สัมภาษณ์ : จับเข่าดาว์พงษ์ 1 ปีภารกิจยกเครื่องการศึกษา

พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ถูกจับตามองมาตลอดว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ ในระบบการศึกษาของไทยได้แค่ไหนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ กับบทบาท ครูใหญ่Ž

ใน 1 ปีที่ผ่านมาและความหวังในอนาคต

รมว.ศึกษาธิการ เล่าถึงภารกิจอันสำคัญดังกล่าวนี้

– 1 ปี ที่รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นอย่างไรบ้าง

เหนื่อย แต่ผมก็ทิ้งไม่ได้ผมคงไม่ต้องพูดว่าเรื่องการศึกษาของชาติเรามีปัญหาอะไรสังคมก็เห็นกันหมด วิธีการทำงานของผม จะหาปัญหาให้เจอ แล้วลงลึก เพื่อให้ได้วิธีแก้ไข ศธ.จะเป็นเรื่องการบริหารงานบุคคล ระบบยังไม่ดี การดูแลขวัญกำลังใจครู จะทำแบบสปอยล์ครูให้แต่เงิน การลงโทษข้าราชการทำผิด ระบบเอื้อเล่นพรรคพวก ทำให้คนดีนั่งมองตาปริบๆ โยงไปถึงเรื่องธรรมาภิบาล ต้องปรับแก้ที่โครงสร้างโดยรวม สิ่งที่พอใจอย่าง

Advertisement

หนึ่งคือผมได้รับความร่วมมือในระดับน่าพอใจ อาจจะติดขัดบ้างเพราะบางคนยังทำงานด้วยวิธีการเดิม ทำให้ต้องสร้างความเข้าใจมากขึ้น เป็นรูปแบบการทำงานในสภาวะวิกฤต

ผมมีหลักคิดการทำงานแบบนี้ตั้งแต่เป็นทหาร ถามว่าการศึกษาชาติอยู่ในภาวะวิกฤตไหม ผมบอกว่าใช่ ดังนั้น จะมาสั่งงานตามสายงานไม่พอ ต้องล้วงลงไปในรายละเอียด มีข้อมูลเชิงลึกในการปฏิบัติจริง ทั้งหมดนี้ต้องหาให้ได้ ไม่อย่างนั้นแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะเวลาน้อย การทำงานที่ผ่านมาก็ยอมรับว่ามีหลายเรื่องหนักใจ

– แก้ปัญหาอะไรไปบ้างเรื่องการบริหารงานบุคคล

Advertisement

ได้ขอให้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่งที่ 10/2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค พร้อมกับคำสั่งที่ 11/2559 การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค กำหนด ให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาค 18 ภาค และให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาคจังหวัด 77 จังหวัด ผลจากคำสั่งที่ 10/2559 ทำให้ต้องยุบเลิกคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และคณะอนุกรรมการ ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และให้โอนอำนาจหน้าที่ต่างๆ ไปให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน อยู่ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน การออกคำสั่งดังกล่าว เป็นการแก้ปัญหาการบริหารงานบุคคลในส่วนภูมิภาคก่อน ส่วนกลางยังไม่ได้ขยับอะไร ยังคงมี 5 องค์กรหลักเหมือนเดิม ยังไม่ขยับเพราะส่วนกลางอยู่ใกล้ตัวผม และผมยังเกี่ยวร้อยได้ เรื่องใหญ่ของส่วนกลาง อยู่ระหว่างการปรับแก้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2456

การใช้มาตรา 44 ยุบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ส่วนหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้าย การลงโทษทางวินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ไม่ได้หมายความว่าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ไม่ดี หลายเขตก็ดี แต่ไม่ดีก็มีมาก แต่คำสั่งนี้ไม่ได้แก้ปัญหาเฉพาะเรื่องการบริหารงานบุคคลเท่านั้น ยังรวมถึงเรื่องการจัดการศึกษา จะทำให้มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นด้วย

ที่ผ่านมา 1 จังหวัด จะมีหน่วยงานเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาจำนวนมาก ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ฯลฯ ต่างคนต่างทำ แต่พอมาเป็น กศจ.จะเชื่อมโยงเป็นระบบขึ้น อนาคตจะกระจายอำนาจมุ่งไปที่โรงเรียน บริหารงานแบบนิติบุคคล เปิดรับครู บริหารงานต่างๆ ได้เอง รัฐสนับสนุนงบประมาณอย่างเดียว แต่ต้องใช้เวลา ขณะนี้ทำได้คือกระจายอำนาจไปที่จังหวัดก่อน

– การบริหารงานในส่วนกลาง จะมีการปรับแก้อะไร อย่างไร

ตอนนี้เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบ จึงมีกรอบเวลาแล้วว่าต้องดำเนินการเรื่องใดบ้าง มี 3 เรื่องหลักคือ ทำกฎหมายกองทุนการศึกษาให้เสร็จใน 1 ปี ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาให้เสร็จภายในเดือนมกราคม 2560 ต้องทำกฎหมายปฏิรูปการศึกษาให้เสร็จภายใน 2 ปี หรือเดือนพฤศจิกายน 2561

– การปรับโครงสร้าง ศธ.ครั้งนี้จะปรับรูปแบบการบริหารงานอย่างไร

ตอนนี้ ศธ.มี 5 องค์กร การทำงานไม่เชื่อมโยง ทำให้เกิดปัญหา จะเดินหน้าสู่การบริหารงานแบบซิงเกิลคอมมานด์ ให้มีปลัด ศธ.เป็นซี 11 เพียงคนเดียวเหมือนกระทรวงอื่น เลขาธิการแต่ละองค์กรรู้ดีว่าความเชื่อมโยงขององค์กรแต่ละแท่งหายไปไหน ผมไม่ได้ว่าผมดี หรือผมเก่ง แต่ทำงานมาก็มีคนบอกว่า ผมเป็นรัฐมนตรี เชื่อมโยงการทำงานแต่ละแท่งได้เอง เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัว แต่มันไม่ใช่ระบบ ถ้าผมอยู่ไม่มีปัญหา เพราะผมร้อยได้หมด ที่สำคัญผมไม่ได้แบ่งงานรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.แบบขาดลอย งานทุกอย่างจะต้องมาจบที่ผมหมด ผมจะเหนื่อยมาก แต่ก็ทำให้ผมรู้ว่าจะเชื่อมโยงในเรื่องอะไร คนในองค์กรเขารู้ดีว่ามันไม่เชื่อมโยงกัน

– เรื่องอุดมศึกษา มีแนวทางแก้ไขอย่างไร

ผมได้หารือกับสำนักนโยบายและแผนการอุดมศึกษา (สนผ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อวางแนวทางปฏิรูปอุดมศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่ คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยราชมงคล (มทร.) ให้นโยบายไปว่าต้องทำให้มหาวิทยาลัยกลุ่มนี้ผลิตคนให้ตรงตามความต้องการของประเทศ เน้นไปที่คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ สร้างครูที่มีคุณลักษณะตรงตามความต้องการของศตวรรษที่ 21 ให้มหาวิทยาลัยค้นหาตัวเอง กำหนดหาจุดเด่นให้ชัดว่าจะเด่นในสาขาใด ไม่ใช่จัดสอนทุกอย่างแบบเป็ด อยากเห็นภาพชัดเหมือนอดีตที่ผ่านมา อาทิ ถ้าพูดถึงอักษรศาสตร์ บัญชี จะนึกถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หรือพูดถึงนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ก็จะนึกถึง มธ.และมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น อยากให้มหาวิทยาลัยกลับไปดูตัวเอง และสร้างความแข็งแกร่งจากสภาพแวดล้อมที่มี ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลย แต่จะมาของบสนับสนุนจากรัฐ คงไม่ใช่ เพราะรัฐไม่มีเงินให้ทุกมหาวิทยาลัยขนาดนั้น

ตรงนี้อาจทำให้หลายคนมองว่า เหมือนการเดินถอยหลัง แต่เมื่อเราเดินหน้าไม่ได้ ก็ต้องหยุดทบทวนตัวเอง ตอนนี้เรากำลังทบทวนตัวเอง ต่อไป ศธ.จะใช้กลไกทางงบประมาณมากำกับดูแล ถ้ามหาวิทยาลัยทำตามนโยบายของรัฐบาล ผลิตคนตรงความต้องการของประเทศ รัฐก็จะสนับสนุนงบเป็นพิเศษ ส่วนคณะและสาขา ไม่ตรงตามนโยบาย มหาวิทยาลัยก็ต้องดูแลตัวเอง กลุ่ม มรภ.ต้องเน้นสอนในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เป็นหลักอยู่แล้ว แต่ต้องเร่งยกระดับหลักสูตรการผลิตครู ให้เหมาะสมกับศตวรรษที่ 21 ไม่ได้ปรับปรุงมานาน ให้มีความรู้ความสามารถด้านภาษา เทคโนโลยี มีเทคนิคการสอนสื่อสารให้เด็กได้เข้าใจง่าย ที่ผ่านมาให้ มรภ.ไปทบทวนหลักสูตรการผลิตครูทั้งระบบ โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ กลุ่ม มรภ.เรียนวิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาบังคับค่อนข้างน้อยสูงสุดเพียง 12 หน่วยกิต บางแห่งเรียน 0 หน่วยกิต ขณะที่มหาวิทยาลัยกลุ่มเดิม และมหาวิทยาลัยเอกชน เรียนอยู่ที่ประมาณ 18 หน่วยกิต เป็นต้น

ความเชื่อมโยงการศึกษานั้น กำลังจะให้แต่ละระดับเชื่อมโยงกัน เด็กเรียนสายอาชีพที่ผ่านมาเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) อยากต่อมหาวิทยาลัย เทียบโอนหน่วยกิต เรียนอีก 2 ปี ได้รับปริญญา ดังนั้น สอศ.กับ สกอ.จะต้องมาหารือกันว่า คณะเทียบโอนหน่วยกิตของนักศึกษาในสายอาชีพได้มีกี่คณะ เด็กจบ ม.6 แล้วอยากเปลี่ยนมาเรียน ปวส. สายอาชีพ ให้ สอศ.ไปดูว่าสาขาใดรองรับเด็กเหล่านี้ได้ เพราะเด็กจบจากสายสามัญจะขาดทักษะในเรื่องของสายวิชาชีพ ขณะนี้มีระบบสหกิจศึกษารองรับเด็กกลุ่มนี้ได้ เพียงแต่อาจจะยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร สอศ.ต้องคุยกับ สพฐ.เกี่ยวกับการจัดหลักสูตรต้องปรับ ผมจะจัดการให้ ที่ผ่านมาระหว่างองค์กรพูดคุยกันน้อย ทำให้การทำงานไม่เกิดความเชื่อมโยงทั้งระบบ หากทำได้เป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ต้องทำในระดับในโยบาย ใส่ไว้ในแผนการศึกษาแห่งชาติ 15 ปี (2560-2574) อยู่ระหว่างการยกร่าง

– สพฐ.ดูแลระดับขั้นพื้นฐานต้องรีฟอร์มอะไรบ้าง

สพฐ.ต้องรีฟอร์มในส่วนของงานวิชาการ ยังกระจายอยู่ เริ่มจากชั้นประถมศึกษา กำลังจะปรับเพิ่มชั่วโมงเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ให้เด็กประถมต้องเรียนภาษาอังกฤษทุกวันในหลักสูตรใหม่ จะชี้ให้เห็นน้ำหนักในแต่ละวิชาว่าเรื่องใดเป็นเรื่องควรรู้ เรื่องใดต้องรู้ ตรงนี้จะเชื่อมโยงการออกข้อสอบระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) จัดสอบโดยสถานบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)

โจทย์ที่ให้ไปต้องรองรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ด้วย ต่อไปเด็กจะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้ด้วย ส่วนระดับมัธยม ผมยังไม่ค่อยกล้าเข้าไปดำเนินการ เพราะยังไม่ได้คุยกับมหาวิทยาลัย เรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หากมหาวิทยาลัยยังดำเนินการจัดสอบแบบเดิม ไม่ได้ปรับให้สอดคล้องกับหลักสูตรเด็กเรียน ก็ไม่มีความหมาย ต้องหารือ และปรับให้สอดคล้องกัน จะต้องลดภาระเด็กในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้มากที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image