ศธ.สั่งร.ร.ในสังกัดกว่า 4.4 หมื่นแห่งเปิดเทอม 14 มิ.ย. นักวิชาการค้าน หวั่นทำการศึกษาถอยหลัง

ศธ.สั่งร.ร.ในสังกัดกว่า 4.4 หมื่นแห่งเปิดเทอม 14 มิ.ย. นักวิชาการค้าน หวั่นทำการศึกษาถอยหลัง

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ศธ. ขอให้สถานศึกษาในสังกัด ประกอบด้วย สถานศึกษาสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กว่า 30,000 แห่ง สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 900 แห่ง สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กว่า 4,100 แห่ง และสถานศึกษาในสังกัดสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กว่า 9,000 แห่ง เลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จากเดิมที่เปิดวันที่ 1 มิถุนายน เป็นวันที่ 14 มิถุนายน

นายสุภัทร กล่าวต่อว่า หากสถานศึกษาใดมีความพร้อมและประสงค์ที่จะเปิดก่อนที่ ศธ.กำหนด ให้สถานศึกษาดำเนินการ ดังนี้ โรงเรียนหรือสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้จัดการสอนได้เฉพาะรูปแบบการจัดการศึกษาทางไกล คือ On-Air, On-Line และ On-Hand เท่านั้น ส่วนโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือพื้นที่ควบคุม ให้ขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพื่อขอใช้อาคารสถานที่ของสถานศึกษาจัดการเรียนการสอนโดยจัดการเรียนการสอนได้ทั้ง 5 รูปแบบ คือ On-Site, On-Air, On-Line, On-Hand และ On-Demand โดยเลือกตามความเหมาะสมหรืออาจจะผสมผสานตามความพร้อมของผู้เรียน

“โรงเรียนที่ต้องการเปิดก่อน จะต้องทำการประเมินความพร้อมตามระบบ Thai Stop COVID Plus ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มี 44 ข้อโดยต้องผ่านทุกข้อ พร้อมกับสำรวจว่านักเรียน และครูทุกคนเดินทางมาเรียนโดยไม่ใช้รถสาธารณะทุกคน และอำเภอที่ตั้งสถานศึกษาจะต้องไม่มีผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 มาเป็นระยะเวลา 14 วัน สถานศึกษาถึงสามารถขออนุญาตเปิดเทอมก่อนวันที่ 14 มิถุนายนได้” นายสุภัทร กล่าว

ปลัดศธ.​กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ ศธ.เลื่อนวันเปิดภาคเรียน เพราะกังวลความปลอดภัยของนักเรียน เนื่องจากครูยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจำนวนมาก และเราไม่สามารถควบคุมเด็กได้ตลอดเวลา ดังนั้นจึงต้องเลื่อนเปิดภาคเรียนออกไป ขณะนี้ ศธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครู เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยทางจังหวัดจะเป็นผู้บริหารจัดสรรและจะเรียกครูมาฉีควัคซีนเอง

Advertisement

ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชากการด้านการศึกษา กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกแรก และระลอกสอง ศธ.ยังไม่มีข้อมูและไม่มีองค์ความรู้ จึงตัดสินใจแบบปูพรม คือสั่งปิดสถานศึกษาทั้งหมด แต่เมื่อโควิด-19 ระบาดระลอกสาม ศธ.ต้องปรับตัวอยู่กับโควิด-19 ให้เป็น ไม่ใช่ตื่นตระหนก ดังนั้นการสั่งปิดเรียนแบบปูพรมโดยสั่งให้สถานศึกษาเปิดภาคเรียนจากวันที่ 1 มิถุนายน เป็นวันที่ 14 มิถุนายน จะทำการศึกษาถอยหลังไปอีก ศธ.ควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ และสร้างความเข้าใจไม่ให้นักเรียน ผู้ปกครอง ครู และผู้บริหารตื่นตระหนกในเรื่องนี้ คนในวงการการศึกษาโดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ต้องไม่ตื่นตระหนกและกลัวจนเกินเหตุ มองว่า ศธ.ต้องบรูณาการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อจัดการศึกษาร่วมกัน

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ในปัจจุบันทำให้นักเรียนไม่สามารถเรียนในห้องเรียนได้ ดังนั้น ศธ.ต้องผลักดันการเรียนรู้ให้กระจายออกไปในรูปแบบต่างๆ เช่น การเรียนรู้ทางอินเตอร์เน็ต การเรียนรู้กับชุมชน การเรียนรู้จากผู้ปกครอง และการเรียนรู้จากโรงเรียน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งจะทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้แบบแอคทีฟเลินนิ่ง และไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 แต่ศธ.กลับมองว่าการเรียนในห้องเรียนยังมีความสำคัญ จึงสั่งการนโยบายแบบท๊อปดาวน์ลงไป

“ถ้าศธ. ยังคิดว่าเด็กต้องเรียนในห้องเรียนเป็นหลัก ต้องเรียนตามหลักสูตรที่กำหนด ผลที่ตามมาคิด ศธ.ก็จะสั่งปิดสถานศึกษาและสั่งเลื่อนเปิดเทอมอยู่เรื่อยๆ ผมมองว่า ศธ.ห่วงเกินเหตุ ไม่มองกระบวนการเรียนรู้ที่มีอยู่ เพราะปัจจุบันกระบวนการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ที่ห้องเรียนอย่างเดียว ดังนั้น ควรให้แต่ละจังหวัดออกแบบการศึกษาให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยกำหนดรูปแบบกว้างๆของการเรียนรู้ให้จังหวัดไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่” นายสมพงษ์ กล่าว

Advertisement

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ตนขอเสนอให้ ศธ.กระจายอำนาจให้จังหวัดจัดการและบริหารการศึกษาของตน โดยอาจจะกระจายนักเรียนที่เรียนแออัดอยู่ในเมือง กระจายให้นักเรียนไปเรียนในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยจำกัดไม่เกิน 20 คนต่อห้อง โดยรวบรวมครูไว้ในส่วนกลางและกระจายครูไปสอนตามโรงเรียนต่างๆ ซึ่งจะทำให้การศึกษามีความเท่าเทียมกับมากขึ้น โดยให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อาจจะเข้ามาช่วยสนับสนุนเรื่องต่างๆ เช่น สนับสนุนอินเตอร์เน็ตให้มีความเร็วมากขึ้น สนับสนุนค่าเดินทางครู เป็นต้น

“การเลื่อนเปิดเทอมบ่อยๆ ไม่เป็นผลดีกับการศึกษา ไม่ได้ลดเรื่องความปลอดภัยด้วย ศธ.ควรจะเร่งฉีดวัคซีนให้ครู ผู้บริหารสถานศึกษาให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่เลื่อนเปิดภาคเรียน และที่สำคัญผมมองว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. พูดเรื่องการผลักดันให้ครูได้รับการฉีดวัคซีนมาเป็นเวลาครึ่งเดือนแล้ว แต่ทำไมใช้เวลานานมาก มีปัญหาติดขัดอะไร ทำไมครูยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเสียที ซึ่งผมมองว่า ถ้า ศธ.เลื่อนเปิดเทอมเป็นรอบที่ 3 นักเรียนอาจจะมาเรียกร้องและประท้วง ศธ.ถึงหน้ากระทรวงแน่” นายสมพงษ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image