครม.มีมติแต่งตั้ง นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร รองปลัด วธ.เป็นปลัด วธ.แทน นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ที่เกษียณอายุราชการ

ซึ่ง นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการ วธ. ระบุว่าแต่งตั้งผู้มีความสามารถในการบริหารงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม เพื่อให้การบริหารงานวัฒนธรรม และการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามภารกิจของ วธ.มีความต่อเนื่อง

ต้องจับตาว่าปลัด วธ.คนใหม่ จะขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมของประเทศให้เป็นรูปธรรมได้หรือไม่!!

10.‘สทศ.’ งัดข้อ ‘ศธ.’ ปมเลิกโอเน็ต

ส่งท้ายปลายปี ด้วยการ “งัดข้อ” กันเบาๆ ระหว่าง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มีนโยบาย “ยกเลิก” การ ทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ชั้น ป.6 และชั้น ม.3 และการ ทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (วีเน็ต) ในปีการศึกษา 2563 โดยส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษา (สทศ.)

เพราะมองว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการสอบโอเน็ต ต้องส่งผลกับการพัฒนานักเรียนโดยตรง แต่ที่ผ่านมากลับนำผลการสอบโอเน็ตไปวัดสถานศึกษา ผู้บริหาร และครู ขณะที่การทดสอบวีเน็ตนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีหน่วยงานมารองรับการทดสอบด้านวิชาชีพของนักเรียน นักศึกษาอยู่แล้ว รวมถึงปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้นักเรียนเครียด และเกิดความเหลื่อมล้ำในการเตรียมการสอบ
ส่วนการทดสอบโอเน็ตชั้น ม.6 ยังไม่มีนโยบายยกเลิก เพราะต้องนำคะแนนไปใช้ในระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สทศ.ยืนยันว่าการทดสอบโอเน็ตยังจำเป็น แต่ไม่ขัดข้องสำหรับปีการศึกษา 2563 ขณะเดียวกันก็กังวลว่าทำไมยังทดสอบโอเน็ตชั้น ม.6 อีกทั้ง สทศ.จัดพิมพ์ข้อสอบชั้น ป.6 กว่า 8 แสนชุดแล้ว

ที่สำคัญ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มีอำนาจในการกำกับดูแล สทศ.แต่ “ไม่มี” อำนาจยกเลิกการสอบโอเน็ต
แต่ไม่ว่าข้อสรุปจะลงเอยอย่างไร ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ยืนยันว่าจะใช้คะแนนโอเน็ตเป็นองค์ประกอบหนึ่งในระบบทีแคส ประจำปีการศึกษา 2564 ในรอบที่ 4 แอดมิสชั่นส์ 2 แต่ในปีการศึกษา 2565 ทปอ.จะยกเลิกแอดมิสชั่นส์ 2 ฉะนั้น จะไม่ใช้คะแนนโอเน็ตเป็นองค์ประกอบ!!
ทีมข่าวการศึกษา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image