มติ ‘ส.ค.ศ.ท.’ ต้านพ.ร.บ.ศึกษาฯ  ซัดเอื้อเอกชน-ปรับ ‘3ข้อ’ ไม่แก้ปัญหา

มติ ‘ส.ค.ศ.ท.’ ต้านพ.ร.บ.ศึกษาฯ  ซัดเอื้อเอกชน-ปรับ ‘3ข้อ’ ไม่แก้ปัญหา ย้ำขัดรัฐธรรมนูญ-ลดความสำคัญรัฐ

นายสมบัติ นพรัก คณบดีวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ใน 3 ประเด็น คือ กำหนดให้วิชาชีพครู เป็น วิชาชีพชั้นสูง แก้ไขคำว่า หัวหน้าสถานศึกษา เป็นผู้บริหารสถานศึกษา และแก้ไขคำว่า ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู เป็น ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู นั้น ทางส.ค.ศ.ท.มองว่าแม้จะมีมติแก้ทั้ง 3 ประเด็นที่มีการคัดค้าน แต่ก็ยังมีปัญหา เพราะต้องดูประเด็นเชื่อมโยงกับมาตราอื่นด้วย อาทิ เมื่อแก้เป็น ผู้บริหารสถานศึกษาแล้วจะให้มีใบอนุญาตฯหรือไม่หรือ กรณีให้ครูมีใบอนุญาตฯ แต่คุรุสภาไม่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานคุณวุฒิ แล้วจะเป็นผู้ออกใบอนุญาตฯได้อย่างไร ส.ค.ศ.ท. จึงมีมติยืนยันคัดค้านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวอย่างรุนแรง เพราะจะเกิดผลเสียต่อการศึกษาชาติ ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฏร ประธานวุฒิสภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) และประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาและโปรดอย่าทำผิดกฎหมาย ด้วยการเสนอร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯเข้าสู่สภาฯ ทั้งนี้ เมื่อศึกษารายละเอียดแล้ว พบว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ มีปัญหาหลายประการ ทั้ง ลดความสำคัญของการจัดการศึกษาของภาครัฐ ไม่กำหนดการศึกษาภาคบังคับให้ชัดเจน ลดความสำคัญขององค์หลัก ในการจัดการศึกษา การควบคุมคุณภาพการศึกษา การกำกับคุณภาพการศึกษา เช่น หน่วยงานรับผิดชอบระดับสำนักงาน หน่วยงานบริหารงานบุคลากร (ก.ค.ศ.) และคุรุสภา เป็นต้น

“กฎหมายการศึกษาฉบับนี้ ยังเอื้อผลประโยชน์ให้ภาคเอกชนทั้งทางตรงและทางอ้อม อยู่ในหลายมาตรา อาทิ มาตรา12 รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจัดการศึกษาให้ผู้เรียนโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รวม 18 ปี ขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ บัญญัติไว้ใน มาตรา 54 รัฐต้องดําเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย จึงเท่ากับว่าพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ขัดกับรัฐธรรมนูญฯในด้านการจัดการศึกษาโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย โดยกำหนดมากกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด 6ปี มาตรา 11(4) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่จัดการศึกษา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมอบหมายให้เอกชนเข้าบริหารจัดการหรือดำเนินการ โดยใช้ทรัพยากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ได้ และมาตรา 11(5)รัฐมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ และอุดหนุนการจัดการศึกษา โดยรัฐจะมอบหมายให้เอกชนเข้าบริหารจัดการหรือดําเนินการโดยใช้ ทรัพยากรของรัฐก็ได้ คำถาม คือ ทำไมถึงออกกฎหมายให้ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐ จะมอบหมายให้เอกชนเข้าบริหารจัดการหรือดําเนินการโดยใช้ ทรัพยากรของรัฐก็ได้ นั้น เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่ และแบบนี้ถือเป็นการออกกฎหมายให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่”นายสมบัติกล่าว
นายสมบัติ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ยังมีอีกหลายมาตราที่เป็นปัญหา อาทิ มาตรา 16 ที่กำหนดให้ศธ.ดําเนินการจัดให้ครู โรงเรียนเอกชนได้รับเงินเดือนค่าตอบแทนเงินหรือสิทธิประโยชน์อื่นให้สอดคล้องกับครูของสถานศึกษาของรัฐ ทั้งนี้ รัฐอาจจัดให้มีเงินอุดหนุนแก่ครูของสถานศึกษาของเอกชน เป็นการเพิ่มเติมได้มาตรา 40 วรรค2 หัวหน้าสถานศึกษานอกจากต้องเคยทําหน้าที่ครูมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี และผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษามาแล้ว ต้องมีความรู้ด้านการบริหารศึกษา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ ระยะเวลา และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของครู “แต่จะกําหนดเงื่อนไขให้ต้องได้รับใบอนุญาตมิได้” วรรคสาม ผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษาซึ่งทำหน้าที่ช่วยงานบริหารหรือธุรการ อาจแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมิใช่เป็นครูก็ได้ คำถาม คือ ผู้ซึ่งมิใช่เป็นครูในกฎหมาย คือใคร เนื่องจาก มาตรา 4 ไม่มีนิยามไว้ เป็นคนนอก และจงใจให้เอกชนเข้ามาใช่หรือไม่ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากการศึกษารายละเอียด ดังนั้นส.ค.ศ.ท. จึงขอคัดค้านร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างรุนแรง เพราะจะเกิดผลเสียกับการศึกษาชาติ”นายสมบัติ กล่าว
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image