เสียงสะท้อนจาก ‘เยาวรุ่น’ ส่งตรงถึง ‘ตรีนุช เทียนทอง’ รมว.ศธ.

เสียงสะท้อนจาก ‘เยาวรุ่น’ ส่งตรงถึง ‘ตรีนุช เทียนทอง’ รมว.ศธ.

ช่วง 1 ปี 7 เดือน ที่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก่อนถูกศาลสั่งจำคุก 7 ปี 16 เดือน ในฐานะอดีตแกนนำม็อบคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ทำให้ขาดคุณสมบัติ

ที่ผ่านมา นายณัฏฐพลมีความพยายามที่จะเดินหน้าปฎิรูปการศึกษาไทย และมักพูดอยู่เสมอว่า “การศึกษารอไม่ได้” แม้การเปลี่ยนแปลงในเรื่อง “คุณภาพ” จะไม่เห็นชัดเจนนัก

แต่ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ก็เกิดปรากฎการณ์ใหม่ๆ หลายอย่าง ทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะการเรียนออนแอร์ และเรียนออนไลน์ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาโดยตรง และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ทำให้นายณัฏฐพลตัดสินใจ “ยกเลิก” การสอบโอเน็ตในระดับชั้น ป.6 และชั้น ม.3 ของปีการศึกษา 2563 ไปในที่สุด

นอกจากนี้ นายณัฏฐพลยังต้องรับมือกับม็อบ “นักเรียนเลว” ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของเยาวชนภายใต้ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1.ต้องทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัย ไม่ถูกคุกคาม 2.ยกเลิกกฎที่มีเนื้อหาล้าหลัง และ 3.ปฏิรูปการศึกษาไทยทั้งระบบ โดยมีเงื่อนไขว่า หากนายณัฏฐพลทำไม่ได้ ก็สมควร *”ลาออก”*

Advertisement

ซึ่งต้องยอมรับว่าหลายๆ เรื่องที่กลุ่มนักเรียนเลวออกมาเรียกร้องนั้น สมควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งเรื่องทรงผมนักเรียนที่ไม่ชัดเจนในแนวปฎิบัติ เพราะเมื่อ ศธ.ได้ประกาศยกเลิกกฎระเบียบเรื่องทรงผมไปแล้ว แต่ยังมีข่าวออกมาเป็นระยะๆ ว่ามีนักเรียนถูกครูกล้อนผมอยู่เป็นประจำ ยังไม่นับรวมปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ความไม่เท่าเทียมในสถานศึกษา ชุดนักเรียน ความหลากหลายทางเพศ และนักเรียนถูกล่วงละเมิดทางเพศ จนนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ (ศคพ.) สุดท้ายกลายเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่แทบจะไร้ประสิทธิภาพ เพราะปัญหาเหล่านี้ยังเกิดขึ้นบ่อยๆ ในแวดวงการศึกษา

ทำให้นายณัฏฐพลถูกม็อบนักเรียนเลวบุกมา ศธ.และเป่านกหวีดขับไล่อยู่บ่อยครั้ง

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย ถือเป็นปัญหา “เรื้อรัง” อีกทั้ง ยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกวิธี ทำให้ปัญหาคาราคาซังอยู่จำนวนมาก จนนำไปสู่ความคาดหวัง และจับตาว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนล่าสุด จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย และเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาไทยได้หรือไม่

Advertisement

นายพีรพล ระเวกโสม ตัวแทนกลุ่มภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาการศึกษาไทย อาจเกิดจากตัวระบบการศึกษาเอง หรืออาจเกิดจากตัวของอดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ซึ่งอาจเห็นปัญหา แต่ไม่ได้แก้ไขด้วยเหตุผลบางประการ แต่เรื่องที่ได้รับการแก้ไข ถือเป็นผลงานที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจน คือการยกเลิกกฎระเบียบทรงผมนักเรียนข้อที่ 4 และข้อที่ 7 เพื่อให้นักเรียนไว้ผมยาว หรือผมสั้นก็ได้ โดยห้ามลงโทษกล้อนผมนักเรียน ซึ่งอดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ.แก้ไขปัญหาได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ดีที่สุด เพราะยังมีปัญหาอีกมากมายที่แก้เท่าไหร่ก็แก้ไม่หมด เปรียบเหมือนต้นไม้ที่ถูกตัดยอดทิ้ง แต่ยอดก็งอกออกมาใหม่ทุกครั้ง เพราะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

“อยากให้รัฐมนตรีว่าการว่า ศธ.คนใหม่ และรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ฟังเสียง ฟังความคิดเห็นของนักเรียนให้มากขึ้น และโปรดนำไปคิดพิจารณาหาทางแก้ไข เพราะเท่าที่เห็นมีเพียงกลุ่มนักเรียนเลว และกลุ่มภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย ที่คอยเสนอแนะปัญหา รวมถึง การแก้ไขปัญหาต่างๆ ขณะที่ ศธ.เพิกเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ผมมีความหวังกับรัฐมนตรีว่าการ ศธ.หญิงคนแรก ว่าจะทำให้การศึกษาไทยดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ หวังว่าจะเข้าใจเด็กรุ่นใหม่จริงๆ และช่วยเหลือเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยต้องเข้าใจปัญหาระบบการศึกษาก่อน เพื่อจะเห็นปัญหาจริงๆ ว่าต้นตอเกิดจากอะไร สิ่งที่อยากให้แก้ไขมากที่สุดคือ อำนาจในระบบการศึกษาไทย เพราะเมื่อ ศธ.ออกกฎระเบียบต่างๆ มา แต่สุดท้ายก็มอบอำนาจให้โรงเรียนใช้ดุลพินิจในการตัดสินถูกผิดอยู่ดี ดังนั้น ศธ.ควรเด็ดขาด และชัดเจน ต่อกฎระเบียบที่ออกมา รวมถึง อำนาจในการตัดสินใจ” นายพีรพล กล่าว

ด้าน น.ส.อันนา อันนานนท์ ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว และกลุ่มเด็กหญิงเฟรม @femministgirls กล่าวว่า นโยบายที่ต้องการให้ น.ส.ตรีนุช ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ยังคงยึดตาม 3 ข้อเรียกร้องหลัก ประกอบด้วย 1.ต้องทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัย ไม่ถูกคุกคาม 2.ยกเลิกกฎที่มีเนื้อหาล้าหลัง และ 3.ปฏิรูปการศึกษาไทยทั้งระบบ เช่น กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับทรงผมนักเรียน ถึงแม้จะยกเลิกกฎระเบียบทรงผมนักเรียน แต่ยังมีบางโรงเรียนใช้กฎระเบียบนี้อยู่ ทำให้เกิดการถกเถียงว่ายังใช้กฎระเบียบข้อนี้อยู่หรือไม่ จึงอยากให้รัฐมนตรีชัดเจนในเรื่องนี้มากขึ้น

“เรื่องความปลอดภัยในโรงเรียน อยากให้สร้างโรงเรียนให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย ไม่ให้รังแกกัน รวมถึง สร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม เบื้องต้นกลุ่มนักเรียนเลวอยากทราบวิสัยทัศน์ นโยบายการทำงานของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่ โดยคาดหวังว่าจะแก้ไขปัญญาที่เรื้อรังมานานในระบบการศึกษาไทยได้ เช่น การละเมิดสิทธินักเรียน การคุกคามนักเรียน และการใช้ความรุนแรงกับนักเรียน” น.ส.อันนา กล่าว

นอกจากนี้ ในฐานะตัวแทนกลุ่มเด็กหญิงเฟรม @femministgirls ซึ่งเป็นแอคเคาท์ทวิตเตอร์ที่เน้นในเรื่องสิทธิสตรีของเยาวชน การล่วงละเมิดทางเพศ และต่อต้านการโทษเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ น.ส.อันนา มองว่า บุคลากรของ ศธ.หลายๆ คน ยังตามไม่ทันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ จึงอยากให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ โดยไม่แบ่งแยก ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรก็ตาม เช่น ชุดนักเรียน อยากให้ทำความเข้าใจว่าทุกเพศแต่งกายได้อย่างอิสระ เพศชายก็สวมกระโปรงได้ และอยากให้มีมุมมองที่เปิดกว้างในเรื่องของกฎระเบียบ หรือหลักสูตรที่ล้าสมัย โดยไม่มีการแบ่งแยกทางเพศ

“สำหรับหลักสูตรการเรียนการสอนกับการล่วงละเมิดทางเพศ จะเห็นว่าหลักสูตรหลายๆ อย่าง ยังสนับสนุนแนวคิดการโทษเหยื่อ ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปแบบของกฎเกณฑ์ที่คุ้นเคยในโรงเรียนไทย เช่น ผู้หญิงต้องใส่เสื้อทับด้านใน เพื่อป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ปัญหาเหล่านี้มาจากหลักสูตรที่ไม่สอนให้ผู้ข่มขืนรู้จักยับยั่งชั่งใจ แต่กลับสอนผู้ที่ถูกข่มขืน ให้แต่งกาย หรือระมัดระวังตัวไม่ให้ถูกล่วงละเมิดทางเพศแทน สุดท้ายคือเรื่องความปลอดในสถานศึกษา เพราะทุกวันนี้สถานศึกษาไม่ใช่สถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชน ทำให้เกิดเหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศให้เห็นบ่อยๆ” น.ส.อันนา กล่าว

ปิดท้ายที่ น.ส.พิมพ์ชนก นงค์นวล กล่าวว่า ปัญหาของระบบการศึกษาไทยที่ส่งผลต่อความเป็น LGBT คือระบบการศึกษาไทยยังเหยียดเพศอยู่ โดยเฉพาะชุดเครื่องแบบของโรงเรียน ที่บังคับให้นักเรียนแต่งกายตามเครื่องแบบ ซึ่งแบ่งแยกชัดเจนระหว่างชาย และหญิง หากไม่มีชุดเครื่องแบบนักเรียน ปัญหาเหล่านี้อาจคลี่คลาย การตีกรอบนักเรียนจะไม่เกิดขึ้น แต่หากยังมีชุดเครื่องแบบ ก็ควรให้สิทธินักเรียนเลือกใส่ชุดเครื่องแบบโดยไม่แบ่งแยกเพศด้วยตนเอง เรื่องหลักสูตรก็เช่นกัน เห็นได้ชัดถึงความพยายามปรับหลักสูตรให้มีทัศนะที่กว้างขึ้นในเรื่องของความหลากหลายทางเพศ แต่ยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร บุคลากรทางการศึกษาหลายๆ คน เข้าใจว่าในโลกนี้มี LGBT อยู่ แต่ยังพูดถึงในเชิงแซะ รวมถึง ในหลักสูตร และหนังสือเรียน ยังคงใช้คำว่ารักร่วมเพศ ซึ่งจริงๆ แล้ว ควรใช้คำว่าความหลากหลายทางเพศมากกว่า

“ระบบการศึกษาไทยกำลังทำให้เด็กไม่อยากอยู่ในระบบ ฉะนั้น หาก ศธ.ออกแบบ หรือวางแผนนโยบายสักหนึ่งอย่าง เพื่อรองรับ และตอบโจทย์ไม่ให้นักเรียนมีชุดความคิดที่เป็นลบต่อการศึกษา หรือให้การศึกษาทำร้ายเด็กไปมากกว่านี้ ก็จะดี เพราะระบบการศึกษาไทยทำร้ายเด็กมามาก เกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งส่งผลร้ายอื่นๆ ตามมาก ที่ผ่านมา อดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ปฎิบัติตามหน้าที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะหากนักเรียนไม่ออกมาเรียกร้อง ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข รวมทั้ง นโยบายจัดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีประสิทธิภาพพอ เพราะไม่ได้คำนึงว่าเด็กได้รับผลกระทบอะไรบ้าง” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

พร้อมทิ้งท้ายว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษา คือ ศธ.ยังเมินเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ทั้งการบูลลี่ระหว่างนักเรียน และครูใช้ความรุนแรงกับนักเรียน รวมถึง หลักสูตรการเรียนที่ใช้สอนไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ได้ปรับปรุงให้ตรงกับยุคสมัย จึงอยากให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่ช่วยแก้ปัญหา อยากให้ใส่ใจความรู้สึกของนักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาให้มากกว่านี้ เพื่อทำให้ระบบการศึกษาไทย เป็นระบบที่เด็กอยากเรียน รวมถึง แก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ LGBT เพราะการศึกษาไทยทุกวันนี้ ทำให้ LGBT แทบจะไม่มีที่ยืนในสังคม ด้วยการพยายามจำกัดเพศให้มีแค่ 2 เพศ อีกทั้ง ยังมองข้ามหลายๆ อย่างที่มีความหลากหลาย จึงอยากให้ปรับแก้เพื่อทำให้การศึกษามีมุมมองที่กว้างขึ้นในเรื่องเพศ

เรียกว่าการเข้ามาบริหารงานด้านการศึกษานั้น เป็นเรื่องที่ยาก และต้องอาศัยความละเอียดอ่อน เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเยาวชนไทย ซึ่งจะเติบโตไปเป็นอนาคตของชาติ และครู ที่ทำหน้าที่ให้ความรู้ และปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้กับเด็กๆ

ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่ คงต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงจัง และความจริงใจ ในการแก้ไขปัญหาการศึกษาชาติ !!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image