อธิการบดี มข.ปลื้มกัญชาแปลงทดลอง แค่ 3 เดือนเก็บเกี่ยวยอดได้

อธิการบดี มข.ปลื้มกัญชาแปลงทดลอง แค่ 3 เดือนเก็บเกี่ยวยอดได้

ศ.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวการเสวนาวิชาการ “ร่วมคิดร่วมฝันปลุกปั้นกัญชงไทย” จัดโดยสถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มข.ร่วมกับฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา และกองบริหารงานวิจัย มี รศ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข.ประธานพิธีเปิด เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ตามที่ มข.จัดตั้งสถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มีภารกิจหลักในการดำเนินโครงการวิจัยกัญชากัญชงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้รับใบอนุญาตในการผลิต (ปลูก) กัญชง จำนวนพื้นที่ในการเพาะปลูก 1,664 ตารางเมตร ที่หมวดพืชผัก สาขาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ โดยสถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ได้รับเมล็ดพันธุ์กัญชงจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) มาทำการปลูก ส่วนการจัดกิจกรรม “ร่วมคิด ร่วมฝัน ปลุกปั้น กัญชงไทย” ในวันนี้ เพราะเห็นความสำคัญในเรื่องการให้ความรู้แก่บุคลากร และประชาชน

รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวว่า มข.ในฐานะที่ได้รับใบอนุญาตในการผลิต (ปลูก) กัญชง เป็นที่แรกใน จ.ขอนแก่น และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้รับอนุญาตให้มีการปลูกกัญชงเพื่อการศึกษาวิจัยฯ การจัดกิจกรรมในวันนี้ เพื่อส่งเสริม และถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชงให้วิสาหกิจชุมชน ชุมชน หน่วยงาน ภาครัฐบาล เอกชน และการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายที่บังคับใช้ ตลอดจนเป็นสถาบันวิจัยที่เป็นศูนย์กลางข้อมูล เพื่อเผยแพร่ความรู้ ข่าวสารต่างๆ ให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสาธารณชน ของ จ.ขอนแก่น โดย มข.มีความพร้อมที่จะทำเป็นศูนย์อุตสาหกรรมกัญชงขนาดใหญ่ แม้การใช้กัญชงกัญชาทางการแพทย์ที่ผ่านมาค่อนข้างมีข้อจำกัด

“ปัจจุบัน มีความก้าวหน้ามาก เพราะได้นำเมล็ดพันธ์กัญชาจากภาคเหนือมาทดลองปลูกในภาคอีสาน ถือเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ต่างจากภาคเหนือมาก ทั้งเป็นพื้นที่ต่ำ และมีสภาพอากาศ แสงแดด และอุณหภูมิที่ค่อนข้างแตกต่าง แต่หลังจากนำมาทดลองปลูก พบว่าได้ผลผลิตดี เพราะโดยปกติยอดกัญชา จะเก็บเกี่ยวต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน แต่สำหรับภาคอีสาน สามารถเก็บผลผลิตได้เลยตั้งแต่ช่วง 3 เดือน อาจเป็นเพราะฤดูกาลเป็นตัวแปร หรือแสงแดด ทีมที่กำลังทำการศึกษาในประเด็นนี้อยู่ด้วย แต่สิ่งสำคัญอย่างแรกที่พบคือ แม้ว่าสภาพภูมิอากาศจะแตกต่าง แต่ต้นกัญชาสามารถปลูกในพื้นที่ดังกล่าวได้โดยไม่กลายพันธุ์ มีการพัฒนาสายพันธุ์เป็นของประเทศไทยเอง ซึ่งถือเป็นสายพันธุ์แรกของไทย โดยพัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้มีทั้งกัญชง และกัญชา คาดว่าอีกประมาณ 1 ปี จะมีเป็นสายพันธุ์ต้นแบบของขอนแก่นที่ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง และขยายเมล็ดพันธุ์นำไปปลูกได้ทั่วประเทศไทย” รศ.นพ.ชาญชัย กล่าว

รศ.นพ.ชาญชัยกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ราคาตามท้องตลาดในการจำหน่ายเมล็ดพันธ์กัญชง ได้มีการคาดการณ์ว่าอาจอยู่ที่กิโลกรัมละ 200,000 บาท จนถึงกิโลกรัมละ 1 ล้านบาท ทั้งนี้ ความเป็นไปได้ของราคาน่าจะอยู่ที่ 200,000 บาท ขณะนี้บริษัทหลายแห่งขอซื้อเมล็ดพันธุ์กัญชง ขอร่วมลงทุนปลูก และสกัด เพื่อส่งขายทั้งใน และต่างประเทศ ดังนั้น จึงถือได้ว่ากัญชงจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศได้

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image