เด็กมอขอแจม : เยือนวิถีพาราณสี ผ่านการเรียนออนไลน์

เยือนวิถีพาราณสี ผ่านการเรียนออนไลน์

ดิฉัน กอบัว กฤษณามระ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อยากมาบอกเล่าเกี่ยวกับสัญลักษณ์มงคล “รังโกลี” สัญลักษณ์ที่สื่อถึงเทพเจ้าในอินเดีย

ฉันเรียนอารยธรรมอินเดียจากสารคดีชุดในจังหวะแห่งศรัทธา ตอนทีปาวลี สักการะวิถีแห่งพาราณสี ฉันไม่เคยไปอินเดีย แต่รู้จักประเทศนี้ผ่านการอ่าน การเรียน และดูจากคลิปต่างๆ แต่เมื่อได้เรียนวิชาอารยธรรมอินเดีย โดยมีผู้สอนคือ อาจารย์ ดร.อุเทน วงศ์สถิตย์ ทำให้เห็นแง่มุมต่างๆ ของอินเดียเพิ่มขึ้น กว่าเมื่อครั้งที่ได้เรียนรู้อินเดียด้วยตัวเอง

ในช่วงนี้ต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งส่วนตัวไม่ชอบการเรียนออนไลน์สักเท่าไหร่ เพราะการเรียนอยู่ที่บ้านมันเป็นคอมฟอร์ทโซน (comfort zone) มากเกินไป มันน่าเบื่อ การเรียนอยู่ที่บ้าน นั่งหน้าจอ มันทำให้ไขว้เขวได้ง่ายมาก เดี่ยวลุกขึ้นหยิบน้ำ ทำนั่นทำนี่ ชอบเดินทางไปมหาวิทยาลัยมากกว่า ได้นั่งเรียนในชั้นเรียน พูดคุยกับเพื่อน และอาจารย์แบบเห็นตัวเป็นๆ มีชีวิตชีวากว่ามาก ชีวิตการเรียนควรมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอน และเพื่อนในชั้นเรียนบ้าง อย่างไรก็ตาม การเรียนออนไลน์ในช่วงโควิด-19 ระบาด ก็ถือว่าได้ประโยชน์ และเป็นการแก้ปัญหาให้การเรียนไม่ต้องหยุดแบบชะงักงันเสียทีเดียว

แต่เมื่อวันพุธที่ 27 มกราคม 2564 ฉันยังต้องเรียนออนไลน์เหมือนเดิม แต่เป็นการเรียนการสอนที่แตกต่างไปจากเดิม ก่อนเรียนสักประมาณ 3-4 วัน อาจารย์ส่งคลิปสารคดีในจังหวะแห่งศรัทธา ในตอนทีปาวลี สักการะวิถีแห่งพาราณสี มาให้ และบอกว่าให้ดูก่อนจะเข้าเรียนจริง ทำให้ได้เห็นวิถีของคนอินเดียชัดเจนผ่านทางสารคดี มิติความคิด ความเชื่อ พลังศรัทธาของผู้คนที่หล่อหลอมชีวิตของพวกเขา

Advertisement

สารคดีอธิบายได้ชัดเจนผ่านเทศกาลแห่งแสงไฟของชาวฮินดูเพื่อบูชาพระแม่ลักษมี เทพแห่งความมั่งคั่ง แม้ชาวอินเดียจะสวดบูชาพระลักษมี ในช่วงเทศกาลทีปาวลีแล้ว พวกเขายังเฉลิมฉลองด้วยการทำความสะอาดบ้านเรือน พร้อมกับจุดประทีปเพื่อให้บ้านเรือนสว่างไสว เป็นการต้อนรับการเสด็จมาเยือนของ “พระแม่ลักษมี” เทพแห่งความมั่งคั่ง

Advertisement

โดยส่วนตัว มันทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นอีกหลายคำถาม โดยเฉพาะ “รังโกลี” ซึ่งเป็นศิลปะการวาดภาพตกแต่งที่นิยมทำกันในอินเดีย เพื่อบูชาองค์เทพ เป็นการวาดภาพด้วยทราย หรือผงสี บนพื้นสีขาว หรือพื้นสี เป็นสัญลักษณ์มงคลที่ใช้สื่อถึงเทพเจ้า ด้วยลวดรายต่างๆ อยากรู้ว่ารังโกลีเป็นศิลปะที่ทำกันมานานมากแค่ไหน แล้วในอดีตรังโกลีเป็นอย่างไร ที่เราเห็นชาวอินเดียทำกันนั้น ถือว่าได้สืบทอดลวดลายเหมือนในยุคอดีตหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความสนใจ และอยากศึกษาเรื่องนี้ต่อ

การเรียนผ่านการชมสารคดีในจังหวะแห่งศรัทธา จึงทำให้นักศึกษาอย่างฉัน เกิดแรงบันดาลใจมากมาย มีคำถามมากมายที่ทำให้ฉันอยากค้นหาคตอบ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image