รายงาน : ‘ครูพี่โอ๊ะ ‘พาทัวร์ เวิร์กช็อปแกนนำ ‘กัญชา’

‘ครูพี่โอ๊ะ ‘พาทัวร์ เวิร์กช็อปแกนนำ ‘กัญชา’

หเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สำหรับหลักสูตร “โภชนาการจากส่วนของพืชกัญชา และกัญชงที่ได้รับการยกเว้นจากการเป็นยาเสพติด” หลังจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ มีมติให้ปลดทุกส่วนของต้นกัญชา-กัญชง เช่น ใบ ราก และลำต้น ยกเว้นช่อดอก ใบที่ติดกับช่อดอก และเมล็ดกัญชา ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อนำกัญชา-กัญชง มาใช้ในด้านการแพทย์ ทั้งในรูปแบบยาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย และยาจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน มาใช้ประโยชน์เพื่อสุขภาพได้

เริ่มแรก กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ภายใต้การนำของ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ได้จัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับพืชกัญชา-กัญชง และสร้างบทเรียนออนไลน์ เรื่องการเรียนรู้กัญชา-กัญชงอย่างชาญฉลาด หรือ “ONIE Learn” เพื่อให้ความรู้สำหรับประชาชนทั่วไป นักศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่างถูกต้อง และรอบด้าน

ภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาการเรียนรู้ การประกอบธุรกิจ จากส่วนของพืชกัญชา และกัญชง ที่ได้รับการยกเว้นจากการเป็นยาเสพติด ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ ศธ.ก็ได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับกัญชา ทั้งอาหาร ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สปา และการท่องเที่ยว จนนำมาสู่การร่วมมือกับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จัดทำ “โครงการฝึกอบรมวิทยากรหลักสูตรโภชนาการจากส่วนของพืชกัญชา-กัญชง ที่ได้รับการยกเว้นจากการเป็นยาเสพติด รุ่นที่ 1” ที่ศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรและภูมิปัญญาสุขภาพ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เป็นที่แรก

Advertisement

นางกนกวรรณ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ได้รับการพัฒนาจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กศน และ สธ.มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนเรียนรู้ และเข้าใจกัญชา-กัญชงอย่างถูกต้อง มีทักษะอาชีพ สามารถนำส่วนต่างๆ ของพืช มาใช้ประกอบอาหารอย่างเหมาะสม ถูกสุขลักษณะ และถูกต้องตามกฎหมาย สามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง

“สำหรับโครงการนี้ นอกจากจะอบรมความรู้ด้านโภชนาการแล้ว ยังนำความรู้ด้านการตลาดเข้ามาใช้ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้ธุรกิจกัญชาไทย อย่างครอบคลุมในทุกผลิตภัณฑ์ และทุกบริการที่มาจากกัญชา-กัญชง ตั้งแต่ธุรกิจอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และการท่องเที่ยว หวังว่าจะสามารถการสร้างโอกาสทางตลาดให้ผู้ประกอบการไทยอย่างยั่งยืนได้” นางกนกวรรณ กล่าว

ด้าน นางสุภาภรณ์ ปิติพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า กัญชา-กัญชง ยังถือเป็นยาเสพติด ที่ต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในการเพาะปลูก ผู้ที่ปลูกต้องเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ สำหรับกัญชาเป็นพืชที่มีฤทธิ์ทางยาค่อนข้างแรง ถูกใช้เป็นยาที่เกี่ยวข้องกับจิตประสาท อาการปวด อาการนอนไม่หลับ เป็นต้น ในทางการแพทย์แผนไทย ใช้กัญชารักษาโรคทางระบบประสาท ความเครียด ความกังวล และการติดเชื้อ เช่น โรคผิวหนัง เป็นต้น ที่ผ่านมากัญชามีบทบาทมากในสังคมไทย ทั้งเรื่องตำรับยา และตำรับอาหาร รวมถึง ถูกนำมาใช้ในการผ่อนคลาย แต่ยังถือเป็นสิ่งเสพติด จึงต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม

Advertisement

“หากทุกคนสามารถใช้กัญชา-กัญชงได้อย่างเข้าใจ กัญชา-กัญชงจะกลายเป็นหนึ่งในภูมิปัญญา และเอกลักษณ์ของประเทศ เป็นเรื่องน่ายินดีที่ ศธ.และ กศน.ได้จัดทำหลักสูตร เพื่อให้ความรู้กับประชาชน การอบรมครั้งนี้ จะสร้างองค์ความรู้ และประสบการณ์ให้กับวิทยากรที่จะนำความรู้เหล่านี้ไปเผยแพร่ให้กับประชาชน นำไปประกอบอาชีพ และดูแลสังคมได้อย่างปลอดภัยต่อไป” นางสุภาภรณ์ กล่าว

ทาง นายปวรรณ ศรีจันทร์งาน ผู้จัดการโครงการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรอินทรีย์ ต.บ้านพระ กล่าวว่า การปลูกกัญชา จะต้องมีเมล็ดพันธุ์ที่นำเข้าอย่างถูกต้อง และผู้ที่ปลูกได้ต้องเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ร่วมงานกับภาครัฐเท่านั้น โดยการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์นี้ วิสาหกิจชุมชนบ้านพระได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยขออนุญาตปลูกกัญชา จำนวน 1,500 ต้น โดยตั้งใจทำให้เป็นตัวอย่างของเกษตรกร จึงใช้งบในการลงทุนน้อย แต่เน้นใช้งานได้จริง ใช้วัสดุในการปลูกที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นของตนเอง เช่น แกรบ ขุยมะพร้าว ขี้วัว ขี้ไก่ เป็นต้น ซึ่งต้นกัญชากว่า 1,500 ต้น ที่อยู่ในแปลงนี้ จะส่งไปที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรทั้งหมดทุกชิ้นส่วน ทั้ง กิ่ง ก้าน ใบ และราก เพื่อให้โรงพยาบาลใช้ทำยาแผนโบราณ โดยจะส่งให้ในรูปแบบของการตากแห้ง ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 120 กิโลกรัม

“การปลูกกัญชาเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความละเอียด เพราะมีเรื่องของกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ก่อนปลูกจะต้องให้สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้ามาตรวจสอบสถานที่ก่อน หากไม่ผ่านเกณฑ์ จะไม่สามารถดำเนินโครงการได้ ก่อนเก็บเกี่ยว และตากแห้ง จะต้องตรวจสอบคุณภาพ สารสำคัญ รวมถึง ตรวจสอบสารตกค้าง และยาฆ่าแมลงในกัญชาว่ามีหรือไม่ แล้วจึงส่งให้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนำไปผลิตยา ทุกขั้นตอนต้องทำอย่างมีมาตรฐาน คาดว่าในอนาคต อาจมีแผนการจัดการดูงานสำหรับการทำไร่กัญชา และหลังจากที่ส่งกัญชาตากแห้งให้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรครบจำนวนที่ต้องใช้ผลิตยาแล้ว อาจทำผลิตภัณฑ์อาหารจากกัญชาโดยวิสาหกิจชุมชนบ้านพระ” นายปวรรณ กล่าว

ปิดท้ายที่ น.ส.ขนิษฐา จิระพล นักวิชาการการศึกษา กศน.จังหวัดหนองบัวลำภู บอกเล่าถึงการเข้ารับการอบรมในโครงการนี้ ว่า ส่วนตัวสนเรื่องการปลูกกัญชา-กัญชงอยู่แล้ว ในอนาคตจะนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ในชุมชนต่อไป โดยอาจทำหลักสูตรที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อเสริมกับหลักสูตรความรู้กัญชา-กัญชงของ กศน.ผ่านการเป็นวิทยากรร่วมกับวิสาหกิจชุมชน เพราะปัจุบันคนในชุมชนยังไม่กล้าที่จะปลูก และใช้อย่างเปิดเผย จึงจำเป็นต้องให้ความรู้ในเบื้องต้นว่าการใช้กัญชา-กัญชงที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ชาวบ้านจะได้นำไปใช้ประโยชน์ได้

หลักสูตรโภชนาการจากส่วนของพืชกัญชา และกัญชง ที่ได้รับการยกเว้นจากการเป็นยาเสพติด ถือเป็นโครงการหนึ่งที่จะให้ความรู้จากประชาชนทั้งด้านกฎหมาย และการนำมาใช้อย่างปลอดภัย เพื่อสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ ให้กับประชาชนในแต่ละท้องถิ่นได้ในอนาคต

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image