สอบ ‘ม.1-ม.4’ เลี่ยงเนื้อหาเทอม 2/63 ‘ณัฏฐพล’ ห่วงเหลื่อมล้ำ-เด็กเครียด

สอบ ‘ม.1-ม.4’ เลี่ยงเนื้อหาเทอม 2/63 ‘ณัฏฐพล’ ห่วงเหลื่อมล้ำ-เด็กเครียด ชี้สอบเลื่อนชั้นใช้ประเมินแบบอื่น

เมื่อวันที่ 20 มกราคม นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดังสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมหารือถึงการบริหารจัดการงบประมาณปี 2564 และ งบประมาณปี 2565 ให้สอดคล้องกับนโยบายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการขับเคลื่อนโรงเรียนโรงเรียนคุณภาพชุมชนระดับประถมศึกษา, โรงเรียนขนาดเล็กที่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ (Stand Alone)และโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง นอกจากนี้ ที่ประชุมได้จัดทำรูปแบบและปรับปรุงงาน เพื่อจะลดภาระงานของครูทั้งระบบ โดยมีเป้าหมายให้ครูมีเวลาจัดการเรียนการสอนให้มากขึ้น ถือเป็นงานสำคัญที่ สพฐ.จะต้องทำอย่างเร่งด่วน

นายอัมพร กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้เตรียมการเปิดเรียนหลังจากที่ ศธ.ออกประกาศให้โรงเรียนใน 28 จังหวัดหยุดเรียนจนถึงวันที่ 31 มกราคมนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ระบาดระรอกใหม่ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ดีขึ้น สพฐ.ก็พร้อมเปิดเรียนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ตนได้สื่อสารไปยังโรงเรียนทุกแห่งให้เตรียมทำความสะอาด และวางมาตรการรองรับในการเปิดเรียน โดยการเปิดเรียนนั้น สพฐ.ให้ทางเลือกให้โรงเรียนปฏิบัติไว้หลายทาง เช่น ถ้าโรงเรียนไม่สามารถเปิดเรียนทุกชั้นเรียนได้ อยากให้เปิดเรียนในระดับชั้นอนุบาลหรือระดับประถมศึกษาก่อน เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ปกครองอีกทางหนึ่ง แต่ถ้าโรงเรียนเห็นว่าสามารถเปิดเรียนครบทุกชั้น ก็สามารถทำได้ โดยต้องคำนึงถึงประกาศของจังหวัดเป็นฐานในการตัดสินใจ เว้นแต่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ยังประกาศห้ามจังหวัดหรือพื้นที่ใดปิดโรงเรียนก็ขอให้ปฏิบัติตามประกาศของ ศบค.เป็นหลัก

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีผู้ปกครองกังวลว่าหากโควิด-19 ยังแพร่ระบาดอยู่ นักเรียนจะสอบอย่างไร สพฐ.ก็ได้เตรียมการสอบให้กับนักเรียนไว้แล้ว การสอบในระดับสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการสอบกลางภาคและสอบปลายภาค โรงเรียนมีอำนาจกำหนดวันสอบได้เอง ซึ่งในส่วนการสอบกลางภาค สพฐ.ให้โรงเรียนและครูเป็นผู้กำหนดว่าจะสอบวันไหน ส่วนการวัดนักเรียน ไม่จำเป็นต้องทำแบบทดสอบ อาจจะใช้ในลักษณะมอบหมายใบงาน หรือส่งชิ้นงาน โดยจะต้องขึ้นอยู่กับมาตรฐานและตัวชี้วัดของแต่ละรายวิชา ส่วนการสอบปลายภาค และการสอบเลื่อนชั้นนั้น เนื่องจากปีนี้ สพฐ.ออกประกาศไม่เอาคะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต มาตัดสินผลการเรียนแล้ว และให้นักเรียน ป.6 และ ม.3 สอบโอเน็ตตามความสมัครใจ ดังนั้นโรงเรียนสามารถกำหนดการสอบปลายภาคได้เอง ว่าจะใช้การทดสอบแบบไหน อาจจะใช้แบบทดสอบ ที่ สพฐ.ทำไว้ส่วนกลาง หรือโรงเรียนจะออกแบบทดสอบเอง หรือจะประเมินด้วยวิธีอื่นก็ได้

“แต่ก็มีหลายคนถามว่าให้นักเรียนเลื่อนชั้นโดยไม่ทำการประเมินได้หรือไม่นั้น สพฐ.ให้นักเรียนเลื่อนชั้นแต่ต้องมีการประเมิน ซึ่งต้องประเมินนักเรียนตามศักยภาพ โดยไม่ต้องยึดมาตรฐานกลาง เพราะทุกวันนี้ยึดมาตรฐานกลางไม่ได้ เนื่องจากนักเรียนเรียนไม่เท่ากัน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงให้โรงเรียนสามารถกำหนดวิธีการและรูปแบบการประเมินได้” นายอัมพร กล่าว

Advertisement

นายอัมพร กล่าวต่อว่า ส่วนการสอบโอเน็ต ที่กำหนดให้นักเรียน ม.6 เข้าสอบทุกคน โดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กำหนดจัดสอบในวันที่ 27-28 มีนาคมนี้ ตนคาดว่าในเวลานั้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะดีขึ้นและสามารถจัดสอบได้ เว้นแต่จะมีวิกฤต หรือมีการเปลี่ยงแปลงเกิดขึ้น ทุกหน่วยงานจะมาหารือกันอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นักเรียนในแต่ละจังหวัดเรียนไม่เท่ากันเกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพราะนักเรียน เรียนไม่เท่ากัน และโรงเรียนแข่งขันสูงออกข้อสอบโดยไม่คำนึงถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในปัจจุบัน ก็อาจจะมีปัญหาขึ้นมา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ. อยากให้โรงเรียนที่มีการทดสอบเพื่อรับนักเรียนเข้าเรียน พยายามหลีกเลี่ยงการออกข้อสอบที่เป็นความรู้ในภาคเรียนที่ 2 ของ ป.6 และความรู้ในภาคเรียนที่ 2 ของ ม.3 เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ลดความเครียด และลดความวิตกกังวลกับนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งตนจะสื่อสารให้โรงเรียนทุกแห่งรับทราบต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image