แนะ ‘ครูตั้น’ ตั้งสติปฏิรูปหลักสูตร จี้ปรับ ‘โครงสร้าง-ระเบียบ-กฎเกณฑ์ล้าหลัง’

แนะ ‘ครูตั้น’ ตั้งสติปฏิรูปหลักสูตร ต้องสอน น.ร.เป็นพลเมือง ปชต.-รู้สิทธิหน้าที่ จี้ปรับ ‘โครงสร้าง-ระเบียบ-กฎเกณฑ์ล้าหลัง’

ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มีนโยบายปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ทันสมัย โดยจะปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรใน 8 กลุ่มสาระวิชาใหม่ ทั้งนี้ หลักสูตรใหม่จะมุ่งเน้น Competency Based โดยต้องมีสมรรถนะ ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมของบุคคล อย่างไรก็ตาม มองว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ใช่ตัวปัญหา แต่จะทำให้เห็นผลลัพธ์จากการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างไรเป็นสิ่งสำคัญกว่า ทั้งนี้ จะสร้างให้นักเรียนอ่าน และสามารถคิดวิเคราะห์ด้วย ที่สำคัญต้องทำให้นักเรียนดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ด้วย

ดร.สุภัทรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ จะต้องคำนึงถึงความแตกต่างของสถานศึกษาด้วย โดยให้สถานศึกษานำหลักสูตรไปสอนตามบริบทของตน เช่น สถานศึกษาที่ตั้งในชนบท อาจจะเน้นสอนให้นักเรียนสามารถดำรงชีวิต และประกอบอาชีพในพื้นที่ให้ได้ หรือสถานศึกษาในเมืองใหญ่ ซึ่งมีผู้เรียนหลากหลาย บางส่วนอาจมุ่งเน้นเรียนต่อในคณะแพทยศาสตร์ หรือคณะวิทยาศาสตร์ แต่บางส่วนต้องการเรียนด้านสังคมศาสตร์ด้วย ดังนั้น เนื้อหาที่สถานศึกษาควรสอนคือ 70% สอนความรู้พื้นฐานให้กับนักเรียน และอีก 30% สอนเนื้อหาที่สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพของนักเรียนตามที่นักเรียนถนัด หรือสถานศึกษาที่เน้นเรียนเพื่อมุ่งสู่การแข่งขัน เช่น โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ อาจมุ่งเน้นสอนด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์

“จากการหารือร่วมกับคณะจัดทำหลักสูตร เห็นตรงกันว่านักเรียนควรได้เรียนตรงความต้องการ และตรงกับศักยภาพของนักเรียน ผมมองว่าถ้าสามารถสร้างหลักสูตรให้หลากหลาย และกว้างขึ้น เพื่อให้สถานศึกษานำหลักสูตรไปปรับใช้ตามบริบทของตนเอง เชื่อว่าภายใน 5-10 ปี จะทำให้เห็นจุดเด่น และความเป็นเลิศของโรงเรียนแต่ละแห่งชัดเจนมากขึ้น หากมีการเปลี่ยนหลักสูตร วิธีการเรียนการสอนอาจจะต้องเปลี่ยนด้วย จะต้องอบรมเตรียมความพร้อมครู เพื่อให้ครูมีเทคนิค วิธีการสอนใหม่ๆ มีความสามารถที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อรองรับหลักสูตรใหม่” ดร.สุภัทร กล่าว

ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา อดีตอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เห็นด้วยที่ ศธ.จะปรับหลักสูตรให้ทันสมัยมากขึ้น เพราะหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ถูกใช้มาร่วม 20 ปีแล้ว มีเนื้อหาสาระ ตัวบ่งชี้ และตัวชี้วัดจำนวนมาก ทำให้การเรียนในปัจจุบันเป็นการเรียนเพื่อจำ ทั้งนี้ จากการศึกษา พบว่าการศึกษาของประเทศอยู่กับที่มาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว โดยมี 3 ปัจจัย ที่ทำให้การศึกษาอยู่กับที่ คือ โครงสร้างและระบบ ระบบหลักสูตรการเรียนรู้ และระเบียบกฎเกณฑ์ที่ล้าหลัง ดังนั้น การปรับระบบหลักสูตรเพียงอย่างเดียว มองว่าจะทำให้การศึกษาไทยดีขึ้น แต่อาจจะไม่ไปรอด เพราะ ศธ.ต้องปรับเรื่องโครงสร้าง และระเบียบกฏเกณฑ์ที่ล้าหลังด้วย จึงจะทำให้การศึกษาพัฒนาขึ้น

Advertisement

“การปรับหลักสูตรต้องมีเป้าหมายชัดเจน เมื่อปรับแล้วตอบโจทย์เรื่องไหนบ้าง และหลักสูตรที่ปรับใหม่นี้ จะช่วยพาเด็กเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อเป็นทุนมนุษย์ในอนาคตหรือไม่ นอกจากนี้ การปรับหลักสูตรจะช่วยจะพาเด็กสู่ความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยหรือไม่ ถ้า ศธ.เพียงแค่ปรับหลักสูตรเพื่อมุ่งเน้นให้เด็กมีสมรรถนะเพื่อมีงานทำ อาจจะไม่ช่วยให้ประเทศไทยพ้นวิกฤต ผมมองว่าการพัฒนาหลักสูตร จะต้องพัฒนาให้เด็กมีความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยด้วย เพราะจากการศึกษา หลายประเทศสร้างพลเมืองคุณภาพ โดยมุ่งสอนให้ประชาชนเป็นพลเมืองประชาธิปไตย รู้จักสิทธิหน้าที่ มีทักษะทางมีความส่วนร่วม ผมมองว่า ศธ.ต้องนำเรื่องเหล่านี้มาใส่ในหลักสูตรด้วย ผมอยากให้นายณัฏฐพลตั้งสติให้ดี ในการปฏิรูประบบหลักสูตร และการปฏิรูประบบการศึกษา เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาประเทศ” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image