นโยบาย ‘ครูเหน่ง’ ไม่แปลกใหม่ ส.ค.ท.ให้เวลา รมว.ศธ.ทำงานก่อน 3 ด.

นโยบาย ‘ครูเหน่ง’ ไม่แปลกใหม่ ส.ค.ท.ให้เวลา รมว.ศธ.ทำงานก่อน 3 ด.อาชีวะจี้แก้ปัญหา ‘แต่งตั้ง’ ไม่เป็นธรรม

นายวีรบูล เสมาทอง ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) เปิดเผยว่า กรณี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศนโยบายการจัดการศึกษา 12 ข้อ 7 วาระเร่งด่วนนั้น ส.ค.ท.ได้ประเมินนโยบายของ น.ส.ตรีนุช แล้ว มองว่านโยบายนี้น่าจะมาจากองค์กรหลักของ ศธ.ที่ช่วยกันร่างให้ จึงไม่เห็นอะไรแปลกใหม่ ทั้งนี้ ต้องดูกันต่อไปว่าเมื่อนำไปสู่การปฏิบัติแล้ว จะเห็นผลเป็นรูปธรรมหรือไม่ ส.ค.ท.ขอเวลา 3 เดือน เพื่อดูการทำงานของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เนื่องจากไม่รู้ว่านโยบายที่ น.ส.ตรีนุช ประกาศมา จะทำได้จริงหรือไม่ เพราะ ศธ.เป็นกระทรวงที่มีปัญหา และมีอุปสรรคมาก

นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วน 7 ข้อ ถือเป็นนโยบายที่ดี และครอบคลุมปัญหาการศึกษาในปัจจุบัน ที่สำคัญคือต้องเร่งแก้ปัญหาธรรมาภิบาลภายใน ศธ.และสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษาทุกสังกัด ทั้งรัฐ และเอกชน ทั้งนี้ ต้องดูว่าหน่วยงานปฏิบัติ จะนำนโยบายของ น.ส.ตรีนุช ไปผลักดันอย่างไร แม้นโยบายที่ประกาศจะมีแต่เรื่องเดิมๆ แต่ที่สำคัญ ศธ.ต้องเร่งทำให้สถานศึกษาปลอดภัย และเร่งสนับสนุนโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 โดย ศธ.ควรจัดสรรสิ่งต่างๆ ให้ถึงมือเด็กโดยตรง และต้องมองว่าจะทำอย่างไรที่จะให้งบประมาณส่วนกลางลงไปพื้นที่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากที่สุด ซึ่งการจัดสรรงบจะต้องมีธรรมาภิบาลด้วย คือต้องไม่มีการเรียกกินเรียกเก็บ

ด้านนายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) กล่าวว่า นโยบายของ น.ส.ตรีนุช ไม่แปลกใหม่ แต่ต้องจับตาดูว่าการลงมือปฏิบัติ จะทำได้จริงหรือไม่ โดยนโยบายต่างๆ ต้องมีโรดแมปที่ชัดเจน มีทีมงาน ทีมที่ปรึกษามีประสบการณ์ มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพเชื่อถือได้ แต่พบความซับซ้อนในการทำงาน เพราะ น.ส.ตรีนุช ยังไม่แบ่งงานให้รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ทั้ง 2 คนเลย เมื่อแบ่งงานแล้ว ขั้นต่อไปรัฐมนตรีแต่ละคนจะไปกำหนดนโยบายกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งอาจทำให้การขับเคลื่อนงานล่าช้าไปอีก

“ส่วนการพัฒนาอาชีวะก็ไม่ชัดเจน เท่าที่เห็นคือเน้นให้มีงานทำ มีรายได้ แต่ในความจริงแล้วปัญหาอาชีวะที่ควรได้รับการพัฒนา คือต้องผลักดันให้ครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รับการอบรมพัฒนา เพราะทุกวันนี้ครูใน สอศ.อยู่ไปตามบุญตามกรรม ไม่ได้รับการพัฒนาใดๆ หากรัฐไม่มีกองทุนเข้ามาสนับสนุนเลย ที่บอกว่าเมื่อเรียนอาชีวะจบแล้วจะมีงานทำ แต่ครุภัณฑ์ที่ใช้จัดการเรียนการสอนยังล้าสมัย ที่สำคัญ อาชีวะไม่เคยมีทุนสนับสนุนให้ครูไปศึกษาในระดับที่สูงขึ้นเลย แล้วจะนำทรัพยากรจากไหนมาผลิตคนให้มีความรู้ความสามารถได้ นอกจากนี้ น.ส.ตรีนุช ควรเร่งแก้ปัญหาธรรมาภิบาล และการแต่งตั้งที่ไม่เป็นธรรมใน ศธ.ด้วย เพราะเป็นปัญหาเรื้อรังที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กี่คน ก็แก้ไขไม่ได้” นายเศรษฐศิษฏ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image